ศ.นพ.ประกิต ห่วงภัยควันบุหรี่มือสอง เสี่ยงป่วยสารพัดโรคในเด็ก
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ชี้ผลการสำรวจ พบควันบุหรี่ในบ้าน พบภาคใต้มากสุด 43.5 % รองลงมาภาคอีสาน 29 % ภาคกลาง 27% ภาคเหนือ 25.9 % และน้อยที่สุดคือในพื้นที่กรุงเทพฯ 13%
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่จัดงานแถลงข่าว “ในโครงการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เพื่อขยายเครือข่ายในการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่สู่ชุมชน” ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราชินี
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงรายงานของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2549 พบว่า ควันบุหรี่มือสอง มีมลพิษทางอากาศที่ร้ายแรงมากที่สุด มีสารพิษและสารมะเร็งหลายร้อยชนิด เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ เบนซิน วินิคลอไรด์ อาร์เซนิก แอมโมเนีย และไฮไดรเจนไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคและการตายก่อนวัยอันควรในเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งสารพิษในควันบุหรี่จะมีนิโคติน (สารเสพติด) สารก่อมะเร็ง มากกว่า 70 ชนิด สารพิษมากกว่า 250 ชนิด และ สารเคมีชนิดต่างๆ 7,000 ชนิด
"ควันบุหรี่มือสองไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบทางร่างกายในวัยผู้ใหญ่เท่านั้น แต่รวมไปถึงทารกในครรภ์มารดา ซึ่งส่วนประกอบในควันบุหรี่มือสองสามารถผ่านรก (placenta) ไปยังทารกได้ สารที่มีความสำคัญคือ carbonmonoxide และ nicotine จะมีผลเสียต่อการพัฒนาของสมองทารกและการเติบโตของทารกในครรภ์ เด็กในครรภ์จะมีโอกาสเกิดภาวะน้ำหนักตัวน้อย คลอดก่อนกำหนดหรือเสียชีวิตในครรภ์"
สำหรับโรคที่เกิดจากการรับควันบุหรี่มือสองในเด็ก นพ.ประกิต กล่าวว่า มีโอกาสเกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 57% ถ้าผู้ปกครองสูบบุหรี่ จะมีอาการผิดปกติทางระบบหายใจ เช่น มีอาการแน่นหน้าอก มีอาการไอ มีเสมหะมาก และมีโอกาสเกิดโรคหืด เพิ่มขึ้น 23-39 %
"ในส่วนของเด็กทารกที่มีผู้ปกครองสูบบุหรี่จะมีโอกาสเกิดภาวะนี้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ประมาณ 1 ใน 4 ของเด็กที่เสียชีวิตจาก SIDS ในประเทศอังกฤษเกิดจากที่ผู้ปกครองสูบบุหรี่"
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงผลของการเสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองทั่วโลก (192 ประเทศ) ในปี 2547 พบว่า เด็กที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบประมาน 379,000 คน การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง 165,000 คน เป็นเด็กอายุ ต่ำกว่า 5 ขวบ โรคหืดหอบ 36,900 คน มะเร็งปอด 21,400 คน รวมทั้งสิ้น 602,300 คนต่อปี
"เด็กที่ได้รับควันบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ จากการสำรวจในผู้ปกครองเด็กอายุ 1-4 ขวบที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเด็ก ปี 2551 พบว่า เด็กที่เป็นไข้หวัดบ่อยมี 37.0 % หอบหืด 53% ติดเชื้อทางเดินหายใจ 51.8 % หลอดลมอักเสบ 48.8% ปอดอักเสบ 50.8% หูน้ำหนวก 17.4 % และไหลตายในเด็ก 17.0 % จะเห็นได้ว่าภัยจากควันบุหรี่มือสองมีผลของการเป็นโรคในเด็กจำนวนมาก"
ทั้งนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของเด็กนักเรียนอายุ 13-15 ปี ใน 151 ประเทศทั่วโลก ปี 2550 พบว่า 1 ใน 10 ของเด็กนักเรียนติดบุหรี่และนักเรียนที่เคยได้รับการแจกบุหรี่จากผู้แทนบริษัทบุหรี่ 1 ใน 4 ของเด็กนักเรียนที่สูบบุหรี่เริ่มทดลองสูบก่อนอายุ 10 ขวบ 60 % ได้รับควันบุหรี่มือสองจากนอกบ้าน และครึ่งหนึ่งของเด็กเหล่านี้ได้รับควันบุหรี่มือสองจากในบ้าน
ด้านนายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวถึงการสูบบุหรี่มีโทษอย่างมาก บุหรี่มือสองทำให้คนรอบข้างและคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นภรรยาหรือลูกหลาน แม้กระทั่งเด็กเล็กๆ ซึ่งจะมีผลข้างเคียงในระยะยาว
"โครงการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เพื่อขยายเครือข่ายในการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่สู่ชุมชน โดยหวังผลให้คนมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ลดลง และเลิกเร็ว พร้อมกับช่วยกันเตือนให้เด็กห่างไกลจากบุหรี่"