ประเทศไทย วิพากษ์อย่างไรให้ดียิ่งขึ้น ?
การวิพากษ์ที่ดียิ่งขึ้นนั้น ในความเห็นของผม ต้องเทียบเมืองไทยในวันนี้กับเมืองไทยในอดีตด้วย แต่คนไทยเราจำนวนไม่น้อยไม่สนใจอดีต ไม่อยากเทียบกับอดีต ไม่สนใจพัฒนาการของเรื่องต่างๆ มองแต่เพียงปัญหาที่มีในปัจจุบัน
หมายเหตุ : ศ.ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โพสต์บทความบนเฟซบุ๊ก เอนก เหล่าธรรมทัศน์ AnekLaothamatas เรื่อง ประเทศไทย วิพากษ์อย่างไรให้ดียิ่งขึ้น ?
-----
การติติงตักเตือนและให้คำวิจารณ์นั้นเป็นเรื่องจำเป็นและอาจก่อประโยชน์สุขได้ แก่บุคคล ชุมชน ส่วนรวม หรือ บ้านเมือง แต่นั่นต้องนำไปสู่ความหวังและกำลังใจในหมู่ผู้ทำงานและผู้คนที่แวดล้อม และต้องรู้จักเลือกกาละเทศะที่เหมาะสม
คนไทยส่วนใหญ่นั้น ล้วนปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ชอบติเตียนและวิพากษ์จนเป็นนิสัย เริ่มจากความรัก ตั้งต้นจากความปรารถนาดี อยากเห็นเมืองไทยไปให้ไกลกว่านี้ แต่บางครั้งก็กลายเป็นการตำหนิและวิพากษ์ไปเสียหมด บ้านเมืองไทยในสายตาของหลายคนนั้น ช่างมีแต่จุดอ่อน ยังด้อยพัฒนา ล้าหลังร่ำไป และ ยังเหลื่อมล้ำกันมากในสังคม สรุปได้ว่า "แทบจะไม่มีอะไรดีขึ้น" บางครั้ง ยิ่งคนวิพากษ์นั้นห้าวหาญเท่าไร ลับวาจาได้คมกริบเท่าไร มีโวหารวาทีเป็นเลิศและได้ขัอมูลเร้นลับมามากเท่าไร ยิ่งมีคนชื่นชมนับถือมากขึ้นเท่านั้น ในบรรดานักวิพากษ์นั้น มีบางคนที่เน้นย้ำที่รัฐและชนชั้นนำเพราะสำหรับพวกเขาแล้วเมืองไทยนั้นอะไรก็ดีอยู่หรอก ติดขัดเพียงที่มีชนชั้นนำ และนักการเมืองที่เลวหรือแย่ ขณะที่มีอีกพวกหนึ่งกลับเห็นตรงข้าม คือเมืองไทยนั้นมีดีทุกอย่าง เสียอยู่อย่างเดียว มีคนไทยที่ไม่ได้เรื่อง และสุดท้าย ก็ยังมีอีกบางพวกที่เชื่อว่าจำต้องแฉหรือเปิดโปงผู้นำ ผู้บริหารนักการเมือง ข้าราชการ และ ชนชั้นสูงให้มากเข้าไว้ เพราะคนเหล่านี้ไว้ใจไม่ได้ ต้องจ้องตรวจคนเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อบ้านเมืองจะได้ไปถูกทาง
การมองสังคมและบ้านเมืองนั้น ต้องไม่เพียงตรวจสอบหรือวิพากษ์เท่านั้น ทำแค่นั้นไม่พอครับ ยังต้องเลือกมองด้วยแง่มุมที่จะทำให้คนไทยภูมิใจในบ้านเมือง ในอดีต ในบรรพชน และมองไกลเห็นอนาคตด้วย แน่นอนครับเมืองไทยนั้นยังต้องปรับปรุงแก้ไขกันอีกมาก แต่ กรุณามองให้เห็นด้วยว่า เราก็เดินทางมาได้ไกลไม่น้อยแล้ว ยิ่งมองย้อนไปให้เห็นตั้งแต่เริ่มปีที่หนึ่งของรัชสมัยที่ผ่านไป จนถึงเมื่อจบรัชกาล เป็นเวลา 70 ปี ย่อมไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ประเทศที่บางคนวิพากษ์อย่างหนักนั้น ดีขึ้นแทบทุกอย่างทุกด้าน รวมทั้งสุขภาวะของผู้คน ทุกวันนี้ ประเทศที่พวกเราบางส่วนได้วิพากษ์ว่ายากจนล้าหลังนั้น จัดได้ว่าเป็นชาติ "รายได้ปานกลาง" ไปแล้ว เงินเฟ้อต่ำ การว่างงานแทบไม่มี เงินบาทมั่นคง มีเงินสำรองระหว่างประเทศสูง แม้อัตาการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ระหว่าง 2-3 เปอร์เซนต์ ขนาดของเศรษฐกิจที่วัดจากกำลังซื้อที่เป็นจริงของเราก็อยู่ในอันดับที่ 22-23 ของโลกแล้ว อย่าลืมว่าโลกนั้นมีประมาณ 200 ประเทศนะครับ ยังไม่พอใจอีกหรือ และเมืองไทยที่คนไทยเฝ้าวิพากษ์นั้น ดูดีมาก ครับ ในสายตาชาวโลก เป็นประเทศที่คนทั่วโลก ทุกทวีป มาพักผ่อน ท่องเที่ยว ทำธุระ ทำงาน เยี่ยมเยือน เสริมสวย รักษาพยาบาล ตะเวณซื้อสินค้าและบริการมากที่สุด กรุงเทพฯ ของเราเป็นมหานคร เคียงคู่กับลอนดอน ที่มีผู้คนจากทั่วโลกมาเยือนมากที่สุด ขออนุญาตถามเบาๆ ว่า ถ้าประเทศเราไม่มีอะไรดีเลย หรือ ดีไม่พอ ใครที่ไหนจะมาเยือนเรามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่างนี้
การวิพากษ์ที่ดียิ่งขึ้นนั้น ในความเห็นของผม ต้องเทียบเมืองไทยในวันนี้กับเมืองไทยในอดีตด้วย แต่คนไทยเราจำนวนไม่น้อยไม่สนใจอดีต ไม่อยากเทียบกับอดีต ไม่สนใจพัฒนาการของเรื่องต่างๆ มองแต่เพียงปัญหาที่มีในปัจจุบัน นักวิชาการและนักวิจัยไม่น้อยถนัดเอาความเป็นจริงของเราไปเทียบกับโมเดล หรือทฤษฎี-กระบวนทัศน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุดมคติ แน่นอนความจริงย่อมสู้อุดมคติไม่ได้ แต่ถ้าจะประเมินผลงานกันจริง ต้องเปรียบเทียบความจริงในอดีตกับความจริงในปัจจุบัน หรือ อาจต้องเปรียบเทียบความจริงของเราเองกับความจริงของประเทศอื่นหรือประเทศส่วนใหญ่
การเปรียบเทียบกับประเทศอื่นนั้น ไม่ควรทำเพื่อทำตัวเราให้ไหลไปตามกระแสโลกอย่างไม่ครุ่นคิด ไม่ควรเปรียบเทียบเพื่อแข่งกับใคร หากเพื่อแข่งกับตัวเอง ต้องสนใจนำโมเดลเชิงอุดมคติของประเทศต่างๆในโลก มาประสานกับอุดมคติของสังคมเราเอง พิจารณาประกอบกับจุดแข็งจุดอ่อนและธรรมชาติของคนไทยส่วนใหญ่ เสร็จแล้วออกแบบโมเดลอุดมคติของไทย "เอง" ซึ่งไม่จำตัองลอกแบบใคร เช่น อาจทำให้ไทยเข้าใกล้โมเดลเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้ปานกลาง ที่อาศัย "หลั่นล้าอีโคโนมี" เป็นหลัก ไม่แข่งกับใครที่อยากจะเป็น 4.0 เพราะเชื่อว่าแข่งแล้วเราจะไม่ชนะ ในความเห็นของผม จริงๆ แล้ว เราควรจะเป็นเศรษฐกิจที่ "ไม่แข่งกับใคร" ยิ่งในเกมที่เราไม่ถนัดโดยธรรมชาติเสียด้วย เช่น ควรหรือที่จะเข้าร่วมชิงชัยกับโลก เป็น 4.0 ก่อนใคร? หรือทันใคร? พอทันใคร? ไม่ล้าหลังกว่าใคร? เป็นต้น
ทำไม ไม่ทำสิ่งที่เราถนัดกว่า วิเศษกว่าใคร ที่โลกไม่มาแข่ง ไม่สนใจมาแข่ง หรือแข่งกับเราได้ยาก นั่นก็คือ แทนที่จะเร่งชูธงสร้างคนไทยเป็น 4.0 เราควรจะรับ 4.0 ตามๆ คนอื่นไปก็พอ แต่ที่เป็นหลักควรทำ "หลั่นล้าอีโคโนมี" แทน การศึกษาของไทยเรานั้นแทนที่จะเน้นให้เด็กส่วนใหญ่เป็นเด็ก 4.0 ทำไมไม่สร้างให้เป็นคน "หลั่นล้า" เป็นคน"พอเพียง" ทั้งสองคำเป็นคำ "ไทยประดิษฐ์" ครับ คนไทยรุ่นนี้และรุ่นต่อไป จะมุ่งทำอาชีพหรือทำธุรกิจที่ไม่ใช่ทั้ง 1.0 ,2.0, 3.0 หรือ 4.0 ได้ไหม แต่เป็นผู้ทำ "สตาร์ทอัพ" เป็น ทำธุรกิจแบบ"พอเพียง" เป็นหลัก เป็นส่วนหลักของ "หลั่นล้าอีโคโนมี" ด้วยความรู้ และที่สำคัญกว่านั้นอีก คือด้วยศิลปะ ฝีมือ ด้วยน้ำใจ ความโอบเอื้ออาทร ใจกว้าง และสันทัดในการรับความหลากหลาย ในการงานหรือในธุรกิจต่างๆ อันเกี่ยวกับการท่องเที่ยว สันถวไมตรี การพักผ่อน สุขภาพ อนามัย ความอเร็จอร่อยและคุณภาพอาหาร ธุรกิจและวิชาชีพเกี่ยวกับความงาม ความสบาย ความสนุก และครอบคลุมมาถึงงานช่าง งานฝีมือและหัตถกรรมต่างๆ ด้วย
ถามต่อว่าแล้วจะจัดการศึกษาไทยกันอย่างไรเพื่อให้ผลิตคนส่วนใหญ่เข้าสู่ "หลั่นล้าอีโคโนมี" ได้ ที่จริงกระทรวงศึกษาฯ และการอุดมศึกษาได้ทำอะไรมาระดับหนึ่งแล้ว ฝากเป็นการบ้านให้คิดอีกตลบหนึ่ง แต่ขอฝากเอาไว้ด้วยความเคารพว่าการศึกษาที่จะสร้างคนส่วนใหญ่ให้เข้าสู่ "หลั่นล้าอีโคโนมี" กับเข้าสู่ "ไทยแลนด์ 4.0" นั้นน่าจะมีจุดย้ำที่ต่างกัน เหตุผลที่ผมเสนอว่าทำไทยแลนด์ให้เป็น"หลั่นล้าอีโคโนมี" เป็นหลักนั้น เพราะจะทำได้ง่ายกว่า มีทางสำเร็จมากกว่า และจะหวงแหนรักษาวัฒนธรรมและของดีทั้งหลาย "แต่เดิม" ของไทยได้มากกว่า
ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ยืนยันว่าก็ด้วยกุศลเจตนา เป็นที่ตั้ง ด้วยความเป็นห่วงในอนาคต ไม่ใช่เพื่อแฉเปิดโปงหรือต่อต้านรัฐบาล หรืออยากโดดเด่น ไม่ใช่จะบอกว่ารัฐบาลว่าไม่เก่งไม่ฉลาดไม่ดี หามิได้ การคิด 4.0 นั้นก็ใช่ว่าผิด มีประโยชน์ อยู่ ครับ แต่ขอให้นำข้อเสนอ ข้อติติง หรือ ข้อชี้แนะต่างๆ ของแนว "หลั่นล้าอีโคโนมี" นี้ไปร่วมพิจารณาด้วย บางอย่างท่านคิดใหม่ได้ไหม บางอย่างปรับได้ไหม บางเรืองแค่ชี้แจงมาก็น่าจะพอแล้ว
สุดท้าย อย่าลืมว่าผมไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องเชื่อผม เพราะเหตุผลนี้ก็ได้ ถ้าท่านเห็นด้วย หาคนอื่นมาช่วยท่านคิดต่อในรายละเอียดทางเศรษฐศาสตร์ก็ได้ครับ ด้วยความปรารถนาดีเสมอ