ภาค ปชช.เตรียมตั้งเครือข่ายชุมชนตรวจสอบ รบ.ใช้งบองค์กรน้ำ
ภาคปชช.หวั่นน้ำท่วมปีนี้แก้ยาก จี้รัฐเร่งแผนเสร็จใน 4 เดือน แนะขุดลอกบางปะกง เตรียมตั้งเครือข่ายชุมชนตรวจสอบการใช้งบฯ นักวิชาการติงรัฐ-กยน.เลิกทะเลาะ-ผลักดันน้ำวาระแห่งชาติ
ภายหลังรัฐบาลทุ่มงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทออกแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันอุทกภัยในอนาคต ทั้งระยะเร่งด่วน สั้น และยาว โดยเฉพาะแผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน 6 แผน ได้แก่ 1.แผนงานบริหารจัดการเขื่อนเก็บน้ำหลักและจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำประจำปี 2.แผนการฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างเดิม เช่น คันกั้นน้ำ ขุดลอกคลอง 3.แผนงานพัฒนาคลังข้อมูลและระบบพยากรณ์เตือนภัย 4.แผนงานเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่ พัฒนาระบบป้องกันอุทกภัยในพื้นที่สำคัญ 5.แผนงานกำหนดพื้นที่รับน้ำนองและมาตรการเยียวยา และ6.แผนงานปรับปรุงบริหารองค์กรเพื่อการจัดการน้ำ ไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้ภาคประชาชนกังวลว่าแผนการจัดการน้ำภายใต้การดูแลของกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) จะไม่สามารถป้องกันอุทกภัยในอนาคตได้ทันฤดูน้ำหลากปีนี้
นายอรรถพล พลชัย เกษตรกรสวนส้มโอ เกาะทรงคนอง จ.นครปฐม กล่าวกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่าแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลไม่มีความชัดเจน เป็นเพียงนโยบายที่ขาดรายละเอียดการปฏิบัติ เช่น การขยายแหล่งน้ำ ปรับปรุงคันกั้นน้ำ ทำแก้มลิง ซึ่งล้วนเป็นแนวทางของรัฐบาลทุกสมัยแต่ก็ไม่เคยทำให้ประสบความสำเร็จในการจัดการน้ำ อีกทั้งรัฐบาลก็ไม่ให้ความชัดเจนเรื่องแผนการระบายน้ำทางด้านพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ พื้นที่ธนบุรี นครปฐม เหมือนกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจและแหล่งอุตสาหกรรมอื่นๆ ทำให้ประชาชนไม่มีความมั่นใจว่าจะรอดพ้นจากปัญหาอุทกภัยหรือไม่ เบื้องต้นจึงทำได้เพียงสร้างคันกั้นน้ำป้องกันพื้นที่เกษตรของตนเองและเพื่อนบ้านเพราะหากรอการช่วยเหลือจากรัฐบาลอาจสายเกินแก้
เกษตรกรสวนส้มโอ นครปฐม กล่าวอีกว่า การอนุมัติงบบริหารจัดการน้ำจำนวน 3.5 แสนล้านบาท เป็นการตั้งงบประมาณขึ้นลอย ๆ โดยไม่รู้แหล่งที่มาและขั้นตอนการใช้จ่ายเงิน แต่อย่างไรก็ตามรัฐควรรีบกำหนดแผนปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำให้เป็นรูปธรรมที่สุดและเร่งดำเนินการเพราะจะได้ทุเลาปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ได้
“หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าได้ ควรพิจารณาตัวเองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งความคาดหวังคงไม่ขอให้แก้ปัญหาให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทำให้ทุเลาเบาบางลงได้บ้างก็เพียงพอ เพราะเข้าใจว่าการแก้ปัญหาเรื่องน้ำจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา”
ด้านนายแฉล้ม ทรัพย์มูล ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า รัฐบาลอนุมัติงบบริหารจัดการน้ำ 3.5แสนล้านบาทเป็นเรื่องเหมาะสม เพราะต้องแก้ไขปัญหาทั้งระบบ โดยเฉพาะเส้นทางระบายน้ำ รัฐบาลจึงควรเร่งขุดลอกขยายคลองที่ตื้นเขิน รวมถึงแม่น้ำบางปะกงที่เป็นเส้นทางระบายน้ำออกอีกหนึ่งแห่ง ที่สำคัญต้องส่งเสริมให้ประชาชนอนุรักษ์ป่าและกีดกันการใช้ผลประโยชน์จากป่าของกลุ่มนายทุน ทั้งนี้ภาคประชาชนควรติดตามการใช้จ่ายงบประมาณดำเนินการจัดการน้ำจริงจัง เพราะมีหลายหน่วยงานเข้ามาดูแล ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการทุจริตเงินงบประมาณได้ ซึ่งการสำรวจตรวจสอบเห็นควรตั้งเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่เข้ามาตรวจสอบ
“รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการตามแผนเร่งด่วนตั้งแต่ตอนนี้ เพราะหากเลยเดือนพ.ค. หากการดำเนินการเบื้องต้นไม่แล้วเสร็จ เชื่อว่าไทยต้องประสบกับปัญหาอุทกภัยอีก ที่สำคัญควรบริหารจัดการน้ำครอบคลุมทั่วประเทศ มิใช่เพียงแต่พื้นที่ภาคกลางเท่านั้น มิฉะนั้นจะเป็นเพียงวัวหายล้อมคอก” นายแฉล้ม กล่าว
ขณะที่ผศ.ดร.สัมฤทธิ์ ยศสมศักดิ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า งบประมาณการบริหารจัดการน้ำจะมากน้อยขึ้นอยู่กับแผนปฏิบัติการใช้จ่ายที่เป็นรูปธรรม โดยต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะงบประมาณล้วนมาจากภาษีของประชาชน ดังนั้นประชาชนจึงควรเข้ามามีส่วนในการกำกับดูแลการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ โดยเฉพาะสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เช่น ข้อมูลน้ำท่วม การใช้จ่ายงบประมาณ
“ รัฐบาลและกยน. ต้องสามัคคีกัน เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติให้ชัดเจนและดำเนินการเร็วที่สุดภายใน 4 เดือน จะได้ทุเลาปัญหาน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี พร้อมกันนี้ควรทำเรื่องน้ำเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน อย่าลืมว่าทุกภาคส่วนจับตามองอยู่ โดยเฉพาะภาคประชาชนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ” ผศ.ดร.สัมฤทธิ์ กล่าว