รมว.อุตฯ สั่งเหมืองแร่โพแทชทำข้อมูลสวล.-สุขภาพ หวังยุติข้อโต้แย้งผลกระทบ
รมว.อุตสาหกรรม ออกประกาศให้เหมืองแร่โพแทชต้องทำข้อมูลฐานเปรียบเทียบ (Baseline Data) ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ก่อนการทำเหมือง เพื่อความชัดเจนด้านผลกระทบในอนาคตว่าเกิดจากการทำเหมืองหรือไม่
นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า จากการที่มีข้อร้องเรียนว่า การทำเหมืองแร่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนรอบพื้นที่เหมืองโดยเฉพาะโครงการทำ เหมืองแร่ขนาดใหญ่ ซึ่งจากการดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขข้อร้องเรียนต่าง ๆ ที่ผ่านมา ไม่สามารถหาข้อสรุปในเชิงวิชาการได้ชัดเจนว่า ผลกระทบเหล่านั้นเกิดขึ้นจากการทำเหมืองจริงหรือไม่ เนื่องจากไม่มีข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนก่อนการทำเหมืองมาเปรียบเทียบ ทำให้เกิดข้อสงสัยและความขัดแย้งที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีโครงการเหมืองแร่โพแทช ซึ่งถือว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง และมีกิจกรรมหลายด้านที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่โครงการ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จึงได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค และกรมอนามัย เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการจัดทำข้อมูลฐานเปรียบเทียบ (Baseline Data) ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนสำหรับโครงการเหมืองแร่โพแทชให้เป็นไปอย่างมีระบบและถูกต้องตามหลักวิชาการ
"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามในประกาศกระทรวง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2559 กำหนดให้โครงการเหมืองแร่โพแทชทุกโครงการต้องจัดทำข้อมูลฐานเปรียบเทียบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ตามที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เสนอแล้ว เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานก่อนการทำเหมืองด้านหนึ่งที่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนและความขัดแย้งเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้ถือเป็นเงื่อนไขในการอนุญาตให้ผลิตแร่โพแทช ซึ่งผู้ประกอบการต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนการทำเหมืองหรือการผลิตแร่"
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ถือประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โพแทช จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) จังหวัดชัยภูมิ และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการทำเหมือง ยังไม่ได้มีการทำเหมืองหรือการผลิตแร่โพแทชแต่อย่างใด ดังนั้น ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย จึงต้องดำเนินการจัดทำข้อมูลเปรียบเทียบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนตามประกาศดังกล่าวเสนอให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ให้ความเห็นชอบก่อนการทำเหมืองหรือการผลิตแร่ และตรวจสอบซ้ำทุก ๆ 5 ปี
พร้อมกันนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่มีแนวคิดที่จะให้เหมืองแร่ทุกประเภทมีการจัดทำข้อมูลเปรียบเทียบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนตามความเหมาะสมด้วยเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตามไปดูความก้าวหน้าก่อสร้าง 'เหมืองแร่โพแทช' ใต้ดินที่อีสาน
พลิกปูม ‘โพแทช’ เกลือใต้ดินที่อีสาน ก่อน รมว.อุตฯยกคณะดูของจริง 2 บ.สัมปทาน
เปิดหนังสือ "จักรมณฑ์" แจง "บิ๊กตู่" ทำไมต้องดันเหมืองแร่โพแทชสุดลิ่ม!
โพแทชคืออะไร? ความสำคัญ ผลกระทบ อนาคตธุรกิจเหมืองโพแทชในไทย
แล้วจะเหลือฐานทรัพยากรอะไรให้ปฏิรูป
ใบลาออก กก.อัคราไมนิ่ง"จักรมณฑ์"ก่อนนั่ง รมต.-ปั้นแผนสร้างเหมืองปลายปี 57