การบินไทย แจงเร่งตรวจสอบข้อมูล หลัง 'โรลส์รอยซ์'ยอมรับจ่ายสินบนในไทย
บริษัท โรลส์รอยซ์ ยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ จ่ายสินบนในหลายประเทศที่ได้ทำการซื้อขายเครื่องยนต์ของโรลส์รอยซ์ รวมถึงไทย ระหว่างปี 2534 – 2548 การบินไทย ออกคำชี้แจง ยันจะเร่งขอข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาตรวจสอบโดยละเอียด
วันที่ 18 มกราคม บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงกรณีบริษัทโรลส์รอยซ์ยอมรับว่าได้จ่ายสินบนในประเทศไทย
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่ากรณี บริษัท โรลส์รอยซ์ ยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ (Serious Fraud Office: SFO) ว่าได้มีการจ่ายสินบนในหลายประเทศที่ได้ทำการซื้อขายเครื่องยนต์ของโรลส์รอยซ์ รวมถึงประเทศไทยในระหว่างปี พ.ศ. 2534 – 2548 นั้น
การบินไทยขอยืนยันว่า การบินไทยมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส โดยไม่มีข้อยกเว้นต่อการทุจริตในทุกรูปแบบ ดังนั้น การบินไทยจะเร่งขอข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาตรวจสอบโดยละเอียด เมื่อได้รับข้อเท็จจริง การบินไทยจะพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสมในการจัดการเรื่องทุจริตครั้งนี้โดยเร็ว เพื่อจะดำรงเจตนารมณ์ของการบินไทยในด้านความโปร่งใสไว้ตลอดไป
ขณะที่เว็ปไซต์ BBC ภาคภาษาไทย รายงานว่า นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติให้ฝ่ายบริหารตั้งกรรมการขึ้นตรวจสอบข้อมูลเรื่องดังกล่าวอย่างเร็วที่สุด โดยต้องการทราบรายละเอียดและเกี่ยวข้องกับกับบุคลใดบ้าง ทั้งอดีตพนักงาน อดีตผู้บริหาร และคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ในช่วงนั้น
นอกจากนี้ยังจะตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์จากเว็บไซต์ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนใด เพราะมีรายละเอียดช่วงเวลาการซื้อขายที่ชัดเจน หากพบว่าอดีตพนักงาน อดีตผู้บริหารหรืออดีตกรรมการคนใดมีส่วนเกี่ยวข้องแม้ว่าจะเกษียณอายุการทำงานไปแล้วก็สามารถที่จะนำตัวมาลงโทษได้
"การบินไทยมุ่งมั่นเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสไม่มีข้อยกเว้นต่อการทุจริตทุกรูปแบบ" นายจรัมพร กล่าว
ด้าน ร.อ.กนก ทองเผือก รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายทรัพยากรบุคคล และกำกับกิจการองค์กร การบินไทย กล่าวว่า ระเบียบของบริษัทเปิดช่องให้สอบสวนผู้บริหารและอดีตผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือทำให้องค์กรได้รับความเสียหายได้ โดยกำหนดระยะเวลาไว้ 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน และสามารถขอขยายได้อีก 90 วัน อย่างไรก็ตาม หากเรื่องดังกล่าวมีมูลความจริงการบินไทยพร้อมส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตรวจสอบต่อไป
ขณะที่ศาลสหราชอาณาจักรสั่งปรับ โรลส์-รอยซ์ บริษัทเครื่องยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติอังกฤษ 671 ล้านปอนด์ หรือ ราว 3 หมื่นล้านบาท หลัง สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ของประเทศ พบว่า บริษัทสมรู้ร่วมคิดกับการทุจริต หรือ ละเลยต่อการป้องกันการติดสินบนในไทย จีน อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ไนจีเรีย
โดยศาลสั่งให้ โรลส์-รอยซ์ จ่ายค่าปรับให้ เอสเอฟโอกว่า 497 ล้านปอนด์ ส่วน ทางบริษัทฯ แถลงว่า จะจ่ายค่าปรับ 141 ล้านปอนด์ (170 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ให้ กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ และ 21.5 ล้านปอนด์ให้ทางการบราซิล
คำวินิจฉัยของ เอสเอฟโอ ชี้ว่า โรลส์-รอยซ์ ยอมจ่ายเงินราว 680 ล้านบาทให้แก่นายหน้าในภูมิภาค โดยเงินบางส่วนจ่ายให้แก่ "ผู้แทนของประเทศไทย และพนักงานของการบินไทย" ซึ่งบุคคลเหล่านี้ "ถูกคาดหวังว่าจะให้ความความช่วยเหลือแก่โรลส์-รอยซ์ในการจัดซื้อเครื่องเครื่องยนต์ T800 โดยการบินไทย" หนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดี้ยนรายงานว่า การจ่ายเงินดังกล่าวสูงถึง 1.3 พันล้านบาท ระหว่างปี 2534-2548 เพื่อให้การบินไทยซื้อเครื่องยนต์ Trent ถึง 3 ลอตจากโรลส์-รอยซ์.