คุ้มจริงหรือ? จับมือจีนตั้งโรงงานผลิตอาวุธในไทย
แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ด้วยการตั้งโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์นั้น เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาหลังการเดินทางเยือนจีนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อกลางเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว
จีนแสดงท่าทีสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์ทางทหารในประเทศ พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีและขีดความสามารถในการพัฒนา เพื่อดูแลอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผลิตในจีนที่มีประจำการในประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ด้วย
หลังจาก พล.อ.ประวิตร เดินทางกลับมา ก็มีการผลักดันโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่เป็นรูปธรรมในปี 2560” ที่ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. โดยมี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
ผลการสัมนาในวันนั้น มีการวางเป้าหมายเอาไว้ว่า ไทยจะวิจัยและพัฒนาเพื่อมุ่งไปสู่การผลิตอาวุธใช้ในราชการเอง เเละขายเชิงพาณิชย์ด้วย
ล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการทดสอบการยิงลูกปืนฝึกขนาด 30 มิลลิเมตร จำนวน 204 นัดที่ใช้สำหรับฝึกยานเกราะล้อยาง BTR ซึ่งเป็นโครงการพัฒนายุทโธปกรณ์ร่วมกันของกรมสรรพาวุธทหารเรือ กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทป.
วัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความมั่นใจในการผลิตลูกปืนที่ได้มาตรฐาน และพร้อมใช้สนับสนุนภารกิจของกองทัพ ตามนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
ไอเดียบรรเจิดตั้งโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์ในประเทศไทย ถูกตั้งคำถามอย่างแหลมคมจากนักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข โดยเฉพาะประเด็นการจับมือทำโครงการร่วมกับจีนว่า รัฐบาลและกองทัพไทยกำลังส่งสัญญาณจะย้ายค่ายไปอยู่กับจีนแล้วใช่หรือไม่
เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะมีโจทย์ข้อยากตามมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการรื้อระบบยุทโธปกรณ์ของกองทัพใหม่ทั้งระบบ รวมถึงรื้อ “หลักนิยมทางทหาร” ด้วย
“จริงๆ แล้วเรื่องนี้ใหญ่กว่าที่คิดมาก เพราะเป็นการตอกย้ำนโยบายทิศทางยุทธศาสตร์และงานด้านต่างประเทศว่า ประเทศไทยตัดสินใจย้ายค่ายไปอยู่กับจีนจริงๆ แล้ว เพราะการใช้อาวุธนั้น ในการเมืองระหว่างประเทศ มันคือการระบุถึงทิศทางของประเทศในทางยุทธศาสตร์”
“ถ้าอธิบายโจทย์ว่าโรงงานนี้ทำเพื่อซ่อมยุทโธปกรณ์จากจีน เท่ากับรัฐบาลทหารปัจจุบันกำลังบอกว่า ในอนาคตเราจะเปลี่ยนระบบยุทโธปกรณ์ที่เคยซื้อจากตะวันตก ไปซื้อจากจีนแทนทั้งระบบหรือไม่ ขณะที่ฝ่ายทหารเองในฐานะ ‘ผู้ใช้’ หรือ user ก็ต้องตระหนักว่ากองทัพไทยจะถูกเปลี่ยนเป็นกองทัพในโมเดลแบบจีน อาจจะต้องรื้อหลักนิยมที่เรามีมาทิ้งทั้งหมด เนื่องจากหลักนิยมที่เรามีปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นหลักนิยมที่มาพร้อมกับการที่เราซื้ออาวุธจากตะวันตก”
อาจารย์สุรชาติ ตั้งข้อสังเกตต่อว่า อุตสาหกรรมอาวุธในโลกสมัยใหม่เป็นเรื่องใหญ่และมีความซับซ้อนมากกว่าที่คิด เพราะเทคโนโลยีทางทหารในปัจจุบันมีความก้าวหน้าสูงมาก ถือเป็นเทคโนโลยีสมรรถนะสูงสาขาหนึ่ง จึงมีคำถามถึงศักยภาพการผลิตของไทย และการหาตลาดรองรับว่าจะผลิตเพื่อตลาดในประเทศ หรือส่งออกในเชิงพาณิชย์ด้วย
“ต้องตระหนักว่าอุตสาหกรรมอาวุธในทางเทคโนโลยี มันเป็นอุตสาหกรรมสมรรถนะสูง ถ้าจะผลิตอาวุธในสมรรถนะต่ำก็ไม่มีประโยชน์ ไม่รู้จะทำเพื่ออะไร และต้องตอบให้ได้ว่าตกลงทำเพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือทำป้อนตลาดภายใน ถ้าคิดว่าจะป้อนตลาดภายใน กองทัพไทยไม่ใช่กองทัพใหญ่ การผลิตอาวุธบางชนิดอาจไม่มีความคุ้มค่า เพราะราคาต่อหน่วยจะสูงมาก”
“ต้องเข้าใจว่าการผลิตรถถังไม่ใช่การผลิตรถเก๋ง การขายรถถังก็ไม่ใช่การขายรถเก๋ง ตลาดรถถังก็ไม่ใช่ตลาดรถเก๋ง แต่ตลาดของอาวุธเป็นตลาดพิเศษ ไม่ใช่ตลาดปกติ เป็นตลาดการเมือง ฉะนั้นจะคิดเทียบตลาดอาวุธเหมือนตลาดอุตสาหกรรมปกติไม่ได้”
ส่วนแนวคิดที่จะให้ไทยเป็นศูนย์ซ่อมอาวุธจากจีนที่มีใช้กันอยู่ในประเทศแถบนี้นั้น อาจารย์สุรชาติ มองว่า อาจเป็นการคิดหวังแบบไกลเกินไป และเป็นการคิดที่รอบคอบหรือไม่ เพราะแม้เพื่อนบ้านหลายประเทศจะใช้ระบบอาวุธของจีน แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าเวลาที่อาวุธของเพื่อนบ้านเหล่านั้นมีปัญหา จะยอมส่งให้โรงซ่อมอาวุธที่อยู่ในไทย
“ผมไม่แน่ใจว่าในท้ายที่สุด แม้ประเทศเพื่อนบ้านมีปัญหา เขาจะยอมส่งโรงซ่อมอาวุธจีนที่อยู่ในไทย หรือเขาจะหาแหล่งซ่อมของเขาเอง เรื่องนี้เป็นโจทย์อนาคตที่มีความละเอียดอ่อนทางการเมือง เพราะอาวุธไม่ใช่รถเก๋งหรือเรือสำราญที่คิดจะซ่อมที่ไหนก็ได้ การคิดโจทย์ชุดนี้ต้องตระหนัก เพราะอาวุธเป็นสินค้าทางการเมือง ไม่ใช่สินค้าในภาวะปกติ”
ในแง่ของความคุ้มค่าและการหาตลาด อาจารย์สุรชาติ บอกว่า ตัวแบบกองทัพยุโรปเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะช่วงหลังตั้งแต่ปลายยุคสงครามเย็น กองทัพยุโรปพยายามสร้างอุตสาหกรรมอาวุธร่วม ด้วยการผลิตระบบอาวุธชุดหนึ่งที่ได้รับการยอมรับโดยมาตรฐานสหภาพยุโรป เป็นการผลิตร่วมกัน ขึ้นกับว่าประเทศไหนผลิตอะไรได้ดีมีคุณภาพ ก็จะให้ประเทศนั้นผลิต แต่จะไม่สร้างตัวแบบเหมือนในอดีต เช่น เครื่องบินฝรั่งเศส เครื่องบินเยอรมัน แยกขาดจากกัน
“เพราะเขาตระหนักแล้วว่าขนาดของกองทัพยุโรปไม่ใหญ่พอ ทำให้ทุกประเทศต้องลงขันแล้วผลิตอาวุธร่วมกัน ฉะนั้นในบริบทอย่างนี้ เราต้องตระหนักว่ากองทัพไทยไม่ใช่ตลาดขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมอาวุธคิดในมิติของการผลิตอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในตัวของมันอยู่เหมือนกัน รวมถึงบริบทใหญ่ที่สุด คือเงื่อนไขเทคโนโลยี ยิ่งนานวันเทคโนโลยียิ่งก้าวหน้า คำถามก็คือแล้วการลงทุนชุดนี้ เทคโนโลยีที่เราอยากได้คืออะไร”
เขายังตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า สงครามที่ไทยกำลังเผชิญ เช่น ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือสงครามก่อการร้ายที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ตอบโจทย์ด้วยยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ที่กองทัพอยากซื้อหรือลงทุนผลิตหรือไม่
“ต้องถามว่าเราจะลงทุนอะไร เรือดำน้ำ รถถัง หรือเครื่องบินรบสมรรถนะสูง เพราะคำถามคือตกลงเป้าหมายของสงครามสำหรับอาวุธพวกนั้นอยู่ตรงไหน ทำไมวันนี้ประเทศไทยลงทุนน้อยมากกับการเสริมสร้างศักยภาพในการป้องกันตัวเองจากสงครามก่อการร้าย และลงทุนน้อยมากกับการปกป้องชีวิตกำลังพลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้”
“อยากฝากเป็นเครื่องหมายคำถามใหญ่ๆ ของงานความมั่นคงไทยในปี 2560 เรากำลังส่งสัญญาณว่าการลงทุนของภาคความมั่นคงไทยจะย้อนกลับไปสู่โจทย์สงครามชุดเก่าที่สุดหรือไม่ เราเชื่อว่าเรากำลังเตรียมรบกับสงครามแบบเก่าในความหมายของสงครามขนาดใหญ่ เตรียมกำลังพลด้วยเงื่อนไขของอาวุธสมรรถนะสูง แต่ไม่แน่ใจว่าโจทย์สงครามแบบนี้มีความสำคัญกับเงื่อนไขการเมืองและสังคมไทยที่เรากำลังเห็นในอนาคตอย่างไร”
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 การทดสอบลูกปืนฝึกที่ใช้สำหรับยานเกราะล้อยาง
3 ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข