ไฟใต้หลังสิ้น...สะแปอิง บาซอ
“ประชาคมข่าวกรอง” ประเมินกันเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการว่าสถานการณ์ชายแดนใต้จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนักหลังสิ้น สะแปอิง บาซอ บุคคลที่เชื่อกันว่าเป็นผู้นำสูงสุดของขบวนการบีอาร์เอ็น องค์กรที่ว่ากันว่าควบคุมกองกำลังติดอาวุธมากที่สุด และเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการความรุนแรงในพื้นที่มาตลอด 13 ปีเต็ม
ที่ว่าสถานการณ์จะไม่มีอะไรเปลี่ยน หมายความว่าไม่มีอะไรดีขึ้น (และ/หรือเลวลง) เพราะสะแปอิงป่วยหนักมานานมาก ระยะหลังๆ ไม่น่าจะมีบทบาทในขบวนการสักเท่าไหร่
แต่ก็มีคนมองต่างมุม เป็นการมองแบบ "ละเอียด" ว่าผลกระทบน่าจะเกิดขึ้นแน่ เฉพาะหน้าคือจะมีการก่อเหตุรุนแรงหนักขึ้น ผ่านการสนับสนุนของฝ่ายกองกำลัง เพื่อเรียกขวัญ-กำลังใจของบรรดานักรบ เพราะสะแปอิงถือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และเพื่อยืนยันว่าองค์กรบีอาร์เอ็นยังเข้มแข็ง เป็นเอกภาพ ไม่แกว่งไปกับการสูญเสียผู้นำ
ขณะที่ผลระยะกลาง น่าจะมีการช่วงชิงการนำกันในขบวนการ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าภายในบีอาร์เอ็นเองไม่ค่อยเป็นเอกภาพมากนัก โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลไทยเปิดโต๊ะพูดคุยเจรจาแบบเปิดเผยตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา มีบางปีกอยากให้ร่วมพูดคุยเต็มตัว บางปีกต้องการให้รบต่อ เพราะเชื่อว่ากำลังได้เปรียบฝ่ายรัฐอยู่
นี่คือสาเหตุที่น่าเชื่อว่าจะมีการวัดพลังกันอีกหลายรอบ และผลข้างเคียงก็คือสถานการณ์ความตึงเครียดในพื้นที่ชายแดนใต้
โดยเฉพาะหากฝ่ายนิยมความรุนแรงขึ้นมาคุม “สภาองค์กรนำ” หรือ DPP ของขบวนการ ก็เตรียมรับมือไฟใต้ระลอกใหม่ได้เลย
อีกประเด็นที่ต้องไม่ลืมคือ บีอาร์เอ็นมีสถานะเป็น "องค์กรลับ" บรรดานักรบที่เคลื่อนไหวอยู่ บางส่วนไม่รู้จักกัน และมีกระบวนการ "คัตเอาท์" หรือตัดตอนไม่ให้สาวถึงคนในเครือข่ายได้เวลาถูกจับกุม
เมื่อสงครามยืดเยื้อมานานกว่า 1 ทศวรรษ กลุ่มติดอาวุธที่ถูกสร้างขึ้น จำนวนไม่น้อยได้สร้างเครือข่ายของตนเอง และเปิดปฏิบัติการเองหลายๆ ครั้งด้วยแรงผลักดันส่วนบุคคล
ประกอบกับสภาพของ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาบางอำเภอ มีลักษณะของความเป็น “เมืองชายแดน” ที่ธุรกิจผิดกฎหมายค่อนข้างเฟื่องฟู ทั้งสินค้าเถื่อน น้ำมันเถื่อน ยาเสพติด ค้าประเวณี รวมไปถึงการเมืองท้องถิ่นที่ขัดแย้งกันอย่างหนักในหลายพื้นที่ ทำให้กลุ่มเหล่านี้มีกองกำลังของตนเองเช่นกัน บางส่วนทับซ้อนกับนักรบที่เคลื่อนไหวในนามขบวนการ
นี่ยังไม่นับ “การเมืองระดับชาติ” ที่มีเครือข่ายกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ รวมทั้งกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
หลายๆ ครั้งที่มีปฏิบัติการความรุนแรง เมื่อตรวจสอบลึกลงไปจึงมีความเชื่อมโยงกับปัญหาอื่นที่ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดนตามอุดมการณ์ของบีอาร์เอ็น บางส่วนพบหลักฐานชี้ไปยังกลุ่มค้ายาเสพติด หรือน้ำมันเถื่อน บางส่วนชี้ไปยังปัญหาการเมืองท้องถิ่น และอีกบางส่วนเชื่อมไปถึงสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ
เหตุการณ์ระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน เมื่อเดือน ส.ค.59 และแผนวินาศกรรมกรุงเทพฯเมื่อเดือน ต.ค.ปีเดียวกัน โดยที่ไม่สามารถหาความเชื่อมโยงกับนโยบายของขบวนการบีอาร์เอ็นได้ คือตัวอย่างที่อธิบายสถานการณ์ “ฝุ่นตลบ” ได้ค่อนข้างชัดเจน
ขณะที่ความเชื่อมั่นของบรรดานักรบฟาฏอนีที่มีต่อรัฐไทย โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง ยังคงติดลบ สังเกตจากเวลาล้อมจับ นักรบเหล่านี้มักสู้ตาย ไม่ยอมมอบตัว ส่วนพวกที่ถูกจับกุม เมื่อเข้าค่ายทหารก็ไม่ยอมดื่มน้ำหรือกินข้าวของเจ้าหน้าที่ เพราะกลัวถูกวางยา
ช่วง 2 วันแรกที่ห้ามญาติเยี่ยม คนกลุ่มนี้จะใช้วิธีอดน้ำอดอาหารในลักษณะของการ "ถือศีลอด" หรือ "ปอซอ" แทน
นี่คือเรื่องจริงที่ไม่ค่อยเคยถูกเปิดเผย และเป็นคำตอบว่าเหตุใด “กระบวนการยุติธรรมทางเลือก” ที่รัฐพยายามนำมาใช้ เช่น มาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ผ่านมาแล้ว 6-7 ปี จึงมีกลุ่มผู้เห็นต่างฯยอมเข้ากระบวนการเพียง 8 คน แถมยังมีข่าวว่าหลายคนที่เป็น “ศิษย์เก่ามาตรา 21” ก็ใช้ชีวิตอยู่ตามปกติไม่ได้ บางรายหายหน้าไปจากพื้นที่
เหล่านี้ทำให้ประเมินได้ว่าสถานการณ์ไฟใต้จะยังไม่ดีขึ้นหลังสิ้นผู้นำสูงสุดอย่าง สะแปอิง บาซอ
เพราะไฟใต้ทุกวันนี้ไปไกลเกินกว่าเรื่อง “ตัวบุคคล” มากแล้ว หนำซ้ำยังมีการสร้างสถานการณ์แทรกซ้อนมากมาย จนแม้แต่ชาวบ้านในพื้นที่เองยังบอกด้วยสำเนียงใต้ว่า “มั่วไปเม็ดแหล่ว”
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ความรุนแรงในพื้นที่ คนร้ายดักระเบิดรถหุ้มเกราะรีว่าของทหารใน จ.ปัตตานี เมื่อปี 2558