นักวิชาการแนะตั้งโฆษกภัยพิบัติ-เก็บภาษีน้ำท่วมชดเชยเกษตรกร
เครือข่ายถมช่องว่างฯ ถกจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นธรรม “ไพบูลย์” ชี้ต้องร่วมมือทุกระดับ “เดชรัตน์” เสนอเก็บภาษีน้ำท่วมเป็นเบี้ยประกันเกษตร “กิตติศักดิ์”แนะตั้งโฆษกสื่อสาร ชุมชนร้องตั้งกองทุนภัยพิบัติตำบล
เครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม เปิดเวทีวิชาการ “ความเป็นธรรมในการจัดการภัยพิบัติ” ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ โดยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เสนอว่าการจัดการภัยพิบัติแบบบูรณาการ-ครบวงจร และมีส่วนร่วมทั้งภาคประชาชน รัฐ เอกชนร่วมกัน ต้องเริ่มจากการเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน การบรรเทาและฟื้นฟู โดยวางแผนทั้งระยะไกล ระยะกลาง และระยะใกล้ ร่วมมือทั้งในชุมชน ระหว่างชุมชน จนถึงระดับชาติ
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าอุทกภัยเกิดจากองค์ประกอบ 3 มิติ 1.ธรรมชาติ 2.การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศวัฒนธรรม 3.นโยบายบริหารจัดการน้ำ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชุมชนมี 3 รูปแบบ 1.ผลผลิตและทรัพย์สิน 2.สูญเสียโอกาสจากน้ำท่วม 3.ความสูญเสียที่เกิดจากการเยียวยาล่าช้า ทั้งนี้เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีน้ำท่วม โดยนำภาษีส่วนหนึ่งมาเป็นเบี้ยประกันภัยพืชผลเกษตรกร นอกจากนี้ควรสร้างระบบความรับผิดชอบต่อผลกระทบอันเกิดจากการตัดสินใจของ ภาครัฐ
ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว่าว่าการแก้ปัญหาต้องเริ่มจากวางแผนแม่บทควบคุมสิ่งปลูกสร้างในลุ่มน้ำ ขยายประตูน้ำให้สอดคล้องกับขนาดคลอง ดูแลขุดลอกคลองสม่ำเสมอ ควบคุมการสร้างถนนที่จะปิดกั้นทางน้ำไหล และควรออกมาตรการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน กำหนดระยะเวลาเพาะปลูกในลุ่มน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ
ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่าการปล่อยให้แต่ละจังหวัดสร้างเขื่อนกั้นสองฟากแม่น้ำตามอำเภอใจเพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ตัวเอง เป็นการแบ่งพื้นที่อย่างเลือกปฏิบัติ ท้ายที่สุดจะนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้น
ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าควรจะจัดให้มีโฆษกสื่อสารสาธารณภัยและประสานงานในแต่ละระดับขึ้นทั้งกับประชาชนและหน่วยงาน เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นอกจากนี้ควรจัดทำฐานข้อมูลและประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องระยะยาว ทำให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าถึงและเข้าใจสถานการณ์
เครือข่ายชุมชนเพื่อการจัดการภัยพิบัติ สนับสนุนให้เน้นการจัดการระดับชุมชน/ตำบล โดยมีระดับจังหวัดเป็นจุดเชื่อมโยงบูรณาการแผนงานของ และเสนอจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติระดับตำบล/ภูมินิเวศน์ โดยอาจจัดตั้งขึ้นมาใหม่หรือเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนที่มีอยู่เดิม ที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณสมทบ นอกจากนี้รัฐบาลควรแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่น ภายใต้คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ(กยน.) เพื่อให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
เครือข่ายแรงงานนอกระบบและมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เสนอให้รัฐบาลทบทวนเงินช่วยเหลือที่อยู่อาศัยเสียหาย โดยพิจารณาจากระยะเวลาที่น้ำท่วมขัง ได้แก่ น้ำท่วมขัง 7 วันช่วยเหลือ 5,000 บาท น้ำท่วมขัง 8-15 วันช่วย 1 หมื่นบาท 16-30 วันจ่าย 1.5 หมื่นบาท และท่วมขังตั้งแต่ 31 วันขึ้นไปจ่าย 2 หมื่นบาท และขอให้กำหนดรายละเอียดการช่วยเหลือกรณีเครื่องมือและทุนประกอบอาชีพเสียหายให้ชัดเจน รวมทั้งเพิ่มเงินช่วยเหลือจากครอบครัวละไม่เกิน 1 หมื่นเป็นไม่เกิน 3 หมื่นบาท ส่วนหลังน้ำลดต้องควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาสูงขึ้นและกระจายสินค้าให้ทั่วถึง
มูลนิธิชุมชนไท เสนอว่าภาครัฐต้องสนับสนุนกระบวนการฟื้นฟูวิถีชีวิตโดยชุมชนผู้ประสบภัยเป็นแกนหลัก ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและความต้องการอย่างแท้จริง รวมทั้งเกิดการกระจายสู่ผู้เดือดร้อนได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส .