10 ปี "ซีแอลยา" อ.เภสัชฯ ชี้ทำให้โลกพัฒนายั่งยืน-ไม่ทอดทิ้งคนจนไว้ข้างหลัง
ผจก. กพย.ชี้ให้จับตาพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ เกาะติดการออกฏกระทรวงที่กรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลัง จะยังคงกลไกในการสร้างความสมดุลในการจัดซื้อจัดหายาของประเทศไทยหรือไม่
วันที่ 17 มกราคม เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ(คคส.) และแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) จัดแถลงข่าวจากเวที "มองไปข้างหน้า : บทเรียน 10 ปี ซีแอล และการเข้าถึงยาจำเป็น" ณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมกรอาหารและยา ( อย. ) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกลไกการควบคุมราคายา ดังนั้นประเทศไทยควรที่จะปรับปรุงระบบในเชิงกฎหมายและกลไกทางตลาด หรือใช้มาตรการของหน่วยงานต่างๆที่จะควบคุมราคายาให้สมเหตุสมผล เนื่องจากในปัจจุบันยาที่จำหน่ายในร้านขายยาและยาที่จำหน่ายในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนมีราคายาที่แตกต่างกันอย่างมาก รวมถึงมีการผูกขาดในการตั้งราคายาแต่เพียงผู้เดียวของผู้ถือสิทธิบัตรยานั้น ๆ ทำให้ยาในประเทศมีราคาค่อนข้างสูงอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้นการทำ ซีแอล (ใช้สิทธิโดยรัฐ) จึงจำเป็นและต้องปรับระบบสิทธิบัตรให้มีความสมดุลมากขึ้น
"ประชาชนถูกเอาเปรียบมานานและจะต้องลุกขึ้นมาเจรจาต่อรองกับอุตสาหกรรมยา"
ขณะที่รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเภสัช จุฬาฯ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นต้นแบบของโลกในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการเข้าถึงยา การใช้สิทธิเข้าถึงยาโดยรัฐหรือซีแอล เป็นส่วนหนึ่งของบทบาทรัฐในการทำให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นที่มีราคาแพง การทำให้ยามีราคาถูกลงไม่ใช่เพื่อประหยัดงบประมาณของรัฐบาล แต่เพื่อขยายจำนวนการเข้าถึงยาของผู้ป่วยให้ครอบคลุมมากที่สุด
"ซีแอลคือส่วนหนึ่งในการทำให้โลกเกิดการพัฒนาแบบยั่งยืน เพราะไม่ทอดทิ้งคนยากจนที่ไม่สามารถเข้าถึงยาได้ โดยได้พิสูจน์แล้วว่าไม่มีผลกระทบในเชิงการค้าและการพัฒนานวัตกรรมยา" รศ.ดร.ภก.วิทยา กล่าว และ ว่า คนไทยต้องตระหนักถึงการพิทักษ์ระบบหลักประกันสุขภาพและการเข้าถึงยาให้ยั่งยืนและมั่นคง
ส่วนนายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เข้าถึงยาจำเป็น มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เผยว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการแก้ไขเรื่องของสิทธิการเข้าถึงยาของประชาชนได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างยารักษาเอชไอวีและเอดส์ นอกจากมีการพัฒนาสิทธิการเข้าถึงยาไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว ในไทยยังมีการพัฒนาเรื่องของราคายาที่ถูกลงด้วยเช่นยารักษาโรคหัวใจและยารักษาโรคมะเร็ง แต่ยังมีปัญหาอยู่ที่ยารักษาโรคอื่น ๆ ยังมีราคาแพงอยู่โดยเฉพาะโรคไวรัสตับอักเสบซี เนื่องจากมีการผูดขาดสิทธิบัตร
นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การให้สิทธิบัตรของไทยถ้ายังขาดสมดุลระหว่างสิทธิของบริษัทยากับสุขภาพของประชาชนอยู่ ปัญหาการเข้าถึงยาและยาแพงก็จะไม่หมดไป และจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีการเจรจาการค้าเสรีและการทำสัญญากับบริษัทยา โดยการบังคับบริษัทยาชื่อสามัญไม่ให้ขายยาราคาถูกแก่บางประเทศที่ยาต้นแบบไม่ต้องการให้ขาย และเสนอแนะทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ว่า ให้ใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ และมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรควบคู่กัน ซึ่งจะเป็นมาตรการที่ช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงตัวยาของประชาชนได้ ตามคำแนะนำของสหประชาชาติ
นายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมากลไกซีแอล ได้พิสูจน์ทั้งในไทยและต่างประเทศว่ามีประโยชน์ แต่ภาคประชาสังคมยังต้องช่วยเฝ้าระวังไม่ให้กลไกต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างความมั่นคงในระบบยาอ่อนแอลงไปจากการเจรจาทางการค้าและการแก้ไขกฎหมายต่างๆ เพราะจนถึงทุกวันนี้ยังมีความพยายามจากอุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่ต้องทำลายกลไกในการต่อรองราคายา เพื่อบีบบังคับให้ประเทศต้องซื้อยาราคาแพงขึ้น
ผศ.ดร.ภก.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) กล่าวว่า การเจรจาการค้าในกลุ่มอาเซียนบวกหก หรือRCEP ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีสอดแทรกเนื้อหาที่เกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ ซึ่งมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและทำลายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย นอกจากนี้การแก้ไขกฎหมายในระดับต่างๆยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็ง ที่สำคัญคือการจับตาพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่กำลังมีผลบังคับใช้ เพราะเดิม พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเพื่อเปิดทางให้ไทยเข้าร่วมการเจรจา TPP (Trans-Pacific Partnership (TPP): การเจรจาเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก) ดังนั้นต้องติดตามการออกฏกระทรวงที่กรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลัง ที่กำลังพิจารณาให้ยังคงกลไกในการสร้างความสมดุลในการจัดซื้อจัดหายาของประเทศไทย
ทั้งนี้ประเทศไทยประกาศใช้ระบบซีแอล เป็นครั้งแรกใน "ยาต้านไวรัสเอฟฟาไวเรนซ์" เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 และได้มีการประกาศซีแอลในรายการยาอื่นที่จำเป็นต่อการเข้าถึงของผู้ป่วยเพิ่มเติม ปัจจุบันมียาที่ได้ประกาศซีแอลที่ยังคงอยู่ในระบบ 3 รายการ คือ
1. ยาต้านไวรัสสูตรผสมโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ จากราคา 74.23 บาทต่อเม็ด หลังประกาศซีแอลเหลือ 18.18 บาทต่อเม็ด และปี 2559 ราคายาเหลือ 12.35 บาทต่อเม็ด
2.ยาต้านไวรัสเอฟฟาไวเรนซ์ ขนาด 600 มิลลิกรัม จากราคา 65.73บาทต่อเม็ด หลังประกาศซีแอลเหลือ 10.37 บาทต่อเม็ด ต่อมาปี 2559 ราคายาเหลือ 4.578 บาทต่อเม็ด
และ 3.ยาโคลพิโดเกรล จากราคา 70 บาทต่อเม็ด หลังประกาศซีแอล 1.08 บาทต่อเม็ด เมื่อปี2559 ราคายาอยู่ที่ 2.74 บาทต่อเม็ด โดยได้คำนวนมูลค่ายาลดลงจากการประกาศซีแอลทั้งหมดจากปี 2553-2559 สามารถประหยัดงบประมาณลงได้ 1.6 หมื่นล้านบาท