'รุจน์ โกมลบุตร' ชี้สื่อไทยในปี 60 วัดที่กันเนื้อหา ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ชี้คนดูทีวีบนเน็ตนานแล้ว ยันไม่แย่งคนดู คาดอนาคตการไลฟ์ส่งผลต่อวงการโฆษณา
รศ.รุจน์ โกมลบุตร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวยุคที่คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ผ่านสมาร์ทโฟนจำนวนมาก ทำให้มีทางเลือก ในการเสพเนื้อหาที่หลากหลาย ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ใช้เวลากับอุปกรณ์เคลื่อนที่ เสพเนื้อหาโทรศัพท์มากกว่าหน้าจอทีวี
รศ.รุจน์ กล่าวถึงการผลิตงานสื่อส่วนหนึ่ง ซึ่งมีเรื่องของเงินทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉะนั้นต้องดูว่าอนาคตจะมีเงินสนับสนุนมากขึ้นหรือไม่ และจะส่งผลให้สื่อทีวีค่อย ๆ หายไปหรือไม่
"ผมก็ยังเชื่อว่าอีก 5-10 ปี คนก็ยังดูทีวีอยู่เช่นเดิม แม้สื่อออนไลน์จะแย่งคนดูไปบ้าง แต่ตัวเลขคนดูทีวีไม่ได้ลดลงสักเท่าไหร่นัก เพราะที่จริงแล้วคนที่ดูทีวีก็ดูรายการย้อนหลังผ่านออนไลน์มาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้คนดูทีวีลดลง หรือมีผลก็น้อยมากเพราะเป็นคนดูคนละกลุ่มกัน"
รศ.รุจน์ กล่าวถึงคนยุค gen z ไม่ค่อยอยู่กับสื่อกระแสหลัก เสพสื่อทุกอย่างจะผ่านสมาร์ทโฟน จะดูอะไรก็ดูผ่านสมาร์ทโฟน จากหน้าจอโทรทัศน์ จากหนังสือทั้งหลายที่เป็นรูปเล่มจะไปอยู่ในสมาร์ทโฟนแทน ซึ่งเมื่อมาดูตัวเลขในการซื้อสื่อก็จะไปอยู่ที่โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์เป็นหลัก ส่วนเว็บไซต์ยังคงน้อย แต่ก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องคงอาศัยบรรยากาศทางสังคมประกอบด้วย
"อะไรที่ใหม่กว่าและดีกว่าก็ต้องมาทดแทนอันเก่าคือเรื่องปกติ แต่ก็ต้องดูว่าอันใหม่ที่มาแทนจะตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ได้มากน้อยเพียงใด แต่ก็มีอันใหม่ที่มาระยะสั้นก็หายไปของแบบนี้ต้องดูกันอีกยาว"
ส่วนในอนาคต รศ.รุจน์ กล่าวถึงการถ่ายทอดสดจะส่งผลกระทบต่อวงการโฆษณา และจะมีการผลิตเนื้อหาของสื่อมากขึ้น ด้วยผู้บริโภคก็มีตัวเลือกในการเสพสื่อมากขึ้น สนุกขึ้น และเรียลไทม์ขึ้น แต่แบรนด์ก็ต้องทำการบ้านเพิ่มมากขึ้นเช่นกันว่า จะถ่ายทอดสดเพื่ออะไร ต้องถามตัวเองว่า ถ้ามีช่องทีวีจะทำเนื้อหาแบบไหน ต้องเอาคนดูเป็นที่ตั้งว่า คนดูต้องการดูอะไร และต้องดูคาแร็กเตอร์ของสื่อด้วยว่าจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร
ขอบคุณภาพจาก :http://www.consumerthai.org