เปิด2ปมร้อนต้นเหตุภัยพิบัติใต้ ทวีความรุนแรงต่อเนื่อง
นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่กับเหตุการณ์น้ำท่วมล่าสุดในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้ามขวานทอง โดยเวลานี้ยังต้องเผชิญชะตากรรมต่อเนื่อง
ท่ามกลางมาตรการความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนน้ำใจจากประชาชนทั่วประเทศที่หลั่งไหลลงไปช่วยเยียวยาความเดือดร้อนอย่างเต็มความสามารถกับสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก
นายโกเมศร์ ทองบุญชู ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนการจัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน โดยคณะกรรมการพัฒนาตำบล และผู้ประสานงานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติพื้นที่ภาคใต้ โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประเมินสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมรอบนี้ว่า เป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์รอบ 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเห็นว่าภาพรวมนับตั้งแต่ เหตุการณ์สึนามิ 2547 ภัยพิบัติในพื้นที่ภาคใต้ทวีความรุนแรงทั้งความถี่และความเสียหายที่ขยายวงกว้างมาก หรือหากเจาะจงเฉพาะเรื่องน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้นั้นเกิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 เกือบทุกปีจนมาครั้งนี้ที่หนักที่สุด
ส่วนสาเหตุ เขาชี้ว่า มาจาก 2 ส่วนสำคัญคือ
1. การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก หรือภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้เกิดน้ำป่า น้ำท่วม น้ำแล้ง
2. เกิดจากน้ำมือมนุษย์ที่ทำลายป่า ตลอดจนการก่อสร้างทั้งหลายเช่นการ ถมที่ ตัดถนน ขวางทางน้ำ ประกอบกับชุมชนที่ขยายตัวโดยไม่มีการวางแผน เช่นที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ชาวบ้านไปปลูกบ้านแถวคลองชะอวดพอน้ำไหลลงมาจากเทือกเขาบรรทัดก็ต้องไหลไปตามลำคลองเมื่อมาเจอกับคอขวดก็ทำให้เกิดภาพอย่างที่เห็น
“ครั้งนี้หนักที่สุดถือเป็นภัยพิบัติที่รุนแรง ที่อ.ชะอวด น้ำที่มาจากจากเทือกเขาบรรทัด ฝั่งตะวันออก พอลงมาผ่านชะอวดซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำจากนั้นก็จะขยายวางกว้างไปสู่พื้นที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.หัวไทร อ.เชียงใหญ่ อ.ปากพนัง ที่จะท่วมหนัก ตอนนี้ระดับน้ำเรียกว่าวิกฤติ ส่วนหนึ่งมาจากน้ำท่วมไปแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปลายปียังไม่ทันระบายหมด ทิ้งช่วงไม่กี่วันฝนตกลงมาเพิ่มเหมือนปริมาณน้ำบวกสอง คือน้ำต้นทุนเดิมที่มีอยู่ และน้ำตกลงมาใหม่”
หากเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้ พื้นที่ภาคใต้เกิดเหตุน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้งช่วง เดือน พ.ย.- ม.ค. ส่วนใหญ่จะท่วมเฉพาะถนนเล็กๆ แต่วันสองวันก็กลับมาใช้การได้ปกติ ขณะที่ถนนสายหลักยังใช้ได้ปกติ
แต่เที่ยวนี้ อ.ชะอวด กลายเป็นเกาะถูกตัดขาด ต่างจากที่ผ่านมาซึ่งระดับน้ำสูงขึ้น และไหลมาอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเพราะน้ำท่วมครั้งก่อนส่งผลให้ลำคลองสาขาถูกทำลายไปแล้ว น้ำรอบใหม่จึงไหลลงมาเร็วกว่าเดิม
พอสิ้นเสียงเตือนน้ำก็มาถึงพอดี
ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติ เขาเล่าให้ฟังว่า ก่อนเกิดเหตุทางเครือข่ายได้ประสานงานกับทางฝ่ายปกครอง อ.ชะอวด มีการเฝ้าระวัง ตลอดจนแจ้งเตือนไปยังประชาชนโดยประชาสัมพันธ์ทางหอกระจายข่าว ขณะที่ทางกรมชลประทานได้แจ้งเตือนให้ประชาชนขนของขึ้นที่สูง แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะประชาชน เตรียมตัวระดับหนึ่ง คือ ปกติท่วมเท่านี้ครั้งนี้ ก็เตรียมตัวเท่าเดิม ไม่คิดว่าน้ำจะมามากกว่าเดิม
“ครั้งนี้เราจะเห็นว่า มีรถจนน้ำหลายคันเพราะคิดว่าเอาไปไว้ที่สูงแล้ว แต่ก็ไม่พ้นสุดท้ายพอน้ำท่วมก็ย้ายไปไหนไม่ได้ แม้แต่พ่อแม่ผมเองก็ไม่ได้อพยพไปอยู่ที่สูง ยังอยู่บ้าน เครือข่ายภาคประชาชนก็วิเคราะห์แล้วว่า ท่วมแน่ ทั้งน้ำปัจจุบัน น้ำเดิมที่มีอยู่ น้ำฝนในพื้นที่ และน้ำฝนที่ตกเหนือพื้นที่ที่จะต้องไหลมา
แต่ก็มีนักวิชาการบางสาขาบอกปริมาณน้ำฝนรอบนี้น้อยกว่าเที่ยวที่แล้ว ก็ต้องท่วมน้อยกว่า แต่ลืมนึกไปว่าน้ำเดิมมันมีอยู่ทำให้เกิดวิกฤติขึ้นมา” นายโกเมศร์ นำประสบการณ์มาวิเคราะห์เป็นฉากๆ
นายโกเมศร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญหาอีกส่วนอยู่ที่การแจ้งเตือนในพื้นที่ ซึ่งเมื่อหน่วยงานราชการไม่มีการแจ้งเตือนจากระดับบน ทำให้ในพื้นที่ก็ไม่กล้าสั่งอพยพหรือเตรียมการได้อย่างทันท่วงที พอสิ้นเสียงเตือนน้ำก็มาถึงพอดี
อีกส่วนคือข้อมูลวิชาการที่ฟังกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ฝนตกประมาณ 40 -70 % ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มันก็กว้างตั้งแต่ชุมพรถึงนราธิวาสการเฝ้าระวังจึงทำได้ยาก ดังนั้นจึงควรมีการปรับปรุงเรื่องข้อมูลให้ชัดเจนละเอียดขึ้น
ทว่า สิ่งที่สำคัญในการรับมือภัยพิบัติ คือ ต้องปลุกภาคชุมชนให้ลุกขึ้นมาร่วมมือจัดการกับปัญหาในพื้นที่ เพราะไม่สามารถพึ่งหน่วยงานภายนอกได้ในระยะเร่งด่วนวิกฤติ
ยกตัวอย่างที่ อ.ชะอวด มี 3 ตำบล ที่มีการตั้งอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติ เขาก็ไม่เดือดร้อนเพราะเตรียมตัวรับมือมีกระบวนการเรียนรู้ วิเคราะห์สถานการณ์ว่า ต้องอพยพไปจุดไหน มีการซ้อมทุกปี อาสาสมัครต้องขับเรือ ขับรถบรรทุกได้ มีการเตรียมอาหาร กำหนดพื้นที่ ตลอดจนลานจอดเฮลิคอปเตอร์กรณีฉุกเฉิน
สำหรับข้อปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ เบื้องต้นเมื่อมีเสียงเตือน ไม่ว่าจากหน่วยงานไหนต้องอพยพก่อน เริ่มจากเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ชุมชนจะต้องมีข้อมูลว่า บ้านไหนมีผู้ป่วยติดเตียง เด็ก คนชราเท่าไหร่ เพื่อจะได้อพยพได้ ซึ่งจะต้องเลือกพื้นพักพิงเป็นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง มีเส้นทางสัญจรเข้าถึงได้ เพื่อให้หน่วยงานที่จะเข้าไปช่วยเหลือทำได้สะดวก
ซึ่งเวลานี้มีเครือข่ายจัดการภัยพิบัติในพื้นที่ภาคใต้เพียงแค่ 40 ตำบลเท่านั้น
นายโกเมศร์ ชี้ว่า ที่ชาวบ้านบางส่วนไม่อพยพ เพราะยังเป็นห่วงบ้าน ห่วงทรัพย์สิน บางส่วนไม่คิดว่าจะท่วมหนักขนาดนี้ มารู้ตัวอีกทีน้ำก็ท่วมแล้วไม่สามารถออกมาได้ บางส่วนออกมาไม่ทันเพราะน้ำมาเร็วก็ไปติดอยู่ตามเสาไฟฟ้า หลังคาบ้าน เจ้าหน้าที่ต้องไปช่วยเหลือนำตัวออกมา และที่สำคัญคือต้องประสานกับการไฟฟ้าให้รีบตัดไฟในพื้นที่น้ำท่วม เพราะได้บทเรียนจากมหาอุทกภัยที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีคนเสียชีวิตจากถูกไฟดูดในช่วงน้ำท่วมจำนวนมาก
“เรามีบทเรียนจากน้ำท่วมครั้งที่ผ่านๆ มาในการสร้างกระบวนการเครือข่ายฯ ซึ่งสร้างได้ยาก เพราะการสร้างเครือข่ายอาสาจัดการภัยพิบัติต้องเอาจิตใจคนเป็นที่ตั้ง แม้จะมีทรัพยากรพร้อมก็ไม่ใช่ตั้งได้ง่าย เราต้องเอาผู้ที่ประสบภัยมาเรียนรู้ ” นายโกเมศร์ กล่าว
ฉะนั้น บทเรียนจากครั้งนี้เชื่อว่าคนที่จะเข้ามาเรียนรู้น่าจะเพิ่มมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
น้ำท่วม! แจกของ สเต็ปคนไทย แต่ไม่เคยเรียนรู้ป้องกัน เตือนภัย
จับตาลุ่มน้ำปราณฯ เพชรบุรีน่าห่วง ผอ. GISTHAIเตือนเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน