สมัชชาสุขภาพรับรอง 6 มติ ปชช.เผยต้องผลักสู่ กม.-ชุมชนใช้ได้จริง
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติผ่าน 6 มติ คุมโฆษณายาทางสื่อท้องถิ่น-แก้น้ำมันทอดซ้ำ-แรงงงานปลอดภัย-ชุมชนจัดการภัยพิบัติ-ลุ่มน้ำขนาดเล็ก-ลดฆ่าตัวตาย ปชช.ชี้จะปฏิบัติได้ต้องผลักสู่ กม.-สื่อสารชัดเจน-ตรงปัญหาชาวบ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ มีการรับรองมติสมัชชาสุขภาพ 6 เรื่องหลัก ได้แก่ การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณผิดกฏหมาย ทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียม, ความปลอดภัยทางอาหาร การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ, การเข้าถึงบริการอาชีวะอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ, การจัดการภัยพิบัติโดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง, การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน และการจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย
ทั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนถึงการผลักดันมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ได้ไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศและสามารถปฏิบัติได้จริงในชุมชน โดยนางรัตนา สมบูรณ์วิทย์ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพภาคกลาง กล่าวว่า ขั้นตอนการทำสมัชชาชนสุขภาพจนออกมาเป็นมติ คือปัญหาจากชุมชนท้องถิ่นจะถูกคัดเลือกเพื่อเสนอต่อมายัง สช. จากนั้นจะมีการจัดสมัชชาใหญ่ทั่วประเทศคัดเลือกประเด็นที่น่าสนใจและเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนและออกมติต่อปัญหานั้นๆ และจะมีการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และส่งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และขยายผลบังคับใช้ต่อไป โดยต่อยอดเป็นกฏหมาย หรือกฏกระทรวง
นายสุรกิจ สุวรรณแกม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนหญ้านาง จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า มติที่จะผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมในชุมชนได้นั้น ต้องเริ่มจากแต่ละชุมชนท้องถิ่นที่เป็นผู้ค้นหาความทุกข์ตนเองให้เจอแล้วจึงนำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหา แต่ส่วนใหญ่ชุมชนนมองไม่เห็นทุกข์ของตัวเอง อาจเพราะไม่มีกระบวนการเรียนรู้หรือความตระหนัก อาทิ ปัญหาเด็กขับรถซิ่ง ก็รู้สึกเพียงสร้างความรำคาญให้ แต่ไม่คิดต่อยอดไปว่าหลังจากนี้จะเกิดการรวมกลุ่ม การมั่วสุม ท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นปัญหาสังคม
“เช่น ชุมชนผมมีชาวบ้าน 5,000 คน ส่วนใหญ่ทำเกษตร เราก็ต้องดูว่าปัญหาในชุมชนคืออะไร อาจจะเป็นการใช้สารเคมีจนกระทั่งเกิดปัญหาสุขภาพ ปัญหายาเสพติด เด็กท้อง ฯลฯ เมื่อหาเจอแล้วก็จะแก้ปัญหาได้ แต่ที่แล้วๆมามติต่างๆ ไม่ได้เกิดจากปัญหาของชุมชนอย่างแท้จริง สุดท้ายก็ใช้ไม่ได้ผล“ นายสุรกิจ กล่าว
นายสุรกิจ กล่าวอีกว่าการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีมา 3 ครั้งแล้ว มติก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ชุมชนต้องเป็นผู้เลือกนำไปใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นั้นๆ เพราะแต่ละท้องที่ต่างกัน เมื่อนำไปปฏิบัติจึงแตกต่างกัน
นายวีระพล เจริญธรรม ที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จ.เลย กล่าวว่า การสื่อสารในชุมชนเป็นอีกปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนมติสู่การปฏิบัติได้ โดยพื้นฐานของแต่ละชุมชนย่อมมีประสบการณ์ร่วมที่แตกต่างกัน ดังนั้นการออกมติสมัชชาสุขภาพต้องมีความชัดเจนในทุกประเด็น
“อย่างมติเรื่องเปิดไฟใส่หมวกกันน็อค เชื่อหรือไม่ว่ามีชาวบ้านชาวดอยถูกตำรวจจับเพราะไม่สวมใส่หมวก ไม่ใช่เพราะชาวบ้านไม่ทำตามกฎหมาย แต่เป็นเพราะชาวบ้านเข้าใจว่าให้นำหมวกกันน็อคใส่ไว้หน้ารถจักรยานต์ยนแล้ว ให้เปิดไฟใส่ไปที่หมวก“นายวีระพล กล่าว
ทั้งนี้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ให้ความหมาย “สมัชชาสุขภาพ” เป็นกระบวนการที่ประชาชนและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อย่างสมานฉันท์ นำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพหรือความมีสุขภาประชาชน โดยจัดให้มีการประชุมอย่างเป็นระบบและมีส่วนร่วม .