บันทึกชีวิต"ครูมริสา" สามีถูกยิง ตัวเองถูกคุกคาม กับการก้าวข้ามสู่ "ผู้ช่วยเหลือ"
“เมื่อกลุ่มเยียวยาของอาจารย์โซรยาก้าวเข้ามา ก็เป็นจุดเริ่มที่ฉันได้ก้าวข้ามความเจ็บปวดและความกลัวจากเหตุการณ์ร้ายที่ได้เจอ พวกเขาเอาจิตใจมาเยี่ยม ทำให้ฉันค่อยๆ ปรับตัว ปรับใจ กินข้าวได้ เดินออกไปพูดคุยกับเพื่อนบ้าน มันหนักมากกับสิ่งที่เจอมากับตัวเอง แต่เวลาช่วยผสานให้ดีขึ้น”
เป็นความรู้สึกของ มริสา สมาแห วัย 52 ปี ครูโรงเรียนบ้านพ่อมิ่ง ต.พ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งต้องประสบชะตากรรมที่เธอะไม่ได้ก่อขึ้น ทั้งสามีถูกยิงเสียชีวิต และเธอถูกขู่ให้ลาออกจากการเป็นครู
หัวค่ำของวันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ 2548 เสียงปืนดังขึ้น 4 นัดใกล้บ้านของเธอ เสี้ยววินาทีนั้น มริสารู้สึกว่าเหยื่อกระสุนต้องเป็นสามีเธอแน่นอน เธอจึงให้ลูกชายออกไปดูที่ตลาดนัดใกล้บ้าน แล้วก็จริงตามคาด เมื่อเธอตามออกมาก็เห็นลูกชายกำลังกอดร่างพ่อที่ไร้ลมหายใจ
“ตอนนั้นสามีฉันเสียชีวิตแล้ว ฉันรวบรวมสติ จัดการศพ และบอกลูกว่าไม่ต้องร้องไห้ ให้ยอมรับว่าถึงเวลาที่พระเจ้ากำหนดแล้ว ตำรวจเอาศพสามีไปที่โรงพยาบาลปะนาเระ ฉันกับลูกและญาติๆ ตามไปด้วย เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ฉันก็นำศพกลับมาจัดการตามหลักศาสนา”
มริสา บอกว่า เหตุการณ์โหดร้ายในค่ำวันนั้น เธอไม่เคยลืม แต่ต้องมีสติและเข้มแข็งเพื่อจัดการศพของสามี เธอควบคุมอารมณ์และเก็บความรู้สึกไว้ พร้อมๆ กับไปให้ปากคำกับตำรวจที่ สภ.ปะนาเระ
หลังเหตุการณ์ที่เธอต้องสูญเสียสามีไปเพียงคืนที่สอง ขณะที่เธอนอนหลับ รู้สึกเหมือนมีใครมากระชาก ทำให้สะดุ้งตื่น จากนั้นเธอรู้สึกกลัวและระแวง ซึมเศร้า กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่อยากพูดคุยกับใคร มีแต่คำถามที่คิดไปคนเดียว
“ตอนที่สามียังมีชีวิตอยู่ ครอบครัวเรามีความสุขมาก เราเป็นทั้งคู่รักและเป็นเพื่อนในเวลาเดียวกัน สามีฉันเป็นคนดี มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือเพื่อนบ้านเสมอ เมื่อชาวบ้านมีปัญหา ทุกคนก็จะมาปรึกษาและขอความช่วยเหลือ สำหรับฉัน เขาก็คือทุกอย่างในชีวิต มีคำถามในใจตลอดว่าใครยิงสามี เขาทำผิดอะไร เราจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร ฉันกังวลกับหลายๆ เรื่อง แม้แต่จะเดินไปทางไหน เพราะเขาเป็นคนบริการให้ทุกอย่าง”
“การสูญเสียสามีทำให้ฉันอยู่แบบคนไร้หัวใจ ไร้ความสุข ไม่มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เช้าไปโรงเรียน ตอนเย็นกลับเข้าบ้าน ไม่ออกไปไหน ในระยะเวลา 4 เดือนกับ 10 วันซึ่งเป็น ‘อิดดะห์’ (ระยะเวลาที่ศาสนากำหนดให้ภรรยารอคอย ไม่สามารถแต่งงานใหม่หลังจากสามีเสียชีวิตหรือหย่าขาดจากนางไป) ฉันเห็นปัญหาที่ตามมาแล้วบอกกับตัวเองว่า ต้องลุกขึ้นมาสู้เพื่อลูกๆ ทั้งสามคนให้ได้”
หลังจากนั้น มริสาก็ลุกขึ้นมาละหมาดฮายัตขอพรจากพระเจ้าให้มีสุขภาพแข็งแรง ลืมเหตุการณ์ร้ายๆ พระเจ้าตอบรับการขอพรของเธอ เพราะเธอนอนหลับ ทานอาหารได้ จากนั้นเธอทำอีบาดะห์ (ศาสนกิจ)ทุกอย่าง ทั้งละหมาดฮายัตทุกคืน การอ่านยาซีนทุกวัน และละหมาดสุนัตต่างๆ เธอเริ่มก้าวข้ามวิกฤตด้วยการใช้ศาสนามาบำบัดจิตใจ
หลังจากสามีเสียชีวิตไป 2 ปี ก็มาเกิดเรื่องไม่คาดฝันกับมริสาอีก โดยขณะที่เธอกำลังเข็นรถจักรยานยนต์เข้าไปเก็บในโรงรถภายในบ้าน ก็มีชายสวมหมวกไอ้โม่ง 2 คน โผล่ออกมาจากริมรั้วบ้าน และตะโกนบอกเธอว่า “ลาออกจากครู ไม่เช่นนั้นไม่รับรองความปลอดภัย”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เธอทรุดเป็นครั้งที่สอง ไม่สามารถพยุงตัวเองลุกขึ้นไปโรงเรียนสอนเด็กๆ ได้ คนรอบก็ข้างเป็นทุกข์ไปด้วย
ต่อมาผู้อำนวยการโรงเรียนได้นำเรื่องของเธอเข้าที่ประชุมเขตพื้นที่การศึกษา ปรากฏว่าผู้อำนวยการเขตฯ อนุญาตให้เธอย้ายไปช่วยราชการที่โรงเรียนไหนก็ได้ แต่เธอบอกว่าจะไม่ย้ายไปไหน ไม่ต้องหนีความตาย เมื่อถึงเวลาที่อัลลอฮ์กำหนดก็ต้องตายอยู่ดี
มริสาโชคดีที่คนรอบข้างช่วยกันรักษาจิตใจ แม้แต่เพื่อนครูที่โรงเรียนที่เป็นคนไทยพุทธ ทุกคนเป็นห่วงและมาเยี่ยมเธอสม่ำเสมอ
กระทั่งเดือนรอมฎอนของปีนั้น โซรยา จามจุรี และเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ได้มาเยี่ยมเธอ โดยที่ก่อนหน้านั้น เครือข่ายผู้หญิงฯ โทรศัพท์ให้กำลังใจเธอมาตลอด
“จริงๆ แล้วตอนนั้นฉันไม่อยากให้มาเยี่ยม เพราะกลัวว่าจะมาเห็นสภาพที่แท้จริง เนื่องจากเวลาอาจารย์โซรยาโทรศัพท์มา ฉันจะบอกว่าดีขึ้นแล้ว ทั้งที่แท้จริงๆ อาการยังเหมือนเดิม แต่เมื่อปฏิเสธไม่ได้จึงให้คณะมาเยี่ยม และดีใจที่มีคนเป็นห่วง ทำให้ฉันมีความผูกพันกับเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯ มาก” มริสา บอก
เมื่อเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้เชิญเธอเข้าประชุม และให้ความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งจัดอบรมเกี่ยวกับการจัดรายการวิทยุเสียงผู้หญิงจากชายแดนใต้ ปรากฏว่ามริสากลายเป็นนักจัดรายการวิทยุที่ผู้ฟังให้ความสนใจ เพราะเธอนำประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตมาเล่าในรายการ ทำให้คนฟังได้สัมผัสถึงวิธีการรับมือกับปัญหา การเยียวยา ช่วงที่ท้อแท้ กระทั่งสามารถฟื้นคืนกลับมาใช้ชีวิตหลังเกิดเหตุการณ์ร้ายผ่านไปได้
ต่อมาเครือข่ายของหมอดำรงค์ แวอาลี แพทย์สุขภาพจิตชื่อดังของชายแดนใต้ได้เชิญมริสาไปเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการเยียวยาจิตใจแก่ผู้ได้รับผลกระทบ เป็นอำเภอนำร่องในการดูแลเด็กกำพร้าที่เกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เธอได้เข้าร่วมโครงการที่ทางศูนย์สุขภาพจิตจัดขึ้น ได้รับทุนจากศูนย์ 2 ปีซ้อน เนื่องจากผลการประเมินโครงการเป็นที่ยอมรับของหน่วยงาน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจทั้งหน่วยงานและชุมชน
“เมื่อมีความรู้ก็อยากช่วยคนอื่นให้ได้เรียนรู้ว่า คนไหนที่วันแรกอาการหนัก เขาจะฟื้นตัวเร็ว แต่คนที่นิ่งเงียบ น่ากลัว จะใช้เวลานาน เวลาเกิดเหตุการณ์กับใคร รู้สึกเหมือนเกิดกับตัวเอง เพราะผ่านเรื่องร้ายๆ มาแล้ว”
มริสาสอนเด็กๆ ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ มีเวลาว่างช่วงวันเสาร์กับอาทิตย์ แต่หากทีมงานโทรศัพท์มา ก็จะปรับเปลี่ยนตารางการสอนให้เหมาะสม เพื่อไปช่วยคนที่ต้องการความช่วยเหลือ
เธอได้เป็นอนุกรรมการเกี่ยวกับการเยียวยา เปิดโอกาสให้ได้นำเสนอข้อมูลต่างๆ และเป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชน มีโอกาสได้ไปสานเสวนากับแม่ทัพภาคที่ 4 โดยเธอได้นำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน ต.พ่อมิ่ง และข้อมูลจากชาวบ้าน ด้วยการขอให้ถอนกำลังทหารออกจากโรงเรียน ซึ่งแม่ทัพก็ทำตามที่เธอขอ
แต่ปัญหาในการทำงานร่วมกับฝ่ายความมั่นคงก็คือ เมื่อมีการสับเปลี่ยนกำลัง ก็ต้องมีการทำความรู้จักกันใหม่ทุกครั้ง
สำหรับโรงเรียนบ้านพ่อมิ่ง ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 180 คน ครู 14 คน ทั้งพุทธและมุสลิม มริสาเป็นวิทยากรอิสลามศึกษามาตั้งแต่อายุ 18 ปี บรรจุเป็นข้าราชการครูเมื่อปี 2547 และรักในอาชีพครู อยากให้นักเรียนได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์และใช้ได้ในชีวิตจริง เธอเป็นห่วงเรื่องการอ่านออกเขียนได้ของเด็กๆ เป็นอย่างมาก
“สอนเด็กประถมสนุก ไม่เครียด แต่ตอนนี้เด็กไม่ยอมพูดภาษาไทย ครูพูดไทย แต่เด็กไม่ตอบกลับเป็นภาษาไทย มีเฉพาะเด็กที่สนใจก็จะพูดและอ่านได้ ในปีนี้ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 1 จึงมีเกณฑ์ว่า นักเรียนชั้น ป.6 ทุกโรงเรียนต้องอ่านออกเขียนได้ ถ้าเด็กทำไม่ได้ ครูไม่ได้ขึ้นเงินเดือน วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ก็จะมีการทดสอบ จึงต้องสอนเสริมกันทุกวัน ผู้ปกครองบางคนก็ไม่เข้าใจ คิดว่าครูบังคับให้พูดภาษาไทย ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เนื่องจากต้องสื่อสารกับสังคมและโลกภายนอกที่ไม่ได้มีอยู่แค่ในชุมชนหรือพื้นที่ที่ชายแดนใต้เพียงอย่างเดียว”
มริสา บอกว่า การเรียนการสอนในปัจจุบัน ครูต้องเอาใจใส่ดูแลเด็กอย่างละเอียดถึงพื้นฐานครอบครัวว่าเป็นอยู่อย่างไร บางครอบครัวต้องสอนพ่อแม่ให้ช่วยดูการบ้านและดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ต้องช่วยกัน ไม่ใช่ผลักภาระมาให้โรงเรียนและครูทุกอย่าง
“ฉันขอบคุณพระเจ้าที่ให้โอกาส ให้เวลา สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ออกสู่สังคม ถ้าสิ่งนั้นคือความดี ฉันพร้อมที่จะลงมือทำด้วยความบริสุทธิ์ใจทุกเรื่อง สิ่งเดียวที่อยากบอกกับทุกคนคือ ความอดทน และการทำอีบาดะห์ (ศาสนกิจ) เท่านั้นที่เป็นเกราะป้องกันตัวเรา”
ทุกวันนี้มริสามีความสุขขึ้นกับการได้เป็นย่าของหลานตัวน้อยๆ คนแรก และตั้งใจจะถ่ายทอดความรู้ที่มีให้กับลูกหลานชาวพ่อมิ่ง พร้อมๆ ไปกับการทำงานเพื่อสังคม