กฤษฎีกา ชี้ขาดสภาม.ศิลปากร มีอำนาจถอนปริญญาบัณฑิตลอกวิทยานิพนธ์
กฤษฎีกา ตอบความเห็นทางกฎหมาย ชี้ขาด สภาม.ศิลปากร มีอำนาจเพิกถอนปริญญาบัณฑิตลอกวิทยานิพนธ์ได้ แต่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานประกอบ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมาย กรณีการเพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยศิลปากรที่ได้อนุมัติการให้ปริญญาอันมีเหตุจากการคัดลอกผลงานของบุคคลอื่นมาใช้ในวิทยานิพนธ์โดยไม่ชอบ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า สภามหาวิทยาลัยศิลปากร มีอำนาจที่จะเพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยที่ได้อนุมัติการให้ปริญญาได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าบุคคลนั้นขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับปริญญา แต่ต้องให้สิทธิคู่กรณีได้รับทราบข้อเท็จจริง มีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน การระบุเหตุผลในการเพิกถอน การแจ้งสิทธิการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งด้วย เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตอบความเห็นข้อกฎหมายกรณีนี้ เป็นผลมาจากการที่ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มีหนังสือขอหารือเกี่ยวกับอำนาจของสภามหาวิทยาลัย โดยสรุปว่า ตามที่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้มีการเปลี่ยนสถานภาพจากมหาวิทยาลัยที่มีฐานะเป็นส่วนราชการตาม พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2530 มาเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2559 โดยมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2559 ได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจให้ปริญญาในสาขาวิชาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัย และมาตรา 22(9) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ในการอนุมัติให้ปริญญา อนุปริญญา และประกาศนียบัตรชั้นหนึ่งชั้นใดของมหาวิทยาลัย นั้น
มหาวิทยาลัยศิลปากร มีความประสงค์ขอหารือเกี่ยวกับอำนาจของสภามหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2559 ว่า ในกรณีที่สภามหาวิทยาลัยศิลปากรตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2530 ได้มีการอนุมัติการให้ปริญญาแก่บุคคลที่สำเร็จการศึกษาตามข้อบังคับและระเบียบของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการศึกษาทั้งระดับปริญญาบัณฑิตและระดับบัณฑิตศึกษา และบุคคลดังกล่าวได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากต่อมาภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงว่า บุคคลดังกล่าวได้มีการคัดลอกงานวิทยานิพนธ์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ซึ่งในแวดวงวิชาการนั้น การคัดลอกผลงานทางวิชาการของบุคคลอื่น ถือเป็นการประพฤติผิดจริยธรรมทางวิชาการที่ไม่อาจยอมรับได้ ในกรณีเช่นนี้ สภามหาวิทยาลัยศิลปากรตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2559 จะมีอำนาจในการเพิกถอนปริญญาบัตรที่สภามหาวิทยาลัยศิลปากรตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2530 เคยอนุมัติให้แก่บุคคลดังกล่าวได้หรือไม่ และจะต้องดำเนินการอย่างไร หากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2559 มิได้กำหนดให้สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ในการเพิกถอนปริญญาบัตรไว้ ตลอดจนในข้อบังคับและระเบียบของมหาวิทยาลัยศิลปากรเกี่ยวกับการศึกษาทั้งระดับปริญญาบัณฑิตและระดับบัณฑิตศึกษาก็มิได้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีการคัดลอกวิทยานิพนธ์ไว้ มีเพียงการกำหนดเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตว่า ต้องไม่กระทำการอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่ว และผู้มีสิทธิรับปริญญาระดับบัณฑิตศึกษากำหนดคุณสมบัติไว้ข้อหนึ่งว่า มีความประพฤติดี
เบื้องต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว มีความเห็นว่า สภามหาวิทยาลัยศิลปากร มีอำนาจที่จะเพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยที่ได้อนุมัติการให้ปริญญาได้หากปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าบุคคลนั้นขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับปริญญาตามที่ได้ขอหารือมาด้วย
อย่างไรก็ดี โดยที่การเพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยที่ได้อนุมัติการให้ปริญญานั้น เป็นคำสั่งทางปกครองอย่างหนึ่งที่กระทบสิทธิของคู่กรณี การดำเนินการเพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยดังกล่าวจึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น การให้สิทธิคู่กรณีได้รับทราบข้อเท็จจริง มีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน การระบุเหตุผลในการเพิกถอน การแจ้งสิทธิการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งด้วย เป็นต้น
ส่วนกรณีการคัดลอกผลงานของบุคคลอื่นมาใช้ในวิทยานิพนธ์โดยไม่ชอบ จะเป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับปริญญาระดับบัณฑิตศึกษาที่กำหนดว่า มีความประพฤติดี หรือไม่ เห็นว่า โดยที่สภามหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจในการออกข้อบังคับมหาวิทยาลัยศิลปากรเกี่ยวกับการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อใช้บังคับกับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา การพิจารณาความประพฤติของผู้มีสิทธิรับปริญญาตามข้อบังคับดังกล่าวจึงเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยศิลปากรที่จะใช้ดุลพินิจในการพิจารณาตามข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี ข้อหารือในประเด็นนี้จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจของสภามหาวิทยาลัยศิลปากร มิใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใด
(ดูความเห็นทางกฎหมายฉบับเต็มประกอบ http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?whichLaw=cmd&year=2559&lawPath=c2_1840_2559)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงต้นปี 2559 ที่ผ่านมา สภามหาวิทยาลัยศิลปากร เคยมีการสอบสวนกรณีการคัดลอกวิทยานิพนธ์ ของนักศึกษาปริญญาโท รายหนึ่ง ภายหลังจากที่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าของวิทยานิพนธ์ ได้ออกมาร้องเรียน ว่านักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยศิลปากร รายนี้ คัดลอกวิทยานิพนธ์นำไปทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ "ทุนทางสังคมและวัฒนธรรม กับการปรับตัวธุรกิจร้านอาหารของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม" และได้มีการตรวจสอบซึ่งนักศึกษารายนั้น ได้ออกมายอมรับผิดและได้ทำจดหมายยินยอมให้ถอดถอนปริญญาบัตรด้วย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก wilaitutor.herokuapp.com