“คนเพื่อชุมชน” คว้ารางวัลคนค้นคน “หนึ่งผู้ให้สู่แรงบันดาลใจไม่สิ้นสุด”
9 รางวัล คนค้นคนอวอร์ด เดชา ศิริภัทร, กำพล ทองบุญนุ่ม, วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ, ว่าที่ รต.นฤมล จันทสุวรรณ, ทัศนีย์ ศิริประณีต, พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว, เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย, เยาวชนอาสา รร.ป่าแดง, รตต.แชน วรงค์ไพศิฐ
เร็วๆนี้ บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด จัดประกาศผลรางวัลคนค้นคนอวอร์ด ภายใต้แนวคิด “จากหนึ่งผู้ให้สู่แรงบันดาลใจไม่สิ้นสุด” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้แก่ 1.รางวัลเกียรติยศ เดชา ศิริภัทร 2.รางวัลผู้สร้างแรงบันดาลใจ อ.กำพล ทองบุญนุ่ม 3.รางวัลผู้ปิดทองหลังพระ วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ 4.รางวัลนักสู้ผู้ไม่แพ้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และว่าที่ร้อยตรีหญิงนฤมล จันทสุวรรณ 5.รางวัลคนเล็กหัวใจใหญ่ แม่ใหญ่ ทัศนีย์ คีรีประณิต 6.รางวัลคนนอกกรอบ พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว และครูเข็ม สุภาณี ยังสังข์ 7.รางวัลคนไทยหัวใจสีเขียว เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน 8.รางวัลเยาวชนต้นแบบ เยาวชนอาสาโรงเรียนป่าแดงวิทยา จ.เชียงราย 9.รางวัลคนต้นเรื่องแห่งปี ร.ต.ต.แชน วรงค์ไพสิฐ
นายเดชา ศิริภัทร ครูชาวนาแห่งมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นการทำงานด้านข้าว เกิดจากการบวชเรียนและปฏิบัติธรรมกับท่านพุทธทาสภิกขุ จนค้นพบสัจธรรมชีวิตและปัญหาชาวนา จึงส่งเสริมให้ชาวนาจัดการชีวิตตนเอง เช่น สอนเทคนิคการคัดเมล็ดพันธุ์ให้ตรงกับสภาพพื้นที่ และให้เคารพพระแม่ธรณี พระแม่คงคา ทั้งนี้การทุ่มเททำงานด้านข้าวและยกระดับวิถีชีวิตชาวนา เพราะชาวนาและข้าวมีความสำคัญต่อสังคมไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และยังเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่ต้องร่วมกันรักษา
“ปัจจุบันชาวนาต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมเพื่อให้อยู่รอด มิเช่นนั้นอาจต้องละทิ้งอาชีพ ทิ้งฐานบ้านเกิดเข้าไปทำงานในเมืองหลวง ยิ่งน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา หลายคนเป็นหนี้เป็นสิน หันเหชีวิตทำงานในเมือง แต่อย่าลืมว่าหากทุกคนคิดแบบนี้ อนาคตคงไม่มีข้าวให้ลูกหลานกิน” ครูชาวนา กล่าว
ว่าที่ร้อยตรีหญิงนฤมล จันทสุวรรณ นักสู้แห่งเขาคูหา กล่าวว่า การต่อสู้ของตนเริ่มต้นขึ้นปี 45 เพื่อคัดค้านการต่อสัมปทานบริษัทเหมืองแร่ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ระเบิดและย่อยหินเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เพื่อเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม ส่งผลให้ครอบครัวและชุมชนได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่นละอองและแรงสั่นสะเทือนจากระเบิด จนบ้านเรือนได้รับความเสียหาย แหล่งต้นน้ำธรรมชาติและสัตว์ป่าเริ่มสูญพันธุ์ จึงจัดตั้งกลุ่มเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหาขึ้น ทั้งนี้การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุดเพราะแม้ชาวบ้านรอบเขาคูหาจะได้รับค่าชดเชยความเสียหายจากการระเบิดเหมืองหินตามคำสั่งศาล แต่กลับถูกบริษัทฟ้องกลับฐานละเมิดและทำให้เสียทรัพย์ เรียกค่าเสียหายรวม 64 ล้านบาท
“ตอนนี้ดิฉันมีสุขภาพไม่ดี แต่เชื่อว่าแม้จะไม่มีชีวิตอยู่บนโลกแล้ว ทุกคนในเครือข่ายฯ จะยังสู้เพื่อเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิที่พึงได้ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นตนเอง” นักสู้เขาคูหา กล่าว
ขณะที่นางกันยา ปันกิติ แกนนำเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า เครือข่ายฯ เริ่มรวมตัวเมื่อปี 43 หลังจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศพื้นที่อุทยานฯ ทับที่ทำกินชาวบ้านที่อยู่อาศัยมานานนับร้อยปีบนเทือกเขาบรรทัด ส่งผลให้ไร้ที่ทำกิน ชาวบ้านจึงต้องหลบๆซ่อนๆเพาะปลูกเสมือนโจรผู้ร้าย เครือข่ายร่วมกันผลักดันชุมชนให้เข้มแข็ง กดดันให้ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาการปฏิรูปที่ดินเกษตรกร โดยการฟื้นฟูเกษตรกรรมธรรมชาติ รักษาดิน น้ำ ป่า เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหาร ทั้งนี้ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลทุกสมัย แต่ไม่ได้รับการดูแล แต่จะยังคงตั้งมั่นเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรที่ไร้ที่ทำกิน และเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม .