น้ำท่วม! แจกของ สเต็ปคนไทย แต่ไม่เคยเรียนรู้ป้องกัน เตือนภัย
“เรายังติดกับการทำงานแบบเดิมไม่ยอมเรียนรู้สิ่งที่คนไทยชอบคือการฟื้นฟูทุกคนจะชอบทำมากเพราะใช้เงินเยอะและทุกอย่างก็วนลูปกลับมาเหมือนเดิมในอีกปีสองปีข้างหน้า "
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 จนถึงปัจจุบัน (10 มกราคม 2560) เป็นเวลาร่วม10 วันที่หลายจังหวัดภาคใต้ ล่าสุดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต้องเผชิญกับอุทกภัยรุนแรงในหลายพื้นที่ ซึ่งทางด้าน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ออกกมากล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ว่าฝนที่ตกหนัก พื้นที่ภาคใต้ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีมีจังหวัดได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 12 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ รวม 111 อำเภอ 663 ตำบล 4,993 หมู่บ้าน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ประชาชนได้รับผลกระทบ 369,680 ครัวเรือน 1,105,731 คน
- ผู้เสียชีวิต 25 ราย
- สูญหาย 2 ราย
- สถานที่ราชการเสียหาย 5 แห่ง
- ถนนได้รับความเสียหาย 218 จุด
- คอสะพานได้รับความเสียหาย 59 แห่ง
- โรงเรียนเสียหาย 1,791 แห่ง
จนถึงวันที่ 10 ม.ค. ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 1 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ยังคงมีสถานการณ์ใน 11 จังหวัด หรืออีกกว่า 92 อำเภอ 556 ตำบล 4,299 หมู่บ้านที่ยังคงมีน้ำท่วม
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้พูดคุยกับทาง ผศ. ดร.สมบัติ อยู่เมือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[ GISTHAI ]
ผศ.ดร.สมบัติ อธิบายสถานการณ์จากฝนหนักต่อเนื่องนานกว่าปกติ ในรอบ30-40 ปี (หนักและกว้างกว่าปี 2554) ทั้งยังตกสะสมกระจายกว้างตั้งแต่ต้นน้ำในแต่ละลุ่มน้ำฯ น้ำจากเทือกเขาสูงต้นน้ำจะมาเร็วแรงและพาตะกอนทุกอย่างมา ผ่านล้นทางน้ำ และเมื่อลงที่ราบลุ่มจะแผ่กระจายไปทั่วที่ราบลุ่มที่มีน้ำสะสมอยู่ด้วย ทำให้ระดับน้ำในแต่ล่ะลุ่มน้ำมีปัญหาในการสะสม ระบาย ท่วมขัง กักเอาไว้
อีกทั้งตามธรรมชาติ และสาธารณูปโภค ถนนขวางทางน้ำ มีการทำท่อ/สะพานระบายน้ำผ่านน้อย เมื่อไหลรวมมาออกที่ราบลุ่มต่ำ ซับน้ำ ปากแม่น้ำริมทะเล ยิ่งมีปัจจัยที่ทำให้การระบายยากขึ้น รวมทั้งผังเมืองถนนก็ขวางน้ำออกทะเล บวกกับน้ำทะเลหนุน และที่ราบลุ่มต่ำมากตลอดชายฝั่ง
เมื่อแต่ละลุ่มน้ำมีปัจจัยต่างกันไป ทั้งขนาดรูปร่าง ภูมิประเทศ พื้นที่รับน้ำ ผังเมือง ผศ.ดร.สมบัติ ชี้ว่า ต้องดูปัจจัยในแต่ละลุ่มให้ละเอียด การออกแบบอาคาร บ้านเรือน ที่มีแนวโน้มเป็นบ้านชั้นเดียวในที่ราบลุ่มมากขึ้น ยิ่งเสี่ยงต่อความเสียหายและหลบภัยลำบาก
ขณะที่การตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ทางน้ำที่ลงจากเขา ที่เจอน้ำปนตะกอนหลากลงมาจะอันตรายมาก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อปัจจัยด้านที่อยู่อาศัยและที่สำคัญคือการสูญเสียชีวิต
วิเคราะห์น้ำต้องลงลึกระดับลุ่มน้ำ
ผศ.ดร.สมบัติ วิเคราะห์จากแผนที่ โดยระบุชัดว่า การมองต้องมองตั้งแต่ต้นน้ำที่ลงมาจากเขา ตะกอนพาน้ำแรงๆ มา ภูมิประเทศพวกนี้เราต้องเข้าใจ ต้องทราบจะเห็นว่าข่าวที่เกิดขึ้น
"เราได้ยินเรื่องถนน ขาด สะพานขาด ทั้งหมดอยู่บนทางน้ำไหล จากนั้นเริ่มลงสู่ที่ราบ ซึ่งที่ราบมีสองส่วน คือ
(1)ที่ราบตีนเขา เป็นที่ราบตะกอนจะมากองตรงช่องทางน้ำ
(2)ที่ราบลุ่มที่เชิงทะเล ในจังหวัดอย่างนครศรีธรรมราช สุราษฏรธานี จะเห็นได้ชัด พื้นที่ตรงนั้น เป็นพื้นที่ราบต่ำชายทะเล โดยธรรมชาติคือพื้นที่ซับน้ำ ซึ่งที่ราบดังกล่าวส่วนมากคือ ชุมชนหรือเมืองมักจะตั้งอยู่ตรงนี้ ดังนั้นความเสียหายจะมากองที่นี่
หากมองตรงนี้ให้ออก จะรู้ว่าความรู้เรื่องภูมิประเทศสำคัญตรงนี้ วันนี้เราทำงานที่ปลายเหตุ เข้าไป ไม่ได้จัดการตั้งแต่ต้นน้ำ ไม่รู้ปริมาณน้ำจากต้นน้ำบนภูเขามีเท่าไรถึงเวลาท่วมเเล้วยังไม่รู้ว่าที่ไหลลงมาเท่าไร ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ"
คนไทยไม่สนใจเรื่องผังเมือง
ผศ.ดร.สมบัติ ยืนยันว่า วันนี้เรามีพื้นที่ซับน้ำน้อยมากเรียกว่าอยู่ในระดับ เศษ1 ส่วน10 ด้วยซ้ำ แต่ปรากฏว่า มีความสำคัญมากในแง่ของการสร้างความสูญเสียหรือเสียหาย เช่นการวางถนนขวางน้ำ ผังเมืองไม่ได้มีการเตรียมการที่ดีในการระบายน้ำที่ลงมา ให้เป็นระบบที่ดี หรือมีเเล้วก็ไม่สามารถควบคุมเมืองหรือชุมชนที่ขยายเพิ่มขึ้นไปขวางทางน้ำได้ ยิ่งทำให้โอกาสของความสูญเสียมากขึ้น
“เเม่น้ำส่วนใหญ่ในภาคใต้ไหลจากตะวันตกไปตะวันออก ถนนจะวิ่งลงใต้ สิ่งแรกคือโครงสร้างที่ขวางทางน้ำ เราไม่ได้มีการสร้างระบบระบายน้ำที่เพียงพอ เราจึงเห็นภาพถนนขาด สะพานขาาด”
ผอ.GISTHAI ยังมองถึงการพัฒนาเมืองในปัจจุบันไม่ได้คำนึงถึงพื้นที่รับน้ำ มักจะดีไซน์เมืองก่อนแล้วค่อยมา สร้างที่รับน้ำทีหลัง ยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหา ยากมาก
เขายกตัวอย่าง เมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น
“เรามักมองเรื่องภัยพิษัติเป็นเรื่องรอง จริงๆ ต้องมองไปพร้อมกันกับการพัฒนาเมือง”
รัฐทำงานไม่ประสานกัน
ผศ.ดร.สมบัติ ชวนคิดต่อว่า วันนี้เรายังไม่รู้ว่าน้ำที่ตกจากฟ้ามีเท่าไร ไม่สามารถคำนวนเป็นปริมาณได้ ทุกคนจะบอกในเชิงว่า ฝนตกภาคใต้ ตอนเหนือ บน กลาง ตกหนัก ตกเบา ลมแรงเท่าไร แต่พอจะเอาปริมาณในแต่ลุ่มน้ำย่อยไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีใครเอาน้ำฝนมาบวกลบเป็นปริมาตรที่สามารถทำการจำลองการไหลจากลุ่มน้ำ ว่าจะเดินทางด้วยความเร็วเท่าไร ไปถึงไหน ซึ่งตรงนี้ต้องมีหน่วยงานเข้าไป ต้องมีกรมทรัพยากรน้ำ มีกรมชลประทาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องเอาข้อมูล มาช่วยตรวจสอบเช่น ภาพจากดาวเทียม แผนผังของกรมพัฒนาที่ดิน
นี่คือการนำเอาข้อมูลมาบูรณาการ เพื่อกำหนดทิศทางเตือนภัย แต่ตอนนี้ต่างคนต่างโยนข้อมูลตัวเองขึ้นมาแบบกองๆ ที่เหลือไปคิดเอาเองว่าจะลงบ้านใคร เพราะฉะนั้นชาวบ้านที่ได้รับข่าวก็จะคุ้นชิน เพราะยังไม่รู้สึกว่ามาถึงบ้าน
“วันนี้สิ่งที่คนไทยต้องการคือการการรวมศูนย์ข้อมูลทั้งหมด โดยเอามาบูรณาการเพื่อให้เกิดการวางแผนระยะยาว มีประสิทธิภาพในการเตือนภัย มีข้อมูลที่จะอธิบาย ระดับการป้องกัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
“เราไม่เห็นการทำงานในรูปแบบนี้หรือไม่” ผอ.GISTHAI ตั้งไว้เป็นคำถาม ไว้อย่างน่าสนใจ พร้อมกับยกตัวอย่างน้ำท่วมในนครศรีฯ ว่า เห็นมีแค่กระดาษเอสี่ ปริ้นแผนที่มาดูทั้งจังหวัด ถามว่าจะทำแค่นั้นจะเห็นอะไร เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือข้อมูลภาพดาวเทียมต้องนำมาใช้ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลภาคสนามให้ดี อาศัยการบูรณาการตั้งแต่ น้ำ ฟ้า ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน การเข้าไปดูเเลโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ตัวจังหวัดเอง ท้องถิ่นต้องตัดสินใจร่วมกันในแต่ละลุ่มน้ำ
ยกตัวอย่างแม่น้ำตาปีที่ใหญ่มาก และยังมีลุ่มน้ำย่อยอีกมาก ซึ่งลุ่มน้ำย่อยเหล่านั้นต้องมีหน่วยงานย่อยที่คอยเฝ้าระวังอีก ช่วยดูต้นทาง
“ที่สำคัญวันนี้เราไม่มีการเก็บค่าน้ำฝนในที่สูงเลย ค่อนข้างจะน้อยมาก ค่าต่างๆ มักอยู่ในที่ราบ ซึ่งต้นทางน้ำเราไม่รู้ จะรู้เมื่อมาถึงเเล้ว นั่นคือปัญหาของระบบเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันภัย ซึ่งต้องอาศัยหน่วยงานรัฐในการจัดการ ไม่งั้นไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย”
WAR ROOM ที่หายไป
ผศ.ดร.สมบัติ ย้ำขัดว่า สถานการณ์วันนี้เราต้องมี วอร์รูม(war room)เเล้วที่ต้องบัญชาการทุกอย่างมากกว่าแค่การช่วยเหลือ เพราะการช่วยเหลือถือเป็นปลายเหตุ แต่การป้องกันการเตือนการเปลี่ยนสถานการณ์ลุ่มน้ำ จะต้องมีคนวิเคราะห์ตลอดเวลา
"เช่นตอนนี้สถานการณ์ขยับขึ้นมาภาคใต้ตอนบน พื้นที่อ.บางสะพาน ประจวบฯที่เพิ่งขาดไป ถามว่าเเล้วที่อื่นจะหนักอีกไหม ตรงไหนที่ล่อแหลมอีก คงต้องระวังตรงนั้น เราจะดูแค่ถนนขาดไม่ได้ ต้องดูต้นน้ำ ของลุ่มน้ำสายอื่นๆ ที่ใกล้กันด้วย"
ก่อนไล่แผนที่ ขยายให้ดู "ตรงเทือกเขาตะนาวศรี ที่ไหลลงมาในแต่ละลุ่ม อย่างลุ่มน้ำบางสะพาน มีปราณบุรี ถัดมา เพชรบุรีที่เพิ่งรับน้ำไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ฉะนั้นน้ำในอ่างเก็บน้ำตอนบนตอนนี้ก็หนักอยู่เเล้ว ถ้าตกหนักเกินอีกสามวันยิ่งอันตราย เพราะเพชรบุรีที่ราบค่อนข้างต่ำมาก การผันน้ำจะยิ่งลำบาก ฉะนั้นเราจะต้องมองภาพให้ออกว่าน้ำกำลังจะมาอีก เรามองภาพในแต่ละลุ่มน้ำให้ชัด"
ผศ.ดร.สมบัติ บอกว่าวันนี้เรามีโครงสร้างสาธารณูปโภคใหญ่ๆ เยอะมาก การทำงานที่ผ่านมาคือทำแบบตั้งรับ ไปช่วยอย่างเดียว แต่ไม่สามารถมีความรู้ ภูมิปัญญาทางพื้นที่ภูมิศาสตร์ ตั้งแต่ข้อมูลที่จะคอยวัดคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะเกิดตรงไหน หมู่บ้านอะไร ลงตรงไหน เคยเกิดไหมตรงนี้ เราไม่มี
“เชื่อว่าภาควิชาการมีหมด แต่ภาครัฐกลับทำหน้าที่แบบเดิมๆ ต่างคนต่างทำ ซึ่งก็ผิด แต่ทั้งหมดอยู่บนเรื่องเดียวกันคือภูมิศาสตร์ ต้องเชื่อมโยงทุกอย่างให้เข้าหากันเพราะทุกอย่างสัมพันธ์กัน ภาครัฐต้องจริงจังให้มาก ด้วยหากจะใช้คอนเซ็ปต์ 4.0 จะมีแค่ตัวเลขไม่ได้ ต้องมีการปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรม มืออาชีพ มีความรู้ ที่เข้าใจในเรื่องการจัดการน้ำ วันนี้สงสารคนที่เดือดร้อน เพราะไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย"
คนไทยไม่เคยเรียนรู้จากอดีต
และเมื่อถามว่าวันนี้เราเรียนรู้การวางแผนป้องกันระยะยาวอย่างไร ผศ.ดร.สมบัติ นิ่งไปสักพัก ก่อนตอบ "ไม่มี" เพราะที่ผ่านมา ไทยไม่เคยเอาสิ่งที่เกิดนี้เป็นบทเรียนย้อนหลัง อย่างเช่น ช่วงที่เตือนภัย เราจะเตือนยังไง ช่วงที่เกิดวิกฤติเราจะทำอย่างไร ช่วงฟื้นฟูเช่น ถนนเราจะยังทำเหมือนเดิมไหนี่คือการเรียนรู้ตามขั้นตอนมาตรฐานสากล
“เราเรียนรู้น้อย ทำตามความเคยชิน เอาสะดวก ไม่ลงรายละเอียด ทำไมในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านลงรายละเอียด ถ้าเราไม่ลงรายละเอียด เราจะช่วยอย่างไร เราก็เลยมั่วกันไปหมดทุกวันนี้”
ขณะที่หากตามข่าวในช่วงที่ผ่านมาพบว่าภาคพลเมืองมีส่วนในการช่วยกันเองมากกกว่าที่รัฐเข้าไปช่วยด้วยซ้ำ รัฐเข้าไปช่วยช้ากว่าเอกชนมาก เราไปเน้นบริจาคเงิน ทั้งๆ ที่องค์ความรู้ในการป้องกันช่วยได้มากกว่า
ผศ.ดร.สมบัติ กล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้สิ่งที่ชาวบ้านอยากรู้มากกว่าการได้เงินคือ บ้านเขาจะท่วมอีกไหม ดินจะถล่มหรือป่าว จะอพยพกันตอนไหน
“หากเรายังติดกับการทำงานแบบเดิม เราไม่ยอมเรียนรู้ ไม่พัฒนา มองทุกอย่างเป็นปัญหาเฉพาะกิจ น้ำลด เราก็ลืม และรอให้เกิดใหม่"ซึ่งก็จะวนอยู่อย่างนี้
ทั้งหมดก็กลับไปที่ “ผู้นำ” ว่าจะจริงจังแค่ไหนในการลงรายละเอียด ซึ่งสากลทำไปมากมายแล้ว และยั่งยืนมาก
ถึงตอนนี้เรายังไม่มีแม้กระทั่งวอร์รูม ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้แสดงท่าทีอะไรมากไปกว่าการลงพื้นที่แค่ครั้งเดียว ปล่อยให้ภาคพลเมืองจัดการกันเองเสียมากกว่า
สิ่งที่รัฐทำตอนนี้เหมือนกำลังบอกว่าตัวใครตัวมัน ทั้งๆ ที่การบริหารต้องเอาหัวใจเข้ามาช่วย ขณะเดียวกัน สิ่งที่คนไทยชอบคือ การฟื้นฟูทุกคนจะชอบทำมาก เพราะใช้เงินเยอะ และทุกอย่างก็วนลูปกลับมาเหมือนเดิมในอีกปีสองปีข้างหน้า"
ถึงตอนนี้หลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหา และเราได้เห็นความร่วมมือกันของหลายฝ่ายในการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่คำถามที่อดคิดไม่ได้คือ เราเรียนรู้อะไรจากภัยที่ประสบ เราเคยเอาบทเรียนเหล่านั้นมาสร้างเกราะป้องกัน ปรับปรุงเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่
หรือเราจะก้มหน้าก้มตาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ น้ำท่วมทีก็เสนอโครงการพันล้านมาปรับปรุงในฐานะของการฟื้นฟูที่วนลูปซ้ำแล้วซ้ำเล่า....
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
จับตาลุ่มน้ำปราณฯ เพชรบุรีน่าห่วง ผอ. GISTHAIเตือนเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน
ขอบคุณภาพประกอบจาก