บินไทยตั้ง กก.สอบกระบวนการจัดหาเครื่องยนต์ เล็งนำ "ข้อตกลงคุณธรรม" มาใช้
บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกระบวนการจัดหาเครื่องยนต์ และซ่อมบำรุงในอดีต-ปัจจุบัน และตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจพิเศษขึ้นมาตรวจสอบเรื่องทุจริตในการจัดหาเครื่องยนต์ และซ่อมบำรุง ในระหว่างปี 2534 ถึง 2548
วันที่ 20 มกราคม นางสุวิมล บัวเลิศ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักเลขานุการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกระบวนการจัดหาเครื่องยนต์ และคณะกรรมการป้องกันการทุจริต
ตามที่มีข่าวกรณี บริษัทโรลส์-รอยซ์ ยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ (Serious Fraud Office:SFO) ว่า ได้มีการจ่ายสินบนในหลายประเทศที่ได้ทำการซื้อขายเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ รวมถึงประเทศไทยในระหว่างปี 254-2548 นั้น
บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรับทราบเกี่ยวกับกรณีนี้แล้ว โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการแบ่งเป็น 2 ด้าน ดังนี้
1.ด้านป้องกันการทุจริต ประกอบด้วยการดำเนินการ 2 ส่วนย่อยได้แก่
1.1 ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกระบวนการจัดหาเครื่องยนต์ และซ่อมบำรุง โดยมีนายพิเชษฐ์ เรียงวัฒนสุข ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหารความเสี่ยง เป็นประธาน มีหน้าที่ ตรวจสอบกระบวนการจัดหาเครื่องยนต์ และการซ่อมบำรุงในอดีตและปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทฯ มีกระบวนการที่รัดกุมและช่องโหว่ของกระบวนการจัดหาฯ ในอดีต ได้รับการปรับปรุงแล้วและไม่มีจุดบกพร่องอื่นๆ เหลืออยู่
1.2 การป้องกันการทุจริตจะได้ดำเนินการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) สำหรับการจัดหาเครื่องยนต์ และการซ่อมบำรุงกับคู่ค้า เพื่อให้ยืนยันว่า จะไม่มีการให้สินบนกับพนักงานบริษัทฯ
2.ด้านการสอบสวนและดำเนินการกับการทุจริต โดยตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจพิเศษ (Special Task Force) เพื่อตรวจสอบเรื่องทุจริตในการจัดหาเครื่องยนต์ และซ่อมบำรุง ในระหว่างปี 2534 ถึง 2548 โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่เป็นประธาน มีหน้าที่ตรวจสอบว่า การจัดหาเครื่องยนต์ และการซ่อมบำรุง ที่ดำเนินการในระหว่างปี 2534-2548 ตามที่บริษัทโรลส์-รอยซ์แถลงนั้น การทุจริตเกี่ยวพันกับบริษัทเกิดขึ้นเมื่อใด เพื่อที่จะได้ดำเนินการตามกฎระเบียบของบริษัทฯ และตามกฎหมายต่อไป