ดร.สุรินทร์ ยกกรณีเมล์ NGV ชี้ตลาด AEC มีช่องโหว่ให้คนหาประโยชน์จากเพดานภาษี
ศ.ดร.สุรินทร์ ยกกรณีรถเมล์เอ็นจี สำแดงผลิตมาเลย์ ยันการเปิดเสรีด้านสินค้านำเข้าภายในประเทศอาเซียนให้เสียภาษีที่ต่ำหรือเสียภาษีเป็นศูนย์ สินค้านั้นต้องเกิดในประเทศอาเซียนจริง ไม่ใช่เอาสินค้าที่ผลิตนอกอาเซียน ผ่านเรือแล้วบอกว่า นี่คือสินค้าอาเซียน
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักวิชาการศึกษาทั่วไปและนวัตกรรมการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดบรรยายพิเศษเรื่อง “สังคมไทยกับประชาคมอาเซียน” โดยศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ณ ห้องสุพรรณิการ์ โรงแรมวังสวนสุนันทา
ศ.ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า สังคมจะมีคุณภาพได้นั้น ต้องมีการเตรียมความรู้ในหลายสาขา หลายด้าน ทำอย่างไรถึงจะรักษาความใฝ่รู้ ความอยากรู้ อยากเห็น อยากทดลองไปตลอดชีวิต นี่คือสิ่งที่สำคัญ เพราะในสังคมไทยพอจบปริญญาตรีแล้วไปทำงาน หยุดที่จะหาคำตอบ หนังสือไม่อ่าน มีเครื่องมือสื่อสารก็แค่โทร คิดว่าวันนี้อยากจะกินอะไร แทนที่จะไปค้นหาข้อมูล ซึ่งมีอยู่เต็มเปี่ยมทุกด้าน ฉะนั้นปัญหาทุกอย่างมีทางออก คำตอบอาจจะอยู่ในห้องสมุด อยู่ที่อาจารย์ หรือในช่องทางการสื่อสารต่างๆ ถ้ามีความอยากรู้ อยากถาม สิ่งเหล่านี้จะให้คำตอบ แต่ถ้าไม่ถามเลย ความรู้ก็จะแคบ
“หากต้องออกไปเป็นเลขานุการของผู้จัดการสาขาต่างๆ เช้าขึ้นมาก็ทำหน้าที่นั้น เย็นก็กลับบ้าน อาจจะดูละครทีวีแล้วก็นอน เหตุผลเพราะความสนใจเรื่องที่ไกลตัว รับรู้เรื่องที่แตกต่างออกไปจากบริบท ของสังคม การที่เปิดวิสัยทัศน์ เปิดทัศนคติให้กว้างขึ้น ซึ่งจะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตและช่วยให้ติดตาม สถานการณ์ความเปลี่ยนไปของสังคมได้ เพื่อที่จะปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ เราจะต้องมีความตระหนักว่า ไม่ได้อยู่ในโลกนี้คนเดียว”
ศ.ดร.สุรินทร์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยในบริบทของอาเซียน 68 ล้านคน อยู่ท่ามกลางสังคมใหม่ที่เกิดขึ้น 600 กว่าล้าน มีทั้งโอกาสและการแข่งขันที่สูงขึ้น
อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวตอนหนึ่งกรณีของปัญหาเรื่องรถเมล์เอ็นจีวี ที่บริษัทในมาเลเซียบอกว่า เป็นผู้ผลิต ใช้วัสดุของมาเลเซียกว่า 40% เพราะฉะนั้นนำเข้ามาในไทยได้โดยเสียภาษีอัตราที่ต่ำ แต่กรมศุลกากรของไทย บอกว่า ไม่ใช่ เพราะรถเมล์ล็อตดังกล่าว มาจากจีน100 % อาจจะทำเอกสารผ่านมาเลเซีย แต่ไม่มีโรงงานนี้ในมาเลเซีย ซึ่งกฎเกณฑ์ที่วางไว้เพื่อที่จะส่งเสริมให้มีการค้าระหว่างกัน ถ้าเปิด10 ประเทศนี้ค้าขายกันก็ต้องส่งเสริมให้สินค้าไหลไปมาระหว่างกันในภาษีที่ต่ำหรือในภาษีที่เป็นศูนย์ โดยสินค้านั้นต้องเกิดในประเทศอาเซียนจริงไม่ใช่ไปเอาสินค้าที่ผลิตนอกอาเซียนแล้วผ่านเรือจากนั้นบอกว่า นี่คือสินค้าอาเซียน
“เราต้องฉลาด ต้องติดตามสถานการณ์ ถึงจะเป็นพลเมืองดีที่มีส่วนในการบริหารจัดการสังคมและประเทศ ถ้าทุกคนมีความร่วมมือ มีส่วนในการบริหารจัดการกับสังคมและประเทศ ประโยชน์ที่ได้ก็จะเข้าสู่ประเทศ” ศ.ดร.สุรินทร์ กล่าว และว่า ในขณะเดียวกันต้องรู้ว่า มีการแข่งขันไม่ใช่มีแต่ความร่วมมือ ทุกประเทศร่วมมือกันเพื่อที่จะยกระดับความสามารถของอาเซียนทั้งหมดเพื่อจะแข่งขันกับคนอื่น ฉะนั้นถ้า คนไทย 68 ล้านคนต้องการโอกาสจากอาเซียนต้องทำมากกว่าเอาธง 11 ธง มาไว้หน้าโรงเรียน
ศ.ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงบริบทของอาเซียนที่หลากหลาย สิ่งที่ไทยต้องทำต่อไปคือ ต้องศึกษาความหลากหลาย เพื่อเอาประโยชน์ทางด้านภาษา วัฒนธรรม ค่านิยม เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ ระบบการศึกษา ขณะนี้เพื่อนบ้านเรียนภาษาไทยมากกว่าคนไทยเรียนภาษาเพื่อนบ้าน คนอื่นจะมาลงทุน มาเอาประโยชน์มากกว่าที่คนไทยพร้อมที่จะเอาประโยชน์จากคนอื่น เพราะเรามีพื้นที่ความรู้แคบ การที่ประเทศอาเซียนเปิดเพราะต้องการให้คนไทยไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน เหมือนกับประเทศอื่นมาอยู่เมืองไทย
ในส่วนเศรษฐกิจในอาเซียน อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ยังมีความเหลี่ยมล้ำ ประเทศไทยพัฒนามาก่อนในขณะที่ประเทศอื่นยังเป็นวุ้น และไม่เป็นเมืองขึ้นของใคร ซึ่งประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์จากความเหลี่ยมล้ำทางเศรษฐกิจเหล่านี้ โดยเฉพาะในภูมิภาคที่เป็นภาคพื้นทวีปของอาเซียน แต่คนไทยก็ยังไม่ตระหนักถึงแรงงานจากต่างประเทศ ทัศนคติของคนไทยยังเห็นว่า แรงงานต่างด้าวคือภัยคุกคาม กาฝาก ซึ่งตรงนี้ความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจอาเซียนทำให้ไทยได้เปรียบ เพราะมีแรงงานต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าไม่เคารพในสิทธิ ไม่ให้ความคุ้มครองและสวัสดิการทางสังคมก็จะทำให้แรงงานไม่เข้ามาทำงานและเกิดอคติกับประเทศไทยได้ ปัจจุบันมีสถิติว่า มีบุคคลเหล่านี้พักอาศัยและทำมาหากินอยู่ในบ้านเราถึง 5 ล้านคน ฉะนั้น ไทยควรเป็นผู้ให้เพื่อที่จะได้มาซึ่งผลประโยชน์ในอนาคต โดยต้องปรับทัศนคติต่อแรงงานเหล่านี้
ทั้งนี้ ศ.ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงภาษาอังกฤษด้วยว่า เป็นภาษาที่ใช้ในประเทศอาเซียนมากที่สุด เป็นเครื่องมือที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เพราะตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่เปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรี นอกจากนี้ต้องสร้างทรัพยากรมนุษย์ ต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับคนไทยแล้ว ทักษะภาษาอังกฤษ จะเปิดโอกาสให้คนไทยออกไปแข่งขันกับคนอื่นได้
“โลกสมัยนี้คือโลกการแข่งขัน ความโปร่งใสจึงสำคัญ และความปรองดองที่จะเกิดขึ้นในชาติต้องมีพื้นที่ให้กับทุกคน อย่าไปมองความแตกต่างเป็นภัยสำหรับความมั่นคงหรือเอกภาพของประเทศ ถ้ายังจำกัดตัวเองในกรอบความคิดแคบๆ ก็จะไม่สามารถที่แข่งขันกับคนอื่นได้ ฉะนั้น นักศึกษา เยาวชน ต้องมีมิติในตนเอง ทำอย่างไรให้มีความเป็นเลิศในทุกด้าน ช่วยกันสร้างความยุติธรรมและความรู้สึกดีๆให้เกิดขึ้นในสังคมไทย”