นักวิชาการ ชี้รัฐปล่อยเกาะ ผู้ใช้แรงงานเผชิญกลไกตลาดเสรีด้วยตนเอง
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ คาดแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2560 อาจจะโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ยันเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จำเป็นต้องยกระดับแรงงาน ขณะที่ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ กระตุ้นรัฐเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำช่วยผู้ใช้แรงงาน
วันที่ 18 มกราคม มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ร่วมกับพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย จัดโครงการสัมมนาวิชาการ "เศรษฐกิจกับแรงงานปี 2560 เศรษฐกิจไทยกำลังจะดี แรงงานก็มีอนาคต" ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค ถนนราชปรารภ กทม.
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2560 ยังมีโอกาสที่จะผันผวนในระยะสั้น แต่ถ้ามองในระยะยาวก็อยู่ในเกณฑ์ที่คงที่ โดยสาขาที่เริ่มชะลอตัวในระยะหลังๆ คือ สาขาอุตสาหกรรม เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และกลุ่มอุตสาหกรรมได้ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่อื่น
ส่วนปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า คือ แรงส่งจากการใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น รถไฟรางคู่ มอเตอร์เวย์ เป็นต้น ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนอาจจะยังมีปัญหาเนื่องจากเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปทำให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินมาก แม้จะเป็นกำลังการผลิตส่วนเกินจากเทคโนโลยีเก่าก็ตาม ทำให้ต้องลงทุนที่เพิ่มขึ้น
"ขณะนี้เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ยังไม่ได้มีการลงทุนจริงที่ชัดเจนในภาพรวม โดยเฉพาะเมื่อกำลังการผลิตมีส่วนเกินค่อนข้างมาก"
รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวถึงการส่งออก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเฉลี่ยปี 2560 อยู่ที่ 50.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 43 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในปี 2559 ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน คือ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์และยางพารา ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 13 % ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย
" ด้านการท่องเที่ยว จากการคาดประมาณจำนวนนักท่องเที่ยว คาดว่าอาจจะมีจำนวน 36 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 2 ล้านคน เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวหลักอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ"
รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ยังน่าเป็นห่วง Global Competitiveness Index (GCI) ของประเทศไทยจากปี 59 อยู่อันดับที่ 34 หล่นลงมาจากอันดับที่ 32 แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มประเทศอื่น ๆ ในเอเซียและแปซิฟิคส่วนใหญ่มีอันดับที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจจะโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและบริการที่เน้นวัตกรรมและเทคโนโลยีจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคเศรษฐกิจมากขึ้น
ที่สำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จำเป็นต้องยกระดับแรงงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านโดยเร็ว จำนวนแรงงานภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางเศรษฐกิจและวิกฤตทางการเมืองส่งผลการเติบโตของภาคธุรกิจหยุดชะงักและทำให้การจ้างงานลดลง โดยแรงงานภาคเกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบจากแรงผลักด้านภัยธรรมชาติ และแรงดึงดูดจากนโยบายค่าแรง 300 บาท ส่งผลให้แรงงานบางส่วนเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นจำนวนมากตั้งปี 2555 เป็นต้นมา
แนวโน้มจำนวนแรงงานปี 2560 โดยคาดการณ์ในสถานการณ์ปกติจะเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 1.14 เท่านั้น เนื่องจากแนวโน้มของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สาขาตลาดแรงงานในปีนี้มีทิศทางที่เติบโตขึ้น
ขณะที่รศ. ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 จะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น จะมีหุ่นยนต์บางส่วนเข้ามาแทนที่แรงงานคน ในขณะเดียวกันก็จะสร้างงานอื่นให้เกิดขึ้นด้วย ซึ่งเป็นงานที่ซับซ้อนขึ้น
"ทิศทางแรงงานที่จะโดนหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ คือ งานในโรงงาน งานออฟฟิศที่ซ้ำซาก จำเจ ทำเหมือนเดิมทุกๆวัน หุ่นยนต์สามารถทำงานได้ดีกว่า มีโอกาสที่จะถูกทดแทนได้ ทางออกคือแรงงานต้องเพิ่มทักษะทำงานให้ซับซ้อนมากขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น งานประเภทที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะใช้แรงงานที่ไร้ฝีมือมากกว่าใช้ความคิดน้อยกว่า"
รศ. ดร.กิริยา กล่าวถึงอุตสาหกรรม 4.0 อีกว่า จะมีทั้งหุ่นยนต์อัตโนมัติ,หุ่นยนต์ในการผลิต,บล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นระบบการจัดการฐานข้อมูล สำหรับการยืนยันตัวตน เพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน และบันทึกความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ เช่น สกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างบิตคอย์น์ หรืออะไรก็ตามที่เปลี่ยนมือกันได้โดยโลกจะเปลี่ยนไปในทิศทางของการกระจายได้รายลดความเหลื่อมล้ำของคนรวยและคนจนได้มากกว่าที่เป็นอยู่
ขณะที่นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาผู้ใช้แรงงานอยู่ในสถานการณ์ที่คนจำนวนมากทั้งภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคของอำนาจรัฐ คิดว่าสิ่งที่ควรจะเป็นของคนในประเทศนี้คือ ปล่อยให้ผู้ใช้แรงงานเผชิญกับแรงของกลไกตลาดอย่างเสรี ค่อนข้างชัดเจนว่าประเทศไทยเลือกเดินมาในทิศทางนี้ตั้งปี 2557 เป็นต้นมา และคิดว่าจะเผชิญกับภาวะแบบนี้ต่อไปอีกนาน เพราะมีการพูดถึงปัญหาของผู้ใช้แรงงานในรอบ 2-3 ปี ที่ผ่านมา โดยรัฐปล่อยให้ผู้ใช้แรงงานเผชิญกับปัญหาด้วยตนเอง ในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพียงแค่ 5-10 บาท เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแย่
นายศิโรตม์ กล่าวด้วยว่า การขึ้นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ทำให้เศษฐกิจตกต่ำไม่มีคนอยากลงทุน อาจจะไม่เป็นความจริง ผลการสำรวจของการประชุมเวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่มครั้งล่าสุด ปัญหาแรกที่นักลงทุนไม่อยากมาลงทุนที่ประเทศไทย เพราะความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลรัฐประหาร อีกทั้งยังมีการคอรัปชั่น ระบบข้าราชการไทยไร้ประสิทธิภาพ การเข้าถึงแหล่งทุน เรื่องภาษี มีมาตรการของภาครัฐที่เข้มงวดเกินไป อาชญากรรม โจรกรรม
"เรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำไมใช่โจทย์ที่ประเทศอื่นกังวลจนไม่กล้ามาลงทุนในประเทศไทย โจทย์ใหญ่ที่จะทำให้คนมาลงทุนในประเทศคือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปมา ซึ่งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่เหตุผลในการที่นักลงจะไม่กล้ามาลงทุนในประเทศเพราะแถบอาเซียนค่าแรงขั้นต่ำถูกมากอยู่แล้ว อย่าเอาเหตุผลนี้มาเป็นข้ออ้างในการขึ้นค่าแรงเท่านั้น"