เปิดภาพปุ๋ยเคมีหมดอายุโผล่! หลักฐานสตง.มัดบัตรสินเชื่อเกษตรกรยุค'ปู' เหลว
โชว์ชัดๆ ภาพถ่ายมัด 'ปุ๋ยเคมีหมดอายุ' แถมแบ่งใส่ถุงขายปลีกให้เกษตรกร โผล่ ร่วมโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรยุค'ปู' - หลักฐาน สตง.ชี้ปัญหาก่อนส่ง ธ.ก.ส. เร่งแก้ไข
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยนำเสนอข่าวว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบดำเนินงานโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กระทรวงการคลัง ในยุครัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยพบว่าการดำเนินงานในบางกิจกรรมยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางที่ กำหนด รวมถึงเครื่องอ่านบัตร (EDC) ยังมีไม่เพียงพอและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการบางแห่ง พร้อมเสนอแนะให้ ธ.ก.ส. ปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหา
(อ่านประกอบ : เมื่อ สตง. ชำแหละบัตรสินเชื่อเกษตรกรยุค'ปู' ไฉนซื้อปุ๋ยแพงกว่าจ่ายเงินสด)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าว สตง.เพิ่มเติม ว่า ในการดำเนินงานโครงการนี้ สตง.ได้ตรวจสอบพบปัญหาเรื่องคุณภาพของปัจจัยการผลิต 2 ประเด็นหลัก คือ 1.มีการจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร (สารเคมี) ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางของกรมวิชาการเกษตร พบว่า มีการจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร(สารเคมี) ที่มีอายุเกิน 2 ปี นับจากวันผลิตที่ปรากฏบนฉลาก จำนวน 26 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 32.50 ของ จำนวนร้านค้าที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 80 แห่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการกำหนดอายุวัตถุอันตรายทางการเกษตรขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(Food and Agriculture Organization ofthe United Nations หรือFAO)ซึ่งกรมวิชาการเกษตรใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาถึงการเสื่อมสภาพหรือด้อยคุณภาพของวัตถุอันตรายทางการเกษตร
2. มีการแบ่งปุ๋ยเคมีจากภาชนะหรือหีบห่อเพื่อขายปลีกไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีการแบ่งปุ๋ยเคมีจากภาชนะหรือหีบห่อเพื่อขายปลีก โดยไม่ได้ระบุปริมาณธาตุอาหารบนภาชนะที่แบ่งจำหน่าย จำนวน 13 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 61.90 ของจำนวนร้านค้าที่สุ่มตรวจสอบและมีการแบ่งปุ๋ยเคมีจากภาชนะหรือหีบห่อเพื่อขายปลีกทั้งหมด จ านวน 21 แห่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 มาตรา 22 (4) ที่กำหนดให้ในกรณีที่ผู้ขายแบ่งปุ๋ยเคมีจากภาชนะหรือหีบห่อบรรจุเพื่อขายปลีก ผู้ขายต้องจัดเอกสารกำกับปุ๋ยเคมีโดยมีข้อความตรงกับเอกสารกำกับปุ๋ยเคมีที่แบ่งขายนั้นให้แก่ผู้ซื้อทุกครั้ง
ขณะที่ข้อกำหนดการเข้าร่วมโครงการ ระบุว่า จะต้องเป็นปุ๋ยคุณภาพดีเยี่ยมคุณสมบัติตามตามที่ราชการกำหนด ไม่ปลอมปนหรือเสื่อมคุณภาพ
ทั้งนี้ ในส่วนการจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร(สารเคมี) ที่มีอายุเกิน 2 ปี นับจากวันผลิตที่ปรากฏบนฉลาก จำนวน 26 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 32.50 ของ จำนวนร้านค้าที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 80 แห่ง นั้น ร้านค้าที่ตรวจสอบปัญหาดังกล่าว อยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ และชุมพร โดยปรากฎวันเวลาอายุของสินค้าชัดเจน (ดูภาพประกอบ)
ส่วนปัญหาการแบ่งปุ๋ยเคมีจากภาชนะหรือหีบห่อเพื่อขายปลีกอยู่ใน พื้นที่ ชุมพร ขอนแก่น นครสวรรค์ และร้อยเอ็ด (ดูภาพประกอบ)
"เกี่ยวกับปัญหาการดำเนินงานโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ตามที่สตง.ตรวจสอบพบนั้น ธ.ก.ส.ได้รับทราบข้อมูลรายงานผลการตรวจสอบของสตง.ในภาพรวมแล้ว และมีหนังสือแจ้งตอบกลับมา ในช่วงปลายเดือนก.ย.2559 ที่ผ่านมา ว่า มีความเห็นสอดคล้องกับผลการตรวจสอบของสตง." แหล่งข่าวจากสตง.ระบุ (ดูเอกสารประกอบ)