คำถามจาก ม ล สราลี "คุณน้ำผึ้ง" กิติยากร
คำถามของคุณน้ำผึ้ง ผมขอคิดต่อ ณ ที่นี้ว่า จริงอยู่เรายังไม่ถึงขั้นประเทศพัฒนา หรือ ประเทศร่ำรวย แต่จำเป็นด้วยหรือที่เราต้องไปให้ถึงจุดนั้น การเป็นประเทศรายได้ปานกลางแต่ผู้คนมีความสุข มีความพอเพียง คนส่วนใหญ่พอใจในชีวิต ไม่ขาดแคลน ไม่เหลื่อมล้ำกันเกินไป น่าจะเป็นเป้าหมายชาติที่ดีกว่า ซึ่งจะไปให้ถึง ก็จะต้องทำอะไรอีกหลายๆอย่างต่อไปนะครับ หยุดกันแค่ตอนนี้ไม่ได้
หมายเหตุ : ศ.ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โพสต์บทความบนเพจเฟซบุ๊กเอนก เหล่าธรรมทัศน์ Anek Laothamatas เรื่อง คำถามจาก ม ล สราลี "คุณน้ำผึ้ง" กิติยากร
----------
คุณน้ำผึ้ง ม ล สราลี กิติยากร กำลังทำปริญญาโทอยู่ที่ ม รังสิต ในทางรัฐประศาสนศาสตร์ อย่างขมักเขม้นแม้ว่าเธอจะต้องทำงานทำการหลายด้านรวมทั้งถวายงานเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เมื่อวานนี้คุณน้ำผึ้งกับมิตรสหายสองท่าน ซึ่งเป็นศิษย์ ม รังสิตเช่นกัน แวะมาหาผม ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำสถาบันรัฐประศาสนศาสตร์ที่นี่
เธอเอาเพลงใหม่ที่เพิ่งแต่งเสร็จ น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร 9 มาเปิดให้ฟัง เป็นเพลงมาร์ชแต่อ่อนโยนไพเราะ ครับ จากนั้นก็นั่งคุยกันและทานข้าวกันตามประสาศิษย์-อาจารย์ แล้วเธอก็ถามขึ้นมาตอนหนึ่งว่า
"ประเทศไทยเมื่อไรจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วเสียทีค่ะ ?"
ผมนั่งคิดนิดหน่อยแล้วก็ตอบว่า "แต่เราก็พ้นจากความเป็นประเทศยากจน รายได้ต่ำ แล้วนะครับ" ในใจคิดต่อก็พ้นกันมาได้ก็ในสมัยรัชกาลที่ 9 นี้เอง พลางพูดต่อ "เมื่อต้นรัชสมัย ไทยยังยากจน คนจนเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และโลกไม่ค่อยรู้จักประเทศเรา" แต่ในปลายรัชสมัยนั้น นานาชาติธนาคารโลกและสหประชาชาติจัดไทยเป็นประเทศ "รายได้ปานกลาง" แล้ว
ขนาดเศรษฐกิจไทยที่คิดเป็นรายได้ประชาชาติจัดเป็นอันดับที่ 33 ของโลกในปัจจุบัน แต่หากคิดเป็นกำลังซื้อที่เป็นจริง จะใหญ่เป็นอันดับที่ 22-23 ของโลกทีเดียว ไม่เล็ก และก็ไม่ธรรมดาครับ โลกเรานี้มีอยู่ราว 200 ประเทศ ทวีปยุโรปเองก็มีเข้าไปกว่า 20 ประเทศแล้ว ไทยถือว่าเป็นชาติที่ประสบความสำเร็จในทางเศรษฐกิจมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียหรือในโลกเลยก็ว่าได้
ประเทศไทยเวลานี้เป็นประเทศที่คนแทบทั้งโลกรู้จัก ชื่นชม ชอบ มาเที่ยว มาพักผ่อน มาทำงาน ทำธุรกิจ หรือมาเปลี่ยนเครื่องบินมากเป็นอันดับต้นๆของโลก กรุงเทพฯ ของเราเป็นเมืองอันดับหนึ่งหรือสองของโลกที่มีคนต่างชาติเดินทางมามากที่สุด คู่คี่กันกับลอนดอน แต่มากกว่ามหานครปารีส โรม ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ มากกว่า นิวยอร์ค วอชิงตัน โตเกียว สิงคโปร์ ฮ่องกง เสียอีก การท่องเที่ยวของไทย ณ บัดนี้ จัดว่าอยู่ในชั้น"หัวแถว" ของโลกก็ว่าได้
ส่วนสินค้าไทยเล่า ก็เป็นที่นิยม จัดว่าเป็น "ของดี ถึงดีมาก แต่ราคาไม่แพงเลย" กล่าวกันเช่นนี้ทั่วอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรหรืออุตสาหกรรมและหัตถกรรม ในจีนก็พูดกันอย่างนี้ และเชื่อว่าในอเมริกาและยุโรปก็จะพูดกันอย่างนี้ เราได้พ้นจากยุคปลุกเร้าให้คนไทยซื้อก่อน แม้คุณภาพจะยังไม่ถึง เพราะอาศัย "ไทยใช้ (ช่วยกันซื้อ) (ประเทศ) ไทย(จึงจะ) เจริญ" มาสู่ยุคปัจจุบันที่ "สินค้าไทยเรามีคุณภาพจริงๆ และราคาสมเหตุสมผล " คนไทยเองเต็มใจซื้อ ไม่ต้องมาเที่ยวรณรงค์ให้ซื้อ และคนต่างชาติเองก็พากันนิยมใช้
คำถามของคุณน้ำผึ้ง ผมขอคิดต่อ ณ ที่นี้ว่า จริงอยู่เรายังไม่ถึงขั้นประเทศพัฒนา หรือ ประเทศร่ำรวย แต่จำเป็นด้วยหรือที่เราต้องไปให้ถึงจุดนั้น การเป็นประเทศรายได้ปานกลางแต่ผู้คนมีความสุข มีความพอเพียง คนส่วนใหญ่พอใจในชีวิต ไม่ขาดแคลน ไม่เหลื่อมล้ำกันเกินไป น่าจะเป็นเป้าหมายชาติที่ดีกว่า ซึ่งจะไปให้ถึง ก็จะต้องทำอะไรอีกหลายๆอย่างต่อไปนะครับ หยุดกันแค่ตอนนี้ไม่ได้
เรื่องไทยควรจะไปเป็นประเทศพัฒนานั้นถือว่าดีแน่ๆ แล้วนั้น ตัวผมเองทั้งเรียนและทำงานอยู่ในอเมริกาถึง 9 ปี โดยอยู่ในมหานครนิวยอร์ค 5 ปี ไม่เคยคิดอยากจะเห็นไทย "พัฒนา" ไปเป็นเหมือนอเมริกา และให้กรุงเทพฯ "กลายเป็น" นิวยอร์คเลย การดูหรือเทียบตนเองกับประเทศอื่นบ้างน่าจะไม่ผิด ครับ แต่การพัฒนาที่คลั่งใคล้ต้นแบบของ "ตะวันตก" พะวงอยู่แต่กับการจัดอันดับหรือประเภท (rankings) ต่างๆ ตามโลก "ตะวันตก" จนเกินไป น่าจะไม่ใช่เรื่องดี ขอเสนอว่าแทนที่จะมองการพัฒนาของเรา ผ่านตัวแบบหรือโมเดลของฝรั่ง ในวันนี้ เราควรจะกล้าเพ่งพิศ "ตัวตนจริงๆ" ของเรา จุดแข็งจุดอ่อนจริงๆของเรา และพยายามสร้าง "กรอบคิด"ของเราเองให้มากขึ้น
การมองว่าประเทศไทยจะไปได้ดีนั้นจะต้องมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทคหรือธุรกิจผ่านโลกไซเบอร์ต่างๆ นั้น น่าจะคิดใหม่ให้รอบคอบ แน่นอน เราไม่ปฏิเสธความก้าวหน้าและเทคโนโลยี แต่เราเหมาะแล้วหรือที่จะไปแข่งขันในเวทีโลกในด้านนี้ ทำไมจึงเลือกเข้าสู่เวทีที่เราแพ้เปรียบเขาแน่ๆ แพ้มานานแล้ว และคงจะแพ้ต่อไป ทำไมไม่มุ่งทำ"หลั่นล้าอีโคโนมี" ทำไมเราไม่มุ่งบริการการแพทย์และวิชาชีพเพื่อความงามและความสุข และ ทำไมไม่เน้นทำ"เกษตรบูติก" ซึ่งเราได้เปรียบ และไม่มีคู่แข่งมากนัก ที่สำคัญ สิ่งที่ผมกล่าวมาในข้างต้นนี้ล้วนเป็นภาคธุรกิจที่ไม่ต้องยกระดับ หรือ เปลี่ยนเทคโนโลยีอยู่เกือบตลอดเวลา และเปลี่ยนแต่ละทีเปลี่ยนมหาศาล
ผมพูดอย่างนี้ อย่าไปตีความว่าการท่องเที่ยวและบริการสันถวไมตรีจิต หรือ การแพทย์ หรือ การเกษตรนั้น จะอยู่เหมือนเดิม จะหยุดนิ่ง หามิได้ ! แต่การเปลี่ยนแปลง-แข่งขันในภาคเหล่านี้จำกัดกว่าในภาคอุตสาหกรรมและภาคสารสนเทศ-โทรคมนาคมมากนัก