ดร.เดชรัต ยันแม่น้ำโขง มีความหลากหลายชีวภาพอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก
ดร.เดชรัต จี้นายกฯ ประยุทธ์สอบทานข้อมูลให้แน่ชัด ทรัพยากรหมดแม่น้ำโขง ยันแม้แม่น้ำโขงจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน-ระเบิดแก่ง แต่ก็ยังเป็นลุ่มน้ำที่มีความสมบูรณ์ มีหลากหลายชีวภาพอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก แถมค้นพบสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ๆอยู่เสมอ
กรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2559 มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาฯ เพื่อเปิดทางให้เรือพาณิชย์ระวางน้ำหนัก 500 ตัน ล่องจากประเทศจีนไปยังท่าเรือหลวงพระบางประเทศลาว ซึ่งต่อมากลุ่มอนุรักษ์เชียงของและชาวบ้านคัดค้าน เนื่องจากส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเกาะแก่ง เมื่อมีการเปิดร่องน้ำลึกในแม่น้ำโขง อีกทั้งจะทำลายพืชพันธุ์และทรัพยากรด้วยนั้น
วันที่ 10 มกราคม เวลา 13.45 น. ณ ห้องโถงตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงประเด็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงว่า อยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ถึงการดำเนินการ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินการจะต้องปรึกษาหารือกับประเทศสมาชิกเพื่อนบ้านเพื่อหาทางออกร่วมกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว และมิได้ปล่อยปะละเลยให้ส่งผลกระทบแต่อย่างใด เพราะการระเบิดพื้นที่ดังกล่าวอาจทำให้ส่งผลกระทบต่อร่องน้ำลึกและเส้นแบ่งเขตแดน แต่หากจะต้องระเบิดร่องน้ำลึกจริง ประเทศไทยก็จะมีพื้นที่ที่ขยายขึ้น พื้นที่ราชอาณาจักรไทยเพิ่มขึ้น นั่นก็จะส่งผลที่ไม่น่าพอใจกับประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ประเทศไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหารือร่วมกับรัฐสภาด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมศึกษาหาข้อมูลทั้งในเรื่องของผลกระทบต่อพืชไร่ชายฝั่ง และระบบนิเวศวิทยา รวมถึงผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการอย่างรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวัง รวมไปถึงจะต้องใช้ระยะเวลาในหารือ และหาข้อตกลงให้ชัดเจนก่อนดำเนินการ
ขณะที่ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความลงเฟสบุคส่วนตัว ระบุว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ แต่การดำเนินการในแม่น้ำโขงอาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศต่างๆ ในลุ่มน้ำโขง ที่ผ่านการสร้างเขื่อนและการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ได้สร้างผลกระทบให้กับประเทศต่างๆ ทั้งเวียดนาม กัมพูชา ลาว และไทย ดังนั้น รัฐบาลของประเทศนั้นๆ (รวมถึงรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) จึงมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลผลประโยชน์ของประเทศตนเอง
“การอ้างว่าเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศแล้วประเทศไทยจะไม่เสียประโยชน์นั้นเป็นละเลยหน้าที่รับผิดชอบดังกล่าว”
ส่วนก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอบข้อถามถึงผลกระทบด้านทรัพยากรว่า “ทรัพยากรหมดมาตั้งแต่ข้างบนแล้ว โดยปัญหาในวันนี้คือน้ำข้างบนไหลลงมาข้างล่างก็ยังไม่พอ”นั้น ดร.เดชรัต กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง แม้ทุกวันนี้ แม่น้ำโขงจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการสร้างเขื่อนและการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง แต่แม่น้ำโขงก็ยังเป็นลุ่มน้ำที่มีความสมบูรณ์ในแง่ความหลากหลายชีวภาพอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก ยังมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ๆในลุ่มน้ำโขงนี้อยู่เสมอ
“ท่านนายกฯ ควรเรียกหน่วยงานที่ให้ข้อมูลเช่นนี้กลับท่านมาสอบทานให้แน่ชัด และควรให้หน่วยงานดังกล่าวออกมาเสนอข้อมูลที่ชัดเจนต่อสาธารณะ รวมถึงตอบข้อซักถามของสาธารณะด้วย”
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/pai.deetes?fref=ts
ดร.เดชรัต กล่าวถึงทรัพยากร และการทำประมงพื้นบ้าน ว่า น้ำในลำน้ำมูน ยังไม่ได้ตื้น ลำน้ำมูนยังมีทั้งส่วนที่ลึก (เช่น ส่วนที่เรียกว่า วัง) และส่วนที่ตื้น ตามระบบนิเวศดั้งเดิมของลุ่มน้ำมูนตอนล่าง และภูมิปัญญาในการหาปลา/สัตว์น้ำของไทยตั้งแต่โบราณกาล ก็สามารถจับปลาได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึกอยู่แล้ว แล้วแต่ภูมิประเทศและชนิดของปลา/สัตว์น้ำ
“ในช่วงที่เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล และในช่วงที่ปลาอพยพจากลำน้ำโขงขึ้นมาในลำน้ำมูน ชาวประมงทั้งในท้องถิ่นและนอกท้องถิ่นสามารถเข้ามาจับปลาจนเป็นอาชีพหลักในช่วงเวลาดังกล่าว มีรายได้พอเพียงตั้งแต่ 500 บาท ถึงเป็นหลักพันต่อวัน แล้วแต่กรณี การหาปลาจึงเป็นอาชีพที่ยังมีความสำคัญสำหรับชุมชนในลุ่มน้ำมูลตอนล่าง” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าว และว่า ที่นายกฯ ถามว่า “ประมงพื้นบ้านหาเงินได้วันละเท่าไร” อาจไม่สำคัญเท่ากับ ถ้ามีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ชาวประมงพื้นบ้านสามารถพึ่งตนเองได้จากการทำประมงดังกล่าว และที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนปากมูล รัฐบาล (ตั้งแต่ที่ผ่านมา) ก็ยังไม่สามารถหาวิถีชีวิตที่พึ่งพาตนเองได้ มาทดแทนให้กับชาวประมงพื้นบ้านได้เลย
ทั้งนี้ ดร.เดชรัต ขอให้นายกฯ ลองคิดดูว่า “ที่ผ่านมาเราใช้เขื่อนปิดกั้นความอุดมสมบูรณ์ที่จะผ่านเข้ามาเองตามธรรมชาติจากลำน้ำโขงสู่ลำน้ำมูน ไปวันละเท่าไร เดือนละเท่าไร ปีละเท่าไร ขอให้ท่านและคสช. ลองไปคิดกันเอาเอง”
ขณะที่เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ( thaimekongpeople in 8 provinces)ออกแคมเปญรณรงค์ชื่อ "ยุติโครงการระเบิดแก่ง ปกป้องผืนดินไทย รักษาระบบนิเวศมรดกทางธรรมชาติ" โดยขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติและยกเลิกมติครม.เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 อันจะไปนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ “แม่น้ำโขงกลายเป็นคลอง” เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนไทย ปกป้องระบบนิเวศอันทรงคุณค่าของภูมิภาค และมีความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกเพื่อให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของลูกหลานสืบไป
แคมเปญดังกล่าว ยืนยันว่า แม่น้ำโขง แม่น้ำสายสำคัญอันดับ 12 ของโลกที่อุดมไปด้วยความหลายทางชีวภาพ อันเป็นบ้านของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 430 ชนิดพันธุ์ สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอีกกว่า 800 ชนิดพันธุ์ นกกว่า 1,200 ชนิดพันธุ์ ปลากว่า 1,100 ชนิดพันธุ์ และพันธุ์พืชอีกกว่า 20,000 ชนิดพันธุ์ และมีการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ๆในภูมินี้ทุกปี ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำจึงทำให้มีชุมชนและคนกว่า 60 ล้านคนที่ได้พึ่งพาแม่น้ำสายนี้ในการดำรงชีวิต
ร่วมลงชื่อได้ที่ https://goo.gl/zMIypx