นักเศรษฐศาสตร์ มธ. เปรียบเศรษฐกิจโลกผันผวน คล้ายก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
เศรษฐกิจโลกผันผวน คล้ายก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นักเศรษฐศาสตร์ มธ.ยันกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ไม่ได้ผลแล้ว เหตุกระสุนจะหมด
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2560 ครั้งที่ 39 เรื่อง "เส้นทางเศรษฐกิจไทยบนความผันผวนของเศรษฐกิจโลก" ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ช่วงหนึ่ง รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเศรษฐกิจโลกผันผวน เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน โดยเปรียบเทียบสถานการณ์คล้ายก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมกับเห็นว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว
รศ.ดร.อาชนัน กล่าวว่า ที่ผ่านเราได้ยินความผันผวนเต็มไปหมด แต่สิ่งที่เราไม่ค่อยได้ยินมากนัก ก็คือว่า วันนี้ขนาดความผันผวนมันรุนแรงมาก จนกระทั่ง The Economist หรือแม้แต่ Foreign Affairs มองลบถึงขั้นจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ( world war 3)
"เมื่อเศรษฐกิจโลกผันผวนมาก คนก็จะกังวล เนื่องจากมีความไม่แน่นอน ต้องรอให้ชัดเจน โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะตั้งใครเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กลาโหม วันนี้ทุกคนจึงเข้าสู่โหมด Wait and See ทั้งหมด ทุกคนชะลอการทำอะไรต่างๆ ทั้งหมด
และนี่คือเหตุผลที่ทำไมการทำโพลของสหรัฐฯ และในประเทศพัฒนาแล้ว พบว่า คน 70% เชื่อว่า เศรษฐกิจปีนี้ยังไม่ฟื้นตัว ฉะนั้นทุกคนมองโลกในแง่ลบ Wait and See หมายถึงว่า เศรษฐกิจที่คาดว่าจะดีขึ้น อาจต้องดีเลย์ออกไป"
นัยยะที่ไทยต้องเตรียมรับสถานการณ์ เมื่อเศรษฐกิจไม่ได้โตอย่างรวดเร็ว นักเศรษฐศาสตร์ มธ.แนะว่า ภาครัฐยังคงต้องช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อ แต่คำถามคือ หากเรามีทรัพยากร หรือกระสุนอัดฉีดจำกัด เราจะอัดฉีดอย่างไรไม่ให้เราเกิดปัญหาระยะยาว นี่คือโจทย์ใหญ่สำคัญในวันนี้
การเตรียมรับความอึมครึมแบบนี้โดยไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น รศ.ดร.อาชนัน บอกว่า เกิดขึ้นทั่วโลก เราจะกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแบบเดิมได้หรือไม่ เช่น นโยบายช้อปชั่วชาติ ที่เคยใช้
"วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป การกระตุ้นให้คนใช้จ่ายสามารถทำได้ หากเราเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวเร็ว รู้ว่าโบนัสเราจะออกอีก 6 เดือนข้างหน้า เราซื้อเครื่องซักผ้า ซื้อรถยนต์ใหม่ก็ไม่เป็นไร แต่หากโบนัสเลื่อนออกไปอีก 1 ปี - 1 ปีครึ่งข้างหน้า อันนี้จะเป็นปัญหาที่ตามมา"
รศ.ดร.อาชนัน ยืนยันว่า นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำแบบเดิมไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร วันนี้สำคัญที่สุด เราต้องกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุน ยิ่งมาดูตัวเลขการออม คนมีเงินเหลือของประเทศ เปลี่ยนจากการออมครัวเรือน มาเป็นการออมภาคธุรกิจ คำถามคือ เราจะกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเอาเงินออมมาลงทุน และก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร นี่คือโจทย์ที่ต้องทำให้ได้
"ผมว่าเหตุการณ์หนึ่งที่พอทำได้ ให้ภาคเอกชนลงทุน คือการลงทุนด้านสาธารณูปโภค ซึ่งเชื่อว่า รัฐคงเอาจริงเอาจังกับการลงทุนประเภทนี้ สิ่งที่เราต้องส่งสัญญาณชัดเจน คืออันไหนรัฐทำ อันไหนเปิดให้เอกชนทำ รัฐไม่จำเป็นต้องลงทุนเองทั้งหมด ฉะนั้น ภาครัฐต้องมีความชัดเจน เพราะวันนี้ เม็ดกระสุนเริ่มจำกัดลง หากเรามองถึงว่า เราต้องยิงระยะยาว เราต้องกระตุ้นให้ยืดไปกว่าเดิม
แม้คนจะมองว่า เป็นนโยบายแบบเดิมๆ หรือไม่ เป็นนโยบายประชานิยมหรือไม่ วันนี้สถานการณ์แบบนี้คล้ายเหตุการณ์ก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก ถ้าไม่กระตุ้น หรืออัดฉีด จะส่งผลกระทบระดับมหภาคค่อนข้างรุนแรงกว่าเดิม"
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ชี้ว่า หากเราลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดี เชื่อว่าจะกระตุ้นให้เอกชนลงทุนตาม "เราคงต้องคิดโจทย์กองทุนมั่งคั่งให้ชัดเจน เพื่อให้เรามีกระสุนระยะยาวให้ได้ ซึ่งการตั้งกองทุนมั่งคั่งก็สำคัญ ต้องตั้งโดยนำเงินลงทุนในต่างประเทศ บริหารโดยมืออาชีพ เอาผลตอบแทนเป็นหลัก และปลอดจากการเมืองจริงๆ"
และหากวันนี้เรารอความอึดครึมอยู่ เขาเห็นว่า เราคงน่าพิจารณาข้อเสนอแบบนี้ และสิ่งที่น่าทำได้ คือ การส่งสัญญาณอะไรที่ชัดเจน วันนี้ทั่วโลกเกิดปัญหาเอาผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง เช่น ที่อินโดนีเซียทะเลาะกับ เจพีมอร์แกน เพียงเจพีมอร์แกน ลดเกรดอินโดนีเซีย รัฐบาลอินโดนีเซียตอบโต้ใหญ่ การส่งสัญญาแบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลก เหมือนกับรัฐแสดงความไม่พอใจกับกิจกรรมภาคเอกชนมากเกินไป
"ประเทศไทยน่ามองโอกาส และส่งสัญญาณให้ชัดเจน ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเอกชนเป็นตัวนำเศรษฐกิจ โดยยืนยันนโยบายแบบนี้ให้โลกรู้ ทำระบบการระงับข้อพิพาทเอกชน-รัฐ ซึ่งจะทำให้เราชัดเจนในนโยบายมากขึ้น ผมกำลังบอกว่า ทุกคนเข้าสู่โหมดระวังตัว ชะลอการลงทุน ดีเลย์จนกว่าทุกสิ่งทุกอย่างชัดเจนกว่านี้ "
ช่วงท้าย รศ.ดร.อาชนัน วิเคราะห์ถึงนโยบายสหรัฐฯ ยุคโดนัล ทรัมป์ ที่จะเอางานกลับบ้านนั้น วันนี้ต้องเข้าใจอย่างหนึ่ง คือ disruptive technology ที่ไม่ใช่เอาเครื่องจักรมาช่วยคนทำงาน แต่เอาเครื่องจักรมาแข่งกับคน แทนคน ฉะนั้น ตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์เป็นต้นมา จึงไม่ได้เกิดการจ้างงานมากนัก
"หลายคนถาม คุณจะเอางานกลับบ้าน เอากลับไปได้มากน้อยแค่ไหน สุดท้ายทำให้ผลิตภัณฑ์ในสหรัฐฯ ดีขึ้นจริงหรือไม่ เช่น Walmart มีการจ้างงานมากขึ้น เพื่อเอาใจประธานาธิบดีคนใหม่ แต่หลายคนก็พยายามก็เตือนการทำอย่างนี้ คือการฆ่าตัวตาย"
ระเบิดเวลาที่รอจะเกิดขึ้นในไทย
ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด ก็เห็นด้วยว่า โลกผันผวนมากขึ้น โดยเปรียบเทียบให้เห็นจากปี 2559 ที่นักวิเคราะห์ทำนายเหตุการณ์สำคัญๆ ของโลกผิดหมดเลย ทั้งปรากฎการณ์ เบร็กซิท ( Brexit) และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
"เรียกว่า ใครทำการวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคต (Scenario Analysis) ก็แทบจะผิดหมดเลย โลกมีความผันผวนนอกจากเหตุการณ์ต่างๆ จะคาดเดายากแล้ว การทำนายผลของเหตุการณ์ยิ่งยากกว่าเดิมอีก"
แล้วปี 2560 มีประเด็นอะไรที่มีความผันผวนบ้าง ดร.พิพัฒน์ ชี้ว่า ปีนี้ก็ยังเป็นปีแห่งความผันผวน เป็นจุดเปลี่ยนในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะนโยบายของโดนัล ทรัมป์ และเป็นปีจุดเปลี่ยนของอัตราดอกเบี้ย จะเห็นอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เป็นเวลานาน
ส่วนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะโต 5% ดร.พิพัฒน์ บอกว่า อาจจะเหนื่อย ต้องกลับมาตั้งคำถามปัจจัยอะไรที่ทำให้เศรษฐกิจไทย จากที่เคยเติบโต 7% ลดลงเหลือ 5% และ 3% ตามลำดับ
สำหรับระเบิดเวลาที่รอจะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับเมืองไทย คือภาวะโครงสร้างประชากร สังคมผู้สูงอายุ เพราะวัยทำงานกำลังลดลง ซึ่งไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ง่ายๆ
"ช่วง20 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ดีที่สุดของโครงสร้างประชากรไทยที่เพิ่มมาโดยตลอด ทำให้เศรษฐไทยโตถึง 7% ได้ แต่จากจุดนี้เป็นต้นไป สิ่งที่เกิดขึ้นประชากรลดลงแน่ๆ วัยทำงานลดลง ขณะที่คุณภาพแรงงานก็ลดลงเช่นกัน ฉะนั้น เป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้"
ที่มาภาพ:https://moneyhub.in.th