นักเศรษฐศาสตร์ มธ. ชี้จับตา "ทรัมป์" ตัวแปรสำคัญ เศรษฐกิจโลก-ไทยผันผวน
นักเศรษฐศาสตร์ มธ. เห็นพ้องปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก คือ โดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.สหรัฐฯ คนใหม่ จะทำอะไรในช่วง 3 เดือนแรก หลังสัญญาไว้มากช่วงหาเสียง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการเงิน เปรียบความผันผวนเศรษฐกิจโลก คล้ายกลัวน้ำท่วม ยันความกลัวจะทำให้ระวังไปทุกอย่าง แนะเป้าเศรษฐกิจไทยไม่จำเป็นต้องเร่งรีบจนเกินไป ควรไปแบบที่มีพื้นฐานที่ดี-มั่นคง และทำให้คุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้น
วันที่ 11 มกราคม คณะเศรษฐศาสตร์. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์เศรษฐกิจธรรมศาสตร์ (Thammasat Economy Center : TEC) ณ โรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ
ช่วงหนึ่ง ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผอ.ศูนย์เศรษฐกิจธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเส้นทางเศรษฐกิจไทยบนความผันผวนของเศรษฐกิจโลกว่า ปัจจัยเสี่ยงของปัญหาเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ถ้ามองในช่วงเดือนกว่าๆที่ผ่านมาจะผูกกับปี 2559 รัฐบาลได้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาจำนวนมา และการกระตุ้นการลงทุนในภาคเอกชน ซึ่งปี 2560 จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวันที่ 20 มกราคมนี้ นั่นคือพิธีสาบานตนของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก
"ประเด็นคือประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมในการรองรับการผันผวนมากน้อยแค่ไหน เมื่อมีการผันผวนทางเศรษฐกิจรัฐต้องใช้นโยบายทางการเงิน นโยบายการคลัง เข้ามาแก้ไขปัญหา การใช้เครื่องทางด้านการเมืองในการรักษาเสรีภาพในระบบเศรษฐกิจของไทยจริง ๆ มีผลค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะใช้นโยบายทางด้านการคลังเข้ามาจัดการ หากโดนัลด์ ทรัมป์ ทำตามที่ได้เคยประกาศไว้ เช่น การขึ้นภาษี หรือ กีดกันการค้าระหว่างประเทศ ล้วนจะส่งผลกระทบกับประเทศไทย ตรงนี้ต้องดูว่าประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมมากน้อยแค่ไหน"
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวอีกว่า ส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทย คือด้านบริการและจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งปีที่แล้วรัฐบาลมีการปราบปรามเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญของนักท่องเที่ยวชาวจีน ถึงแม้การปราบทัวร์ศูนย์เหรียญจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไม่มาก แต่จำนวนของนักท่องเที่ยวที่ลดลงก็ได้ส่งผลกระทบต่อภาคบริการ เพราะการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น
"อีกอย่างที่จะได้เห็นในปีนี้ คือภาคการเงินที่จะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากปัจจุบันสถาบันการเงินปิดสาขาลง การปิดสาขาสะท้อนให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนคนในการทำงาน สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบในเรื่องของการปรับตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะกลางและระยะยาว" ศ.ดร.สกนธ์ กล่าว และว่า คำถามคือในไตรมาสแรกเรื่องของนโยบายของภาครัฐอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่คุณภาพของนโยบายที่ออกมาที่จะสามารถรองรับต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่
ศ.ดร.สกนธ์ กล่าวถึงการตั้งศูนย์เศรษฐกิจธรรมศาสตร์ ก็เพื่อเป็นช่องทางเผยแพร่ผลงานของอาจารย์ในธรรมศาสตร์ให้ไปสู่สังคมโดยรวมได้อย่างทั่วถึง โดยการสื่อสารองค์ความรู้ที่มีความเข้มข้นทางวิชาการนำมาปรับเปลี่ยนให้อธิบายความให้ประชาชนทั่วไป และได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะลงข้อมูลข่าวสารประมาณเดือนละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย โดยเนื้อหาที่จะนำเสนอต้องเป็นเนื้อหาที่สามารถเข้าใจได้ง่ายและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป โดยยังเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านเศรษฐศาสตร์ของสังคมไทยด้วย
ศก.โลกไตรมาส 1-2 โตช้า
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงของปัญหาเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ โดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาจะทำอะไรในช่วง 3 เดือนแรก เพราะทรัมป์ให้สัญญาไว้มากในช่วงของการหาเสียงจนสามารถชนะการเลือกตั้งได้ และคำสัญญาแต่ละอย่างได้ส่งสัญญาณอันตรายต่อเศรษฐกิจโลกหรือความมั่นคงของโลกค่อนข้างมาก หากทรัมป์ทำตามที่สัญญาไว้นั้นจะเป็นตัวบ่งบอกเองว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นหรือไม่ฟื้น
สำหรับเศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกหรือไตรมาสที่ 2 รศ.ดร.อาชนัน กล่าวว่า จะชะลอตัวและโตช้ากว่าที่สถาบันการวิจัยสำนักอื่นคาดการณ์เอาไว้ เพราะทุกคนกำลังจับตามองว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะทำอะไรบ้าง หากเศรษฐกิจชะลอตัวจริงนั้นหมายความว่าภาครัฐจะต้องเข้ามากระตุ้น ซึ่งต้องมาคิดโจทย์ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรให้อยู่ได้ยาวและยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัว และประเด็นคือต้องทำให้ภาคเอกชนเริ่มลงทุน เพราะการลงทุนของภาคเอกชนไม่ฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2540 ถ้าไปดูตัวเลขการออมจะเห็นได้ว่า ภาคธุรกิจออมมากขึ้น แต่ภาคครัวเรือนออมน้อยลง เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาคธุรกิจไม่กล้าลงทุนเป็นเพราะเรื่องการเมืองภายในและความขัดแย้งของการเมืองไทย ภาครัฐควรกระตุ้นไปยังภาคธุรกิจให้ลงทุนมากยิ่งขึ้นแบบนี้จะเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยได้ยั่งยืนและไม่สร้างภาระหนี้ให้กับภาครัฐมากเกินไป
แนะภาครัฐเตรียมรับมือ
ส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ ศรีพินิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกจะต้องมองถึงความผันผวนจากในประเทศและต่างประเทศ ภาครัฐควรที่จะต้องเตรียมรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจโลกเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาในอนาคต โดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างความกลัวและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก หากดูถึงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณที่ค่อย ๆ ดีขึ้น อาจจะมีปัจจัยภายนอกเข้ามาป่วนบ้าง แต่ถ้าโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยเข้มแข็งจะสามารถยืนระยะต่อไปได้
"ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกเปรียบเทียบแล้วคล้ายกลัวน้ำท่วม ความกลัวจะทำให้รู้สึกต้องระวังไปทุกอย่าง ทั้งที่ไม่รู้จะท่วมหรือไม่ท่วม แต่ถ้ามีการรับมือที่ดีก็จะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง " ผศ.ดร.ธีรวุฒิ กล่าว และว่า เศรษฐกิจไทยไม่จำเป็นต้องเร่งรีบจนเกินไป ควรจะไปแบบที่มีพื้นฐานที่ดีและมั่นคง จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น
ผศ.ดร.ธีรวุฒิ กล่าวถึงเป้าหมายของเศรษฐกิจไทยในวันนี้ด้วยว่า ไม่ใช่การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดที่เป็นเป้าหมายหลัก แต่ควรเป็นการเจริญเติบโตแบบเท่าเทียบและพอเพียงไปเรื่อยๆ ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะรุนแรงแค่ไหนเศรษฐกิจไทยก็จะสามารถรับมือได้ เป้าหมายนี้อาจจะไม่ทำให้ประเทศไทยรวยมากแต่จะสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยยั่งยืนต่อไปได้ โครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจไทยค่อนข้างดี ไม่จำเป็นต้องรีบจนเกินไป ปีนี้เป็นปีที่ดีรัฐบาลสามารถที่จะวางพื้นฐานที่ดีเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น การลดปัญหาคอรัปชั่นได้อย่างจริงจังและสามารถบรรทัดฐานของสังคมให้ดีขึ้นจะเป็นพื้นฐานที่ดีให้กับสังคมในระยะยาวต่อไป