สัญญาณบวกพื้นที่ปลอดภัย สัญญาณบวกพูดคุยดับไฟใต้
ข้อแนะนำของนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เลขาฯสมช. พล.อ.ทวีป เนตรนิยม นำมาเล่าให้ฟัง เกี่ยวกับการพูดคุยกับ "มารา ปาตานี" เพื่อกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" นั้น นับว่าน่าสนใจและเป็นสัญญาณบวกต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ
เพราะสิ่งที่นายกฯให้นโยบายหรือแนวทางไปยังคณะพูดคุยฯ ที่นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล ก็คือ การกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" แบบไม่ต้องอิงพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น ตำบล หรืออำเภอ แต่เลือกบางสถานที่ เช่น โรงเรียน หรือเลือกกลุ่มคนเฉพาะ อาทิ ครู นักเรียน ที่เดินทางไปโรงเรียนต้องปลอดภัย...แบบนี้ก็ได้
ข้อเสนอลักษณะนี้นับว่า "แหลมคม" ในทางความมั่นคง และผ่อนคลายแรงกดดันที่มีต่อ "มารา ปาตานี" ลง แม้จนถึงขณะนี้นายกฯจะยังไม่ยอมเอ่ยชื่อกลุ่มนี้ต่อสาธารณะให้ดูเหมือนรัฐบาลยอมรับสถานะเลยก็ตาม
ที่ต้องบอกว่าคลายแรงกดดันก็เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า การพูดคุยเพื่อกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" นอกจากด้านหนึ่งจะทำเพื่อให้เกิดผลดีต่อสถานการณ์เพื่อขยาย "เขตสีขาว" ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเหตุรุนแรงแล้ว รัฐบาลไทยยังต้องการพิสูจน์ "ความเป็นตัวจริง" ของ มารา ปาตานี ด้วย
เพราะหาก "มารา ปาตานี" คุมกองกำลังในพื้นที่ไม่ได้จริง "พื้นที่ปลอดภัย" ที่ถูกขีดเส้นเอาไว้ เช่น ตำบลใดตำบลหนึ่ง หรืออำเภอใดอำเภอหนึ่ง ก็จะถูกท้าทายด้วยการก่อเหตุรุนแรงจากกลุ่มติดอาวุธ จนกลายเป็น "พื้นที่อันตราย" ยิ่งกว่าเป็น "พื้นที่ปลอดภัย" และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะกลายเป็นสาเหตุในการลดทอนเครดิตของ "มารา ปาตานี" ไปจนถึงขั้นลดระดับการพูดคุยลง หรือเลิกพูดคุยกันไปเลย เพราะพิสูจน์แล้วว่าเป็นการคุยกับ "ตัวปลอม"
นี่คือสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็นเจตนาที่แท้จริงของรัฐบาลไทยและฝ่ายความมั่นคง และก็ทำให้หลายฝ่ายเชื่อกันต่อไปว่า ถึงอย่างไรเสีย มารา ปาตานี ก็จะยื้อเรื่องการตกลงกำหนดเขต "พื้นที่ปลอดภัย" ไปเรื่อยๆ เพราะตัวเองคุมพื้นที่ไม่ได้จริงๆ อยู่แล้ว (ซึ่งฝ่ายความมั่นคงไทยเองก็คุมพื้นที่ไม่ได้ทั้งหมดเหมือนกัน จึงเป็นสาเหตุให้ต้องดึงกลุ่มผู้เห็นต่างมาร่วม)
แต่เมื่อนายกฯไฟเขียวให้เลือกกำหนดพื้นที่ปลอดภัยแค่ "บางสถานที่" และ "กลุ่มคนบางกลุ่ม" ก็ทำให้แรงกดดันเรื่องการดูแลพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างูตำบล หรืออำเภอ ซึ่งง่ายต่อการถูกแทรกซ้อนโดยกองกำลังที่คุมไม่ได้...ลดน้อยลง
แถมนายกฯยังยกตัวอย่างสถานที่ว่าเป็น "โรงเรียน" และยกตัวอย่างกลุ่มคนเป็น "ครูกับนักเรียน" ด้วย ซึ่งสถานที่อย่าง "โรงเรียน" นั้น ต้องถือว่าเป็น "พื้นที่สมควรปลอดภัย" อยู่แล้ว เช่นเดียวกับ "ครูและนักเรียน" ก็เป็น "กลุ่มเปราะบาง" ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ไม่ว่าเป็นสงครามที่ไหนในโลก เขาก็ไม่โจมตีโรงเรียน ทำร้ายครูหรือนักเรียนกัน
ฉะนั้นด้วยข้อเสนอแบบนี้ "มารา ปาตานี" ย่อมตัดสินใจง่ายที่จะร่วมลงนามกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" กับคณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทย เพราะตัวเองก็ประกาศมาตลอดว่าไม่มีนโยบายโจมตีเป้าหมายอ่อนแออยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าหลังจากนี้เกิดเหตุรุนแรงขึ้นตามโรงเรียน หรือเกิดเหตุการณ์ยิงครู ทำร้ายนักเรียน "มารา ปาตานี" ก็สามารถเคลียร์ตัวเองได้ไม่ยากว่าไม่ใช่การกระทำของฝ่ายตน
ขณะที่แรงกดดันต่างๆ จะถูกโยนไปอยู่ที่ "กลุ่มติดอาวุธ" ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่แทน ซึ่งไม่ว่าจะสังกัดบีอาร์เอ็นหรือกลุ่มอื่นใด หากยังเดินหน้าก่อเหตุตามโรงเรียน หรือทำร้ายเป้าหมายอ่อนแอ ก็จะยิ่งถูกประณาม และมีโอกาสถูกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะการกำหนดให้โรงเรียน ตลาด วัด มัสยิด เป็นพื้นที่ปลอดภัย ก็เป็นข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคม โดยเฉพาะกลุ่มสตรีในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ในทางกลับกันหาก "มารา ปาตานี" ยังไม่ยอมรับข้อเสนอแบบนี้ของนายกฯ ก็อาจถูกมองว่าที่ผ่านมาจ้องจะโจมตีโรงเรียน ทำรายเป้าหมายอ่อนแอหรืออย่างไร ฉะนั้นโอกาสที่ "มารา ปาตานี" จะยอมรับเงื่อนไข และร่วมสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" ในระยะเริ่มแรกกับรัฐบาลไทยย่อมมีมากขึ้น อันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีกับการสานต่อกระบวนการพูดคุยต่อไป
ส่วนการดูแลพื้นที่ปลอดภัย ก็ใช้กลไก "ประชารัฐร่วมใจ" คือการจับมือระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชน ซึ่งพัฒนาต่อเนื่องมาจาก "ทุ่งยางแดงโมเดล" ได้ทันที โดยมี "มารา ปาตานี" มาร่วมเป็นกลไกดูแลพื้นที่ หรืออยางน้อยก็ร่วมสอบสวนว่าเหตุรุนแรงที่หากเกิดขึ้น เป็นการกระทำของกลุ่มใด
ฝ่ายรัฐก็ไม่จำเป็นต้องถอนกำลัง เพราะอยู่ในสถานะ "ผู้รักษาความปลอดภัย" เพียงแต่อาจต้องลดหน่วยถืออาวุธที่ไปปฏิบัติการตามโรงเรียนลง แล้วใช้กองกำลังภาคประชาชนให้มากขึ้นแทน
แนวทางแบบนี้จึง "ได้" มากกว่า "เสีย"
แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจและเฝ้าระวังร่วมกันต่อไปก็คือ ความเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนจะปลอดจากการถูกโจมตี ครูและนักเรียนจะพากันปลอดภัย 100% เพราะที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์ชัดแล้วว่า กลุ่มติดอาวุธที่ก่อเหตุในปัจจุบัน ไม่ได้สนใจงดเว้นการใช้ความรุนแรงตามสถานศึกษาหรือกับกลุ่มเปราะบางตามหลักสากลสักเท่าไหร่ ซึ่งการจัดการกับพวกหัวรุนแรงสุดโต่งกลุ่มนี้ก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป
เพียงแต่ข้อเสนอของนายกฯ ทำให้เห็นทิศทางดีๆ ของการทำงานร่วมกันระหว่างคณะพูดคุยฯของรัฐบาล กับ "มารา ปาตานี" และเป็นท่าทีที่แสวงหามิตร ไม่ใช่เพิ่มศัตรูเหมือนที่ผ่านมา
ขณะที่ "มารา ปาตานี" ก็น่าจะตระหนักแล้วว่ายังจะต้องพบหน้าค่าตารัฐบาลทหารชุดนี้ไปอีกนานพอควร โดยเฉพาะจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ฉะนั้นความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย ถ้าเกิดขึ้นได้จริงย่อมดีกว่ามุ่งรอพูดคุยกับรัฐบาลเลือกตั้ง...
เพราะนั่นคงไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี่แน่นอน!