รศ.รุจน์ โกมลบุตร มองปี 2560 "คสช.กับสื่อก็เหมือน "ไม้เบื่อไม้เมา"
"คาดว่า บรรยากาศในปีหน้าไม่ค่อยจะดีขึ้น กฎระเบียบก็ไม่น่าจะดีขึ้น ส่วนเรื่องทุนก็อาจจะไม่ได้ดีขึ้นมากมายอะไร ผมเลยรู้สึกว่าสื่อในปี 2560 ก็คงคล้ายๆ ปี 2559 "
รอบปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายกับวงการสื่อแทบทุกแขนง ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกปี 2560 ยังต้องจับตาดูกันต่อไป
สำหรับวงการสื่อ รศ.รุจน์ โกมลบุตร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ ให้มุมมองกับสำนักข่าวอิศรา ถึงการอยู่รอดของสื่อในปี 2560 ว่า ควรมีเป้าหมายหลัก 3 ข้อคือ
1.ให้ความบันเทิง เรื่องที่เบาสมอง ข่าวที่อ่านง่ายไม่เครียดมาก
2.ให้ข้อมูลข่าวสาร ให้ความคิดคน ซึ่งขั้นตอนนี้จะยากกว่าขั้นบันเทิง เพราะต้องการความคิดสร้างสรรค์ที่สูงมาก ในการที่จะทำให้เกิดความน่าสนใจ
3.ต้องมีการตรวจสอบ ถ่วงดุลการใช้อำนาจ อันนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุด
โดยเป้าหมายทั้ง 3 ขั้นข้างต้นจะมีตัวแปรทั้งหมด 3 เรื่อง คือ
1.เรื่องของทุน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือในเรื่องของทุนโฆษณาที่มีอยู่ในสื่อโทรทัศน์ เว็บไซต์ สิ่งพิมพ์
"เคยได้มีโอกาสไปดูงบโฆษณาก็ตกใจพอสมควรมีตัวเลขอยู่ 4 ตัวด้วยกัน ได้ตัวเลขมาจากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ในปี 2556 มีการใช้เงินทั้งหมดในการซื้อสื่อทุกชนิด 1.4 แสนล้านบาท ต่อมาปี 2557 ตกลงมาเหลือ 9.3 พันล้านบาท ส่วนปี 2558 ขึ้นมาเป็น 1.1 หมื่นล้านบาท แต่ในปี 2559 ก็ลงมาเหลือ 9.8 หมื่นล้านบาท แปลว่าปี 2559 ที่กำลังจะหมดลงใช้เงินเพื่อการซื้อสื่อน้อยกว่าปี 2558 อยู่ที่ 12 %
พอมาดูตัวเลข 4 ปี น่าตกใจตรงที่ว่าตัวเลขควรจะเพิ่มขึ้นทุกๆปี เพราะมันสะท้อนว่าเศรษฐกิจเราโตขึ้นหรือไม่ แต่ปรากฎว่า กลับถอยหลังลง"
สำหรับปี 2560 รศ.รุจน์ ชี้ว่า อาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นก็ได้ เพราะมีนักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจชี้ว่าตัวเลขการส่งออกของไทยดีขึ้นพุ่งไปถึง 6.9 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 4.4 % นั่นแปลว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น โดยรวมอย่างน้อยต้องไม่แย่ไปกว่าเดิมควรจะดีขึ้น
"หากเศรษฐกิจของไทยดีขึ้น โฆษณาก็จะมาลงให้กับสื่อมากขึ้นแปลว่าโอกาสรอดของสื่อก็มากขึ้น โดยสามารถคาดการได้โดยใช้ตัวแปรสำคัญๆเช่น บรรยากาศโลกจะเป็นอย่างไร"
รศ.รุจน์ ได้ยกตัวอย่างกรณีของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนล่าสุด ซึ่งคนก็ยังมีความรู้สึกไม่แน่นอนว่า คนขึ้นมามีอำนาจแล้วจะมีการกีดกันทางการค้ามากน้อยแค่ไหน หรืออย่างเรื่องบรรยากาศการเลือกตั้งในฝั่งยุโรป ซึ่งก็มีแนวโน้มว่า ฝ่ายขวาจะชนะการเลือกตั้ง
"แบบนี้เป็นบรรยากาศที่ไม่ดีในเรื่องของภาพรวมส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก สรุปคือเรื่องทุนจะอยู่ที่จีดีพี ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องอยู่ที่สถานการณ์ของโลกประกอบด้วย"
ต่อมาทุนกองที่ 2 ที่จะเข้ามาสู่วงการสื่อคือทุนที่มาประเทศจากแถบยุโรป เป็นทุนที่มาเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อมาส่งเสริมให้ประเทศนั้นมีประชาธิปไตย ส่งเสริมเสรีภาพ ส่งเสริมความเท่าเทียม ซึ่งก็จะมีตัวแปรอีก 2 ตัว คือถ้าเศรษฐกิจในประเทศเขาดีเงินบริจาคก็จะไหลมายังประเทศไทยเยอะด้วยเหมือนกัน ตัวแปรต่อมาคือเรื่องบรรยากาศการเมืองในประเทศไทย ถ้าบรรยากาศในประเทศไทยไม่ดีโอกาสที่ทุนจะเข้ามาในประเทศไทยคงจะอยู่ในระดับเดิม
2. กฎระเบียบที่มาควบคุมดูแลสื่อ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องพูดตรงๆว่า ตั้งแต่มีกสทช.มาคนไทยส่วนใหญ่ก็ "กังขา" เกี่ยวกับการทำหน้าที่ในด้านเรื่องของโทรคมนาคม โดยกสทช.อยู่ในทางที่ไม่ค่อยส่งเสริมเสรีภาพทั้ง ๆ ที่เป็นหน้าที่โดยตรงของกสทช. มีแต่จะใช้อำนาจบางประการที่น่ากังขาอย่าง
กรณีล่าสุด เรื่องการใช้ ม.44 ออกคำสั่งที่ให้เลื่อนการจ่ายเงินค่าคลื่นวิทยุ ส่วนตัวตั้งคำถามว่า ทำไมองค์กรอิสระไม่ทำหน้าที่ที่ควรจะเป็น และมีแนวโน้มว่า กสทช.กับการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี)อาจจะมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งเราออกแบบมาให้กสทช.มีอำนาจหน้าที่แบบอิสระ แต่อาจจะไปผูกกับกระทรวงดีอี
"ตรงนี้ก็งง ๆ ว่า เขาจะแสดงบทอย่างไร เลยคิดว่ากสทช.อาจจะไม่ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมตรงกันนี้มากหนักดูจากอดีตและก็คาดว่า อนาคตก็ไม่น่าจะดีขึ้น เพราะว่า คสช.ก็ยังอยู่ถึงปีหน้าแน่ ๆ"รศ.รุจน์ ระบุ พร้อมกับเห็นว่าความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงดีอี คสช. กสทช. เหมือนเป็นคอหอยลูกกระเดือกยังไงก็ไม่รู้ สำหรับกสทช.ที่เป็นตัวแปรเรื่องกฎระเบียบ ก็อาจจะไม่เป็นผลดีหนักสำหรับปี 2560
สำหรับเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่จะออกมาในไตรมาสที่ 1 ถึง ไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 รศ.รุจน์ มองว่า โดยภาพรวมแล้วพ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ยังไม่ค่อยน่าไว้ใจ แม้จะมีคนบอกว่า 14 (1) ที่จะไม่ใช้กับหมิ่ประมาท แต่คำว่า "บิดเบือน" โผล่ขึ้นมา ซึ่งตอนนี้อะไรที่บิดเบือน แต่ไม่หมิ่นประมาทก็ผิดเหมือนกัน
"มาตรา 14(2) ที่ระบุว่า การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ หรือโครงการสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ซึ่งข้อความเหล่านี้ที่เขียนไว้ในพ.ร.บ.คอมฯ จะเป็นอุปสรรคต่อการตรวจสอบ"
3.บรรยากาศโดยรวมของสังคม ปี 2560 จะมีอยู่ 2 เรื่องที่ยังคงอยู่คือ 1.การอยู่ต่อของคสช. เท่าที่รู้สึกคสช.เสียงไม่ตกเลยไปทำโพลทีไรเสียงดีตลอด แต่ว่าคสช.กับสื่อก็เหมือน "ไม้เบื่อไม้เมา"
"อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะพูดถึงเรื่องนี้ได้มากแค่ไหน เพราะคสช.คือผู้มีอำนาจที่จะไขกุญแจเปิดโอกาสการเลือกตั้ง ในเมื่อคสช.รู้สึกว่าการกุมอำนาจและทำให้บ้านเมืองสงบคือสิ่งที่ประชาชนชอบแล้วประชาชนก็ดันชอบจริงๆ และคิดว่าคสช.จะรักษาบรรยากาศแบบนี้ไปจนถึงใกล้วันเลือกตั้ง ถ้าจะให้เทียบก็จะคล้ายๆกับกรณีการลงประชามติคือเงียบจนจะไปโหวตอยู่แล้วค่อยบอก ปีหน้าเรื่องของการเลือกตั้งก็อาจจะโดนเงียบแบบประชามติ"
"คาดว่าบรรยากาศในปีหน้าไม่ค่อยจะดีขึ้น กฎระเบียบก็ไม่น่าจะดีขึ้น ส่วนเรื่องทุนก็อาจจะไม่ได้ดีขึ้นมากมายอะไร ผมเลยรู้สึกว่าสื่อในปี 2560 ก็คงคล้ายๆในปี 2559 "
ขอบคุณภาพจาก : http://www.consumerthai.org