13 ปีไฟใต้...ไม่เป็นธรรมทางความรู้สึก
หากนับจากเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่ที่ค่ายทหารใน จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 แล้ว วันที่ 4 ม.ค.2560 จึงเป็นวาระครบ 13 ปีไฟใต้
โอกาสนี้ “ทีมข่าวอิศรา” ได้พูดคุยกับนักสิทธิมนุษยชน เพื่อให้มองปัญหาชายแดนภาคใต้ในมุมของความไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นต้นตอหนึ่งของความขัดแย้งและความรุนแรงที่ปลายด้ามขวาน
ปัญหาใหม่...งุบงิบคุมตัว
อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่า ผ่านมา 13 ปี สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนการซ้อมทรมาน หรือการอุ้มฆ่าอุ้มหายน้อยลง แต่ปัญหาที่พบใหม่และเยอะขึ้นในระยะหลัง คือการควบคุมตัวโดยไม่แจ้งสถานที่คุมขังให้ญาติทราบ ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับ
“การควบคุมตัวโดยไม่บอกสถานที่คุมขังมีเยอะขึ้น ในฐานะ กรรมการสิทธิฯรู้สึกกังวล เพราะว่าเป็นสิทธิ์ของญาติที่จะต้องทราบว่า คนในครอบครัวถูกนำไปควบคุมอยู่ที่ไหน”
ไม่เป็นธรรมทางความรู้สึก
อังคณา กล่าวต่อว่า สิ่งที่เป็นผลทางบวกจากการทำงานของรัฐบาลในเรื่องสิทธิมนุษยชน คือมองเห็นความก้าวหน้าเรื่องของงานเยียวยา มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างดี อาจตกหล่นบ้าง แต่ก็เล็กน้อย ปัญหาที่ยังดำรงอยู่คือความไม่เป็นธรรมทางความรู้สึก
“สิ่งที่น่ากังวลและเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการ คือพวกเขายังรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่นหลายๆ กรณียังมีการพูดอยู่ตลอด เรื่องของเหตุการณ์ตากใบ (สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ เมื่อ 25 ต.ค.2547) หรือคนถูกอุ้มหาย ถึงแม้จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่การเข้าถึงความยุติธรรมก็เป็นสิ่งที่ยังคาใจ”
“วันนี้ผ่านมาแล้ว 13 ปี เรื่องความรู้สึกพวกนี้ไม่ใช่ปัญหาแค่ปัจเจกหรือส่วนบุคคล แต่เป็นปัญหาความรู้สึกไม่เป็นธรรมของประชาชนที่นี่ อยากให้รัฐเห็นความสำคัญในเรื่องของการสนับสนุนการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน”
สัญญาณเหลื่อมล้ำ
อังคณา ซึ่งลงพื้นที่ชายแดนใต้อย่างต่อเนื่อง ยังมองเห็นสัญญาณของความเหลื่อมล้ำในพื้นที่
“วันนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด เช่น เรื่องธุรกิจ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เรื่องแหล่งทุนที่เข้ามาลงทุน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน และปะทะกับสิทธิชุมชน เราเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมสามจังหวัด มีร้านอาหารหรูราราคาแพง ทำให้เห็นว่ามีคนส่วนหนึ่งที่ดูเหมือนฐานะดีขึ้น ขณะที่คนชนบท ยังยากจน”
“การเข้าถึงการศึกษา คือสามารถเข้าถึงได้ แต่ไม่สามารถเข้าถึงระดับสูงสุด ถึงแม้รัฐจะให้โควต้าการเรียนในมหาวิทยาลัย ต้องอย่าลืมว่าเวลาที่มีผู้สมัครเข้ามามากก็ต้องแข่งขัน และเวลามีการแข่งขัน เด็กที่จะได้รับทุนก็จะเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวที่สนับสนุนให้เด็กมีโอกาสได้เรียนพิเศษ หรือมีกลไกช่วยเหลือมากกว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีลูกหลายคน หรือมีฐานะยากจน”
“นอกจากนั้น สิทธิในการถือครองที่ดินของชาวบ้านในชนบทก็ไม่ได้มีมากขึ้น ส่วนมากจะรับจ้างกรีดยาง โดยที่เจ้าของเป็นคนอยู่นอกพื้นที่ โอกาสที่ประชาชนจะมีสิทธิในที่ดินของตนเองยิ่งยาก”
“การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง เรื่องสิทธิของผู้หญิง เรื่องความรุนแรงทางเพศที่เกี่ยวกับผู้หญิง ก็ยังไม่ค่อยเห็น กลไกทางศาสนาเข้ามาอำนวยความยุติธรรมให้ผู้หญิงสักเท่าไหร่ พื้นที่ทางการเมืองของผู้หญิงก็ยังมองไม่ค่อยเห็นพื้นที่ การที่ผู้หญิงจะมีอำนาจในการตัดสินใจก็ยังมีน้อยอยู่” อังคณา ระบุ
ไอโอสีดำ...อันตราย!
อีกหนึ่งปัญหาที่กำลังร้ายแรงขึ้นเป็นลำดับ คือการทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างผู้คน ผ่านกระบวนการที่เรียกว่าปฏิบัติการข่าวสาร หรือ ไอโอ (Information Operations)
“ประชาชนมีหลายกลุ่ม ในแง่ของความเชื่อใจ หรือความไว้เนื้อเชื่อใจไม่ได้สร้างกันง่ายๆ แต่ถูกทำายง่ายมากหากเกิดเหตุอะไรที่เปราะบาง ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งมีเหตุวิสามัญฯ ชาวบ้านจะมองว่ารัฐใช้อำนาจเกินจำเป็น หรือเหตุที่เกิดกับพี่น้องไทยพุทธ ก็จะมองว่าคนมุสลิมในพื้นที่ทำ คือไม่ได้มองในแง่ความเป็นปัจเจก แต่มองเหมารวม”
“ที่สำคัญยังมีกระบวนการข่าวสารที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง ส่วนตัวมองว่ารัฐไม่เข้าไปจัดการกับปัญหาเหล่านี้เท่าไหร่ ก็จะเห็นว่า ในเฟซบุ๊ค หรือเพจบางเพจที่มีการทำไอโอสร้างความเกลียดชังกัน คนที่เข้ามาแสดงความเห็นก็รู้สึกสะใจ อยากให้ฆ่ากันให้ตาย ใช้คำสรรพนามเรียกคนที่ตนเองเกลียดชังอย่างลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรื่องแบบนี้รัฐต้องเข้ามาจัดการ และไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น” อังคณา กล่าว
ประเด็นนี้จะโยงไปถึงเรื่อง “พื้นที่ปลอดภัย” ที่รัฐบาลกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐกำลังหารือกันอยู่ โดยอังคณาเสนอว่าอยากให้เริ่มจากการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัยทางความคิดและการพูด” หากทำได้จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้แล้ว
ฟังเสียงที่แตกต่าง-ส่งเสริมสิทธิชุมชน
สุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า ปัญหาความขัดแย้งและความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องทำให้สังคมไทยเข้าใจให้ได้ว่าความสูญเสียเป็นเรื่องใหญ่ของทั้งสังคม ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของพี่น้องสามจังหวัด
“เราทุกคนต้องมองเห็นอนาคตและความหวัง คนในพื้นที่มีความหวังที่จะสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้น วันนี้เยาวชนในพื้นที่มีความตระหนักที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ฉะนั้นสิ่งที่ภาครัฐต้องดำเนินการคือการเปิดพื้นที่ให้เสียงจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สะท้อนออกมา”
“เราต้องไม่ลืมว่าคนที่รู้เรื่องสิทธิดีที่สุด คือคนที่ได้รับผลกระทบเอง ถ้าเราเชื่อมั่นอย่างนี้ เราจะมั่นใจว่าสิ่งที่เขามอง เขาเห็น ไม่ใช่เพราะว่าเขามีปัญหาหรือมีอคติ แต่เขาต้องการส่งเสียงให้รู้ว่าตัวตนของพวกเขาที่ได้รับผลกระทบเป็นแบบนี้ และต้องการการแก้ไขปัญหาอย่างไร”
“เพราะฉะนั้นถ้าเราใจกว้าง หน่วยงานภาครัฐหรือคนในเมืองที่มองกลับไปยังคนในภาคใต้ควรให้โอกาสเขา และมองเขาในแง่ดี ถึงจะไปลดทอนการใช้อำนาจที่ปิดกั้นเสียงของพวกเขาหรือเสรีภาพของเขา หรือกระทั่งมีการจับกุมเกินขอบเขต หรือมีการซ้อมทรมานได้ เรื่องราวพวกนี้เป็นเป็นความยุติธรรมขั้นพื้นฐาน ถ้าแก้ตรงนี้ไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะเกิดสันติสุขจริงๆ”
นอกจากฟังเสียงสะท้อนจากคนสามจังหวัดแล้ว สุนี ยังเรียกร้องให้ภาครัฐรับรองและสนับสนุนเรื่องสิทธิชุมชนให้มากๆ
“ถ้าเราฟังเรื่องของสิทธิชุมชน เราจะพบสองขา ขาหนึ่งคือเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ซ้อมทรมาน หรืออุ้มหาย ขณะที่อีกขาคือสิทธิชุมชนที่อยากมีส่วนร่วม รัฐไม่ควรมาตัดสินใจแทนพวกเขา ถ้าสองขานี้เดินไปด้วยกันได้ เปิดโอกาสให้พี่น้องทุกกลุ่มได้พูด ได้สานเสวนาแลกเปลี่ยนกัน สันติสุขในภาคใต้ก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) สุนี ไชยรส (ขวา) อังคณา นีละไพจิตร