"เอื้อจิต" ชี้คลื่นอนาล็อกเอาคืนไม่ได้ ปฏิรูปสื่อล้มเหลวสิ้นเชิง หวั่นคสช.มีผลประโยชน์ทับซ้อน
9 ปี ปฏิ-Loop สื่อวิทยุ-โทรทัศน์ไทย...ไปต่ออย่างไร รองอธิการบดี จุฬาฯ ระบุ สื่อมวลชนไทยขาดเสรีภาพในการทำงาน ถูกควบคุมโดยรัฐฯ ด้าน เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ เผย หลังการปฏิวัติปี 2557 สื่อวิทยุชุมชนถูกสั่งปิดทั้งหมด ถึงวันนี้วิทยุชุมชนโดนดราฟไว้หมด โตไม่ได้
เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการสื่อสันติภาพ สถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ ร่วมกับศูนย์สื่อสารองค์กรจุฬาฯ จัดเสวนาสาธารณะเรื่อง "19 ปี ปฏิ-Loop สื่อวิทยุ-โทรทัศน์ไทย...ไปต่ออย่างไร" ณ อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ ชั้น 10 ห้อง 1001 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร. พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความเป็นมาของการเกิดการปฏิรูปสื่อ ซึ่งมีผลมาจากการถูกรัฐบาลควบคุมและปิดกั้นการทำงานในช่วงพฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ทำให้สื่อเกิดการรวมตัว และเรียกร้องให้ได้รับเสรีภาพในการทำงานอีกครั้ง
“ตั้งแต่พฤษภาทมิฬก็มีการปิดกั้นสื่อกันอย่างกว้างขวาง เพราะว่าโครงสร้างการเป็นเจ้าของสื่อเป็นของรัฐ เน้นไปที่สื่อวิทยุโทรทัศน์เป็นหลัก สื่อหนังสือพิมพ์ที่ตอนนั้นต้องการนำเสนออย่างเสรีก็ถูกปิดกั้น นั่นคือมูลเหตุใหญ่ที่ทำไมต้องปฏิรูป ปฏิรูปที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้าง โครงสร้างในการเป็นเจ้าของ โครงสร้างในการเข้าถึง และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางสื่อสารมวลชน”
ผศ.ดร. พิรงรอง กล่าวถึงสื่อที่เป็นของรัฐ หรือสื่อที่ได้รับสัมปทาน โดยในช่วงเวลาปกติต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนเอง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตการณ์ต่างๆ สื่อทั้งหมดจะถูกควบคุม ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ในขณะเดียวกันสื่อกำลังวนอยู่ในสถานการณ์เดิม ยังไม่มีเสรีเท่าที่ควร
“อาจารย์จากต่างประเทศท่านหนึ่งเคยมาพูดที่คณะนิเทศฯ จุฬาฯ บอกว่า สื่อไม่ว่าจะอยู่ในระบอบใด ก็ตามต้องบริการประชาชน ประชาชนจะต้องเป็นเป้าหมายหลักที่สื่อจะต้องให้บริการ และคำนึงถึงเป็นหลัก คิดว่า การปฏิรูปสื่อในสายตาของ คสช.วันนี้ คือ เพื่อให้สื่อเป็นเด็กดี และเชื่อฟังรัฐ"
ด้านนายวิชาญ อุ่นนอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่า ภายหลังการปฏิวัติในปี 2557 สื่อวิทยุชุมชนถูกสั่งให้ปิดทั้งหมด แม้ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะอนุญาตให้มีการเปิดใช้งานได้ตามปกติ แต่ปรากฏว่าเงื่อนไขการเปิดใช้งานมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและซับซ้อนขึ้น
“หลังการปฏิวัติรอบล่าสุด สื่อวิทยุชุมชนโดนปิดหมดเลย แต่พอจะเข้ามาเปิดใหม่ในยุค คสช. เงื่อนไขยากมาก ซึ่งเขาเอามาตรฐานขั้นสูงมาใช้ เอา พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาจับ ที่สำคัญต้องลงนามกับทหาร ถึงจะมาเปิดได้” นายวิชาญ กล่าว และว่า ช่วงก่อนการปฏิวัติมีคลื่นวิทยุประมาณ 7-8 พันคลื่น ภายหลังมีสถานีคลื่นวิทยุทดลองที่กลับมาใช้งานได้ประมาณ 4 พันคลื่น โดยเป็นวิทยุธุรกิจเกือบ 3 พันคลื่น วิทยุสาธารณะ ประมาณ 1 พันคลื่น และของวิทยุชุมชนประมาณ 500 คลื่น
“วิทยุชุมชนตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 500 คลื่น แต่ด้วยเงื่อนไขที่ไปขอต้องจ่ายค่านู่นค่านี่ ไปคุยกับทหาร ตอนนี้เปิดได้จริงแค่ 200 คลื่น รัศมีการออกอากาศกฎหมายบอกห้ามเกิน 20 กิโลเมตร กำลังส่งห้ามเกิน 500 วัตต์ วิทยุชุมชนโดนดราฟ โดนแช่แข็งไว้หมด โตไม่ได้ อีกทั้งภาพลักษณ์ก็ไม่ได้ดีด้วย”
ด้านนายจักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์ และอนุกรรมาธิการด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ในกรรมาธิการด้านสื่อมวลชน สปท. กล่าวว่า การปฏิรูปสื่อที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ถือว่าไม่ใช่การปฏิรูปสื่อที่แท้จริง แต่คือการพยายามบริหารจัดการสื่อ ด้วยอำนาจบางอย่าง
“ทุกวันนี้ไม่ใช่การปฏิรูปสื่อ แต่ถามว่า การปฏิรูปสื่อเคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเอง ก็คือการปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และคลื่นโทรคมนาคม เมื่อปี 40 ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการต่อสู้เมื่อพฤษภาคม 2535 อาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล ท่านเป็นคนริเริ่มให้แนวคิดนี้และท่านก็เขียนในรัฐธรรมนูญด้วย ก็เลยกลายมาเป็นมาตรา 40 แต่ว่าผ่านมาถึงวันนี้ 19 ปีแล้ว ก็ยังวนลูปอยู่ที่เดิม”
นายจักร์กฤษ กล่าวต่อว่า ผลพวงจากการปฏิรูปสื่อ ส่งผลให้เกิดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ที่เข้ามากำกับดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ได้เห็นจากการทำงานของ กสทช. ได้สร้างความผิดหวังแก่ตนเป็นอย่างยิ่ง
“กสทช. เริ่มปฏิบัติงานเมื่อตุลาคม 2554 ถ้านับจากวันนี้ก็ 6 ปีแล้ว เราจะไปคาดหวังอย่างไรว่า 6 ปี บุคคลพวกนี้จะทำอะไรได้มากน้อยขนาดไหน ถ้ามองย้อนหลังไปก่อนที่จะมี กสทช. ทุกคนอยากให้มีองค์กรอิสระไม่ขึ้นกับหน่วยงานใด แต่พอมี กสทช. เราคาดหวังว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย เอาคลื่นมาจัดสรรเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ แต่ว่าเราผิดหวัง ดังนั้นเมื่อเรามี กสทช.เราแทบจะคาดหวังอะไรไม่ได้เลยกับ กสทช.”
ด้านนายสุเทพ วิไลเลิศ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์ เพื่อการปฏิรูปสื่อ กล่าวถึงเรื่องของวิทยุกระจายเสียง ซึ่งมีคำสั่งตามกระบวนการของกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ให้มีการคืนคลื่นความถี่มาจัดสรรใหม่ ซึ่งแต่เดิมหน่วยรัฐเป็นผู้ถือครองทั้งหมด
“ตามกระบวนการของกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ไม่ว่าจะเป็นปี 43 จนมาถึง ปี 53 ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่กำหนดไว้ก็คือให้มีการคืนคลื่นความถี่ ซึ่งแต่เดิมหน่วยงานรัฐทั้งหมดเป็นผู้ถือครอง คืนมาเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ตามประเภทต่างๆ นั่นคือการพูดถึงโครงสร้างที่เป็นธรรม มีการจัดสรรทรัพยากรให้ประชาชน เดิมทีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม กสทช. มีมติว่าให้คืนคลื่นคามถี่วิทยุของหน่วยงานรัฐ ทั้งหมด 27 หน่วยงาน จำนวน 538 คลื่น จะเป็น FM 313 และ AM อีกร้อยกว่าคลื่น รวมทั้งคลื่นสั้นและก็วิทยุท้องถิ่น แต่ภายใต้กระบวนการพิจารณาอันนี้อนุกรรมการรวมทั้ง กสทช. ที่พิจารณารายงานขออนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นความถือครองตามกฎหมาย พบว่าเกือบ 80% ไม่ได้ปฏิบัติตามภารกิจขององค์กร”
คลื่นอนาล็อกเอาคืนไม่ได้ ปฏิรูปสื่อล้มเหลวสิ้นเชิง
ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ เลขาธิการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา และอนุกรรมการด้านการพิจารณาความจำเป็น ในการใช้คลื่นในกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ กล่าวถึงประกาศ คสช.เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 (อ่านประกอบ:ประกาศ คสช. ฉบับที่ 76/2559 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ) ส่งผลให้การปฏิรูปสื่อย้อนถอยหลังกลับไปปี 2535 ซึ่งน่าห่วงมากๆ เป็นการตอกหมุดกิจการวิทยุกระจายเสียง
" รู้สึกแปลกใจกับผลการพิจารณา เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยอนุกรรมการฯ เสนอไป 3 ข้อ คือ 1. ให้กำหนดระยะเวลาแน่นอนในการคืนคลื่น 2.เพื่อการใช้คลื่นให้มีประสิทธิภาพ ให้มีหน่วยงานกำกับดูแล 3. ให้ กสทช. เร่งหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้ 3.1 ถือครองคลื่นในปริมาณที่มาก 3.2 การถือครองนั้นมีการให้บริการในพื้นที่ที่ซับซ้อน 3.3 การใช้คลื่นไม่สอดคล้องกับภารกิจ ให้เร่งเชิญเจรจา เพื่อคืนคลื่นก่อนแผนแม่บทสิ้นสุด"ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว และว่า ข้อเสนอ 3 ข้อ กสท. ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ 2 ใน 4 มีมติ กำหนดระยะเวลาการคืนคลื่น ภาคสมัครใจ ก่อนเมษายน 2560 และสอดคล้องกับ คสช.
ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าวด้วยว่า ถ้าคลื่นอนาล็อกเอาคืนไม่ได้ ปฏิรูปสื่อล้มเหลวสิ้นเชิง เราถามคสช.ได้หรือไม่ ทำไมจึงมีประกาศคสช.วันที่ 20 ธันวาคม 2559 ท่านไม่กลัวประโยชน์ทับซ้อนหรือ และท่านเชื่อข้อมูลจากไหนมา
"มีข้อมูลกลุ่มหน่วยงานเพื่อความมั่นคงมี 6 หน่วยงาน ถือครองคลื่น 47.58% หรือ 256 คลื่น สำหรับกลุ่มหน่วยงานระดับกระทรวง ทบวง กรม ก็ถือครองคลื่นสูงไม่แพ้กัน 32.34% หรือ 174 คลื่น ที่เหลือเป็นกลุ่มหน่วยงานเพื่อการศึกษา และรัฐวิสาหกิจ และยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า การใช้คลื่นไม่สอดคล้องกับภารกิจ หน่วยงานภาครัฐ 28 หน่วยงาน พบว่า ใช้คลื่นสอดคล้องกับภารกิจ 21% ไม่สอดคล้องกับภารกิจ 79% เฉพาะกองทัพบกมี 138 คลื่น ใช้คลื่นสอดคล้องกับภารกิจเพียง 11 คลื่น "
ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าวด้วยว่า ที่คสช.ประกาศม.44 มา ไม่ถือว่าเป็นการปฏิรูปสื่อ ต้องวิ่งต่ออีก 5 ปี ขอให้กสทช.นำผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ และอนุกรรมการด้านการพิจารณาความจำเป็น ในการใช้คลื่นในกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ เผยแพร่ต่อสาธารณะ พร้อมขอให้หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่ได้ประโยชน์แจ้งสาธารณะว่า ทุกปีได้ประโยชน์จากผลประกอบการเท่าไหร่ และนำเงินไปทำอะไร รวมถึงเพื่อกู้ชื่อคสช.ขอให้สั่งกสทช.ประกาศเป็นยุทธศาสตร์ของชาติปฏิรูปสื่อ 5 ปีนี้จะทำอะไรบ้าง ก่อนหมดวาระตุลาคม 2560
"สื่อได้กินช็อกโกแลตหวานไปแล้ว จากคำสั่ง ม.44 ของคสช.ทีวีดิจิตอลได้รับการช่วยเหลือแล้ว แต่แผนแม่บทยืดไป 5 ปี ไม่มีใครพูดถึง"