คลอดเกณฑ์เยียวยาใต้ "ตาย-สูญหาย" 7.5 ล้าน ขังฟรีจ่าย 3 หมื่น
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาชายแดนใต้คลอดเกณฑ์เยียวยา "เหยื่อไฟใต้" เฉพาะกลุ่มที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จ่ายทันที 5 แสน หากกรรมการพิสูจน์แล้วเป็นเหตุจงใจละเมิดสิทธิมนุษยชน จ่ายอีกไม่เกิน 7 ล้าน ครอบคลุมทั้งตาย-ทุพพลภาพ-สูญหาย ถูกขังฟรีจ่าย 3 หมื่น ทั้งยังมี "เยียวยาจิตวิญญาณ" ให้ไปทำ "ฮัจญ์" ที่ซาอุฯ "ยงยุทธ" เผยย้อนหลังถึงเหตุการณ์ "กรือเซะ-ตากใบ" ด้วย ส่วนกรณี 4 ศพที่หนองจิก หากรัฐผิดก็ต้องจ่าย
การประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ก.พ.2555 ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานนั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบประกาศ กพต. ว่าด้วยอัตราค่าช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ... ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การเยียวยาใหม่สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐทุกกลุ่มในชายแดนใต้
นายยงยุทธ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ผู้เสียชีวิตและทุพพลภาพจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอันเข้าข่ายเป็นการละเมิด จะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยารายละ 7 ล้านบาท รวมกับเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิตและทุพพลภาพเบื้องต้นตามประกาศฉบับใหม่นี้อีกรายละ 5 แสนบาท รวมเป็น 7.5 ล้านบาท โดยการคำนวณตัวเลขได้มีการเทียบเคียงตามหลักศาสนาอิสลามในประเทศตะวันออกกลางที่กำหนดว่าถ้าหากมีการทำให้เสียชีวิต จะต้องชดใช้เป็นอูฐ 100 ตัว ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บก็จะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาลดหลั่นกันไป
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการกำหนดให้วันตรุษจีนเป็นวันหยุดราชการประจำปีเพิ่มใน จ.สงขลา จากเดิมที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยอนุมัติให้หยุดในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล รวมทั้งเห็นชอบให้เพิ่มค่าตอบแทนครูสอนศาสนา ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุม ครม.ต่อไป
เกณฑ์ใหม่รวม 4 ศพปัตตานีหากรัฐผิด
ผู้สื่อข่าวถามว่า การช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์ใหม่จะครอบคลุมถึงผู้เสียชีวิต 4 ศพจากเหตุการณ์ทหารพรานยิงรถต้องสงสัยที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานีด้วยหรือไม่ นายยงุยทธ กล่าวว่า หากเข้าหลักเกณฑ์ก็มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือนี้ด้วย ซึ่งคงต้องพิจารณากำหนดรายละเอียดกันอีกครั้ง โดยเฉพาะต้องมีการพิสูจน์ว่าเข้าหลักเกณฑ์การเสียชีวิตจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเงินช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์ใหม่นี้จะครอบคลุมไปถึงเหตุการณ์กรือเซะและตากใบด้วย
ก้อนแรก 5 แสน-อีก 7 ล้านมีกรรมการชี้ขาด
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ต้องทำความเข้าใจว่าการเยียวยาในจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.เกณฑ์ที่จ่ายอยู่ในปัจจุบัน ใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2550 ซึ่งมีมติ ครม.กำกับอยู่หลายมติ หลักๆ คือผู้เสียชีวิตที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้รับเงินเยียวยารายละ 5 แสนบาท ส่วนประชาชนได้ 2 แสนถึง 5 แสนบาท แต่ระเบียบนี้เป็นการจ่ายเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันยังใช้อยู่และจะใช้ต่อไป
2.ประกาศ กพต.ว่าด้วยอัตราค่าช่วยเหลือเยียวยาฯ ฉบับใหม่ที่เพิ่งอนุมัติ เป็นไปตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต. มาตรา 9 (7) โดยจะเป็นการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ กลุ่มนี้หากเสียชีวิตหรือทุพพลภาพจะได้รับเงินเยียวยา 5 แสนบาท โดยจะช่วยเหลือครอบคลุมผู้ถูกบังคับให้สูญหายด้วย
สำหรับหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติม ให้เลขาธิการ ศอ.บต.เสนอว่าหากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเห็นว่าต้องเยียวยาเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเฉพาะกรณี ให้เยียวยาเพิ่มเติมได้อีกไม่เกิน 7 ล้านบาท รวมเป็น 7.5 ล้านบาท แต่จะต้องให้คณะอนุกรรมการเป็นผู้พิจารณา ซึ่งองค์ประกอบของอนุกรรมการไม่ได้มาจาก 3 ฝ่ายเฉพาะทหาร ตำรวจ และพลเรือนเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนา หรือสังคมสงเคราะห์ หรือสิทธิมนุษยชน รวมทั้งผู้แทนจากภาคประชาสังคมที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์เข้าไปด้วย
"เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะหลักเกณฑ์ใหม่ที่ออกมาครอบคลุมไปถึงผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังโดยมิชอบหรือโดยไม่มีความผิด ไปจนถึงการเยียวยาจิตใจและจิตวิญญาณด้วย" พ.ต.อ.ทวี กล่าว และว่าประกาศนี้มีผลบังคับใช้ทันทีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนาม โดยไม่ต้องผ่าน ครม.อีก
อนึ่ง พ.ร.บ.ศอ.บต. มาตรา 9 (7) ที่ พ.ต.อ.ทวี พูดถึง คืออำนาจหน้าที่ของ ศอ.บต. ได้แก่ ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามระเบียบที่ กพต. กำหนด ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิประโยชน์ที่ผู้นั้นได้รับตามกฎหมายอื่น
เปิดเกณฑ์เยียวยา-ถูกขังฟรีจ่าย 3 หมื่น
สำหรับรายละเอียดของประกาศ กพต.ฯ ในข้อ 7 วรรคท้าย กำหนดว่า อัตราค่าช่วยเหลือเยียวยาตาม (1) - (8) ให้เป็นไปตามประกาศของ กพต. โดยประกาศดังนี้
(1) ค่าช่วยเหลือเยียวยาในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายหรือผู้ทุพพลภาพ จำนวน 5 แสนบาท
(2) ค่าช่วยเหลือเยียวยากรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย จำนวน 5 แสนบาท
ตาม (1) และ (2) กพต.เห็นสมควรตามที่เลขาธิการ ศอ.บต. เสนอว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเฉพาะกรณี ให้ช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมอีกไม่เกินจำนวน 7 ล้านบาท ทั้งนี้ กพต.อาจจะกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการจ่ายเงินช่วยเหลือด้วยก็ได้
(3) ค่าช่วยเหลือเยียวยาในการรักษาพยาบาล รวมทั้งการส่งต่อเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย จิตใจ และการติดตามเยี่ยมเยียน ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง
(4) ค่าช่วยเหลือเยียวยาการขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ให้จ่ายในอัตราวันละ 400 บาท ตามจำนวนวันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ แต่ไม่เกินจำนวนเงิน 3 แสนบาท
(5) ค่าช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ถูกควบคุมตัว หรือผู้ถูกคุมขังตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยที่ผู้นั้นไม่มีความผิด ให้จ่ายเงินเยียวยาด้านจิตใจเป็นจำนวนเงิน 3 หมื่นบาท และค่าชดเชยตามจำนวนวันที่ถูกควบคุมตัวในอัตราวันละ 400 บาท
ค่าช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ต้องขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งต่อมาปรากฏว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้อง ให้จ่ายเงินค่าชดเชยตามจำนวนวันที่ถูกควบคุมตัวในอัตราวันละ 400 บาท
ครอบคลุมเงินประกัน-ค่าจ้างทนาย
(6) ค่าช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐทางด้านกฎหมาย การฟ้องร้อง การดำเนินคดี หรือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ มีดังต่อไปนี้
ก. ค่าใช้จ่ายในการวางเงินประกัน การปล่อยตัวชั่วคราว ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง
ข. ค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความว่าความในคดี ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท
ค. ค่าใช้จ่ายในการชำระค่าธรรมเนียมขึ้นศาล และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง
ง. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน หรือการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หรือการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอื่นๆ ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท
จ. ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงความเป็นธรรม ได้แก่ ค่าใช้จ่ายทั้งปวงที่เกิดขึ้นเพื่อการขอความเป็นธรรม ค่าพาหนะเดินทาง ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นและเหมาะสม ให้จ่ายตามความเป็นจริง
ฉ. ค่าใช้จ่ายเพื่อคุ้มครองช่วยเหลือให้ได้รับความปลอดภัยจากการก่ออาชญากรรมหรือการป้องกันการถูกปองร้ายเพราะได้ร้องขอความเป็นธรรม หรือขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ หรือเพราะได้แจ้งข้อมูลข่าวสาร หรือช่วยเหลือปกป้องสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ ให้นำอัตราการจ่ายตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองพยาน พ.ศ.2540 และของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ใช้โดยอนุโลม
เพิ่มเยียวยาจิตวิญญาณ-ส่งไปทำฮัจญ์
(7) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อันเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำผิดทางอาญา การกระทำโดยมิชอบทางการปกครอง หรือการละเมิดที่มีผลกระทบอื่นต่อการประกอบอาชีพ ด้านการศึกษา หรือการดำรงชีวิตอื่น รวมถึงผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อรัฐ ซึ่งจำเป็นต้องให้การเยียวยาเป็นการเฉพาะ หรือต้องเยียวยาทางด้านจิตใจหรือจิตวิญญาณ อาทิ สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายให้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย หรือประกอบศาสนกิจตามหลักศาสนา ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ตามที่กพต. เห็นสมควร
(8) ค่าช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายด้านทรัพย์สิน ให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน พ.ศ.2551 โดยอนุโลมหรือตามมติคณะรัฐมนตรี
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ข่าวในส่วนสัมภาษณ์ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ โดยสำนักข่าวเนชั่น