ผู้ตรวจราชการ ทส.รับเพิ่มพื้นที่ป่า ปชช.-เอกชนต้องช่วยกันจึงสำเร็จ
ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทยตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนใช้พลังงานทดแทน ขณะที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เผยประเทศไทยมีต้นทุนป่าอยู่ 26 ล้านไร่ เร่งทำป่าเศรษฐกิจให้ครบ 15 % ภายใน 20 ปีข้างหน้า
วันที่ 5 มกราคม 2560 คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเครือข่ายการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย(T-cern) จัดสัมมนา เรื่อง "อุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" ณ ห้องประชุมจงรักปรีชานนท์ ตึกวนศาสตร์ 72 ปี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นายประลอง ดำรงไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตอนนี้กรมป่าไม้พื้นที่ป่าอยู่ 72 ล้านไร่ เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ประมาณ 62 ล้านไร่ และภายในระยะเวลา 20 ปี จะดำเนินการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ตามเป้าหมายคือ 40% ของพื้นที่ในประเทศ
นายประลอง กล่าวถึงแผน Thailand 4.0 แบ่งเป็น ป่าอนุรักษ์ 25% หรือ 80 ล้านไร่ และป่าเศรษฐกิจ 15% หรือ 48 ล้านไร่ รวม 128 ล้านไร่ โดยป่าเศรษฐกิจ 15% ถูกแบ่งไปเป็นพื้นที่อุทยานรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าประมาณ 10-18 ล้านไร่ และแบ่งให้เขตอุทยานและเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าประมาณ 10-18 ล้านไร่ ทำให้ตอนนี้พื้นที่ป่าเศรษฐกิจจะเหลือประมาณ 13 ล้านไร่
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ที่กรมป่าไม้ได้ปลูกป่าไปแล้วประมาณ 4 ล้านไร่และยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่ให้เกษตรกรครอบครองอีกประมาณ 30 ล้านไร่ ซึ่งต้องมีการปลูกป่าไม้ในพื้นที่เช่นกัน เกษตรกรที่ได้ครองพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) สหกรณ์ นิคมฯ ต่างๆ รวมพื้นที่ประมาณ 30 ล้านไร่ เมื่อได้พื้นที่ไปตามหลักการต้องปลูกต้นไม้ในพื้นที่อย่างน้อย 20% เพราะฉะนั้นต้องมีพื้นที่ป่าไม้ไม่ต่ำกว่า 9 ล้านไร่
“วันนี้ประเทศไทยมีต้นทุนป่าอยู่ 26 ล้านไร่ ถามว่าจะทำอย่างไรให้ป่าเศรษฐกิจครบ 15 % หรือ 48 ล้านไร่ อีก 22 ล้านไร่ต้องมาช่วยกันทำ โดยต้องเพิ่มพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะนำมาฟื้นฟูได้ ประมาณ 13-14 ล้านไร่ อีกกว่า 8 ล้านไร่เป็นพื้นที่ที่ต้องส่งเสริมให้ทุกคนช่วยกันปลูกในนอกพื้นที่ป่า หรือพื้นที่เอกชน พื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ นั่นคือเราวางแผนไว้อย่างนั้น ในอีก 20 ปีข้างหน้า หรือเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2579”
นายประลอง กล่าวด้วยว่า เมื่อนำพื้นที่สีเขียวของกรมป่าไม้และเกษตรกรที่ครองพื้นที่มารวมกัน (9+4) จะได้ผลลัพธ์ 13 ล้านไร่ รวมกับฐานเดิมของป่าเศรษฐกิจที่เหลือพื้นที่ 13 ล้านไร่ รวมกันได้ 26 ล้านไร่ ซึ่งคือต้นทุนของป่าในประเทศไทย กรมป่าไม้ไม่สามารถดำเนินการได้เองในบางบริบท ดังนั้นประชาชนและภาคเอกชนต้องเข้ามาช่วย แม้การเพิ่มพื้นที่ป่าจะใช้เวลานานมากก็ตาม
“กรมป่าไม้ไม่สามารถเข้าไปปลูกป่าในพื้นที่ที่มีเจ้าของได้ ดังนั้นถ้าไม่มีภาคประชาชน ภาคเอกชนมาช่วย จะไม่สามารถขับเคลื่อนได้”
ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร ผู้ก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทยและรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ(สปท.) กล่าวว่า ภายหลังในยุคอุตสาหกรรมที่ผ่านมา 200 กว่าปี ปัญหาที่ตามมาคือก๊าซเรือนกระจกและความแปรปรวนของภูมิอากาศ ขณะเดียวกันองค์การสหประชาชาติตระหนักถึงสิ่งที่มนุษย์ทั่วโลกที่จะต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องความแปรปวนทางภูมิอากาศที่จะรุนแรงขึ้นทุกปี ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นวาระระดับโลกขึ้นหนึ่งในนั้นจะพูดถึงประเด็นเรื่องของพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือกหรือทางเลือกของพลังงาน
สำหรับจุดเริ่มต้นของพลังงานชีวภาพในประเทศไทย นายอลงกรณ์ กล่าวว่า เริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. 2543 แต่ความจริงแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เริ่มต้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2517 หลังเกิดวิกฤตพลังงานของโลก
"พลังงานไบโอดีเซลของไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก เป็นประเทศเดียวในโลกที่ผสมไบโอดีเซลอยู่ในทุกลิตรของน้ำมันดีเซล แต่เราไม่ค่อยคำนึงถึงและมักจะดูกถูกประเทศของตัวเอง"
นายอลงกรณ์ กล่าวถึงประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศว่าจะลดก๊าซเรือนกระจก ให้ได้ 20-25% ภายในอีก13ปีข้างหน้า โดยญี่ปุ่นเป็นกรณีศึกษาหลังเกิดการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิม่า มีการปฎิรูปการผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เมื่อก่อนญี่ปุ่นยืนอยู่บน 3 ฐาน 1.ฐานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 29% 2.ฐานในด้านของ LPG ก๊าซธรรมชาติ 29% 3. ฐานถ่านหิน" รองประธาน สปท. กล่าว และว่า เหตุการณ์ในฟูกูชิม่าทำให้ญี่ปุ่นต้องปฎิรูประบบพลังงานใหม่ หันไปเลือกใช้พลังงานที่มาแทนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือจะต้องลดพลังงานนิวเคลียร์จาก 29% เหลือเพียง 20-22% ส่วนในด้านของ LPG ก๊าซธรรมชาติ 29% ลดเหลือ 27% แต่ที่เพิ่มอย่างชัดเจนคือพลังงานทดแทนธรรมชาติ จาก 10% เพิ่มเป็น 22-24% ตอนแรกญี่ปุ่นสนใจทำโซล่าฟาร์ม แต่ราคาค่าที่ที่ญี่ปุ่นแพงเลยหันมาสนใจทำโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นอันดับที่ 5 ของโลก
รองประธาน สปท. กล่าวอีกว่า ส่วนประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศในการประชุมที่ปารีสว่ามีเจตนารมณ์ว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25% ในปี ค.ศ. 2030 อีก 13 ปีข้างหน้า ถือเป็นพันธสัญญาที่ดี แต่ต้องอย่าลืมว่าตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในยุคปฎิรูปประเทศ ได้วางอนาคตใหม่ให้กับประเทศพร้อมกับวางวิสัยทัศน์เป้าหมายว่าจะปฎิรูปใน 17 ด้านในอีก 20 ปีข้างหน้า จะต้องยกระดับประเทศให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รายได้ต่อหัวประชากรจะต้องเพิ่มจาก 1.5 แสนบาท กลายเป็น 4.5 แสนบาทต่อคนต่อปี เป็นอย่างน้อย รัฐธรรมนูญที่กำลังจะประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและจะมีกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ หมายความว่าจะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
"ในอดีตประเทศไทยไม่มี ส่วนประเทศอื่นทำมาตั้งแต่ปี 1990 รัฐบาลได้พัฒนาและวางแผนเพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปได้นำยุทธศาสตร์พัฒนาต่อและได้เปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง"
นายอลงกรณ์ กล่าวถึงการที่ประเทศไทยมีกระทรวงดิจิตอลสร้างแล้ว หมู่บ้านทั่วประเทศจะมีอินเทอร์เน็ตเข้าถึงหมดเพราะโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าเราเปลี่ยนไม่ทันเราจะตกขบวน ก็ไม่ได้คิดว่าประเทศไทยจะเป็นผู้โดยสาร แต่ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำของโลกได้ ประเทศไทยติดท็อปเทนของโลกไม่ต่ำกว่า 40 รายการ"
ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำของโลกได้ ยางพาราของไทยก็เป็นอันดับ 1 ของโลก ข้าวก็อันดับ 1 ของโลก มันสำปะหลังก็อันดับ 1 ของโลก แต่ทำไมชาวนาชาวสวนยังเป็นหนี้อยู่แบบนี้ ทำไมยังจนอยู่เป็นเรื่องที่น่าแปลกมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องปฎิรูปครั้งใหญ่ รวมไปถึงต้องทำการวิจัยและพัฒนา ดังนั้นงบวิจัยและพัฒนาประเทศถือว่าสำคัญที่สุดของประเทศยุคใหม่
"วันนี้งบวิจัยและพัฒนาของไทยเกิน 0.5% อีก 1-2 ปีข้างหน้าต้องให้มีงบอย่างน้อย 1% และในปีต่อมาต้องเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีประเทศไหนที่จะมั่นคง มั่งคั่งได้ ถ้าไม่มีเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม"