นักวิชาการแม่โจ้คว้ารางวัลสายพันธ์ุข้าว ปลูกได้ตลอดปี-ผลผลิตดี
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยฯชูผลิตนวัตกรรมไทย รำลึกอัจฉริยะภาพในหลวงจัดวันนักประดิษฐ์แห่งชาติ แสดงผลงานนักคิดค้นทั่วประเทศ “ม.แม่โจ้”คว้าดีเด่นสายพันธ์ข้าว เยาวชนชมวช.ต่อยอดการศึกษาไทย
เมื่อเร็วๆนี้ ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นนทบุรี สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานนักประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่งเสริมเผยแพร่ผลงานนักประดิษฐ์ สนับสนุนนักประดิษฐ์เยาวชนและประชาชนทั่วไปและประกาศเกียรติคุณความสามารถนักประดิษฐ์ออกเผยแพร่ใช้งานได้จริง
ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการวช. กล่าวว่า วันนักประดิษฐ์เป็นวันแห่งการระลึกถึงถึงพระปรีชาสามารถด้านการประดิษฐ์คิดค้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย ซึ่งทรงมีพระราชดำริและพระอัจฉริยภาพด้านการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่าง ๆมากมาย เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้แก่พสกนิกรชาวไทย ที่สำคัญคือเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือกังหันน้ำชัยพัฒนาและได้รับการทูลเกล้าถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.36 จึงเป็นจุดเริ่มของการกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันนักประดิษฐ์โดยวช. และหน่วยงานร่วมภาครัฐและเอกชนได้จัดให้มีงานวันนักประดิษฐ์เป็นประจำทุกปี สำหรับการจัดงานปีนี้อยู่ภายใต้แนวคิด “ต่อยอดความคิด แต่งเติมสิ่งประดิษฐ์ ผลิตนวัตกรรมนำไทย”
เลขาธการวช. กล่าวต่อว่า ภายในงานได้นำนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ นิทรรศการของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเรื่องเด็กและเยาวชนในถิ่นธุรกันดาร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ เกี่ยวกับงานวิจัยด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม มาแสดงเพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รับรู้ถึงอัจฉริยภาพทุกพระองค์ที่ทรงทำเพื่อปวงชนชาวไทยและการแสดงผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ นวัตกรรมสู้ภัยน้ำท่วม ผลงานประดิษฐ์คิดค้นจากต่างประเทศ การประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้นในโครงการค่ายนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ด้วย
ดร.วราภรณ์ แสงทอง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้ได้รับรางวัลดีเด่นด้านเกษตรศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร จากการคิดค้นสายพันธุ์ข้าว กล่าวว่า ผลงานที่ได้รางวัลคือการคิดค้นสายพันธุ์ข้าวเหนียวหอมเตี้ยไม่ไวต่อช่วงแสงสายพันธุ์แม่โจ้2 เป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างข้าวเจ้าหอมต้นเตี้ยไม่ไวต่อช่วงแสงพันธุ์ปทุมธานี1ที่เป็นพันธุ์รับและข้าวเหนียวพันธุ์กข6เป็นพันธุ์ให้ สามารถปลูกได้ทั้งฤดูทั้งนาปีและนาปรัง
“ลักษณะเด่นของสายพันธุ์คือเป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน เป็นข้าวเหนียวหอม เมื่อสุกมีเมล็ดเรียวยาว ต้นเตี้ยและต้านทานต่อการหักล้ม ต้านทานโรคไหม้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ให้ผลผลิตประมาณ 700 กก.ต่อไร่ ขายได้ตันละ14,000 บาท ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ติดต่อกรมการข้าวเพื่อลงนามในความร่วมมือในการวิจัยข้าวร่วมกันต่อไป” ดร.วราภรณ์ กล่าว
นายอุดมศักดิ์ เทภูเขียว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ร.ร.ศรีรัตนวิทยา อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ ที่นำผลโครงการประดิษฐ์ตู้อบยางพาราด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับลงร้อนจากปุ๋ยคอก กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่มีโอกาสเข้าร่วมงานและได้เข้าร่วมโครงการค่ายนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้ เทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ตู้อบแผนยางพาราเป็นกิจกรรมในโรงเรียนที่เกิดจากแนวคิด ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรปลูกยางพาราที่ปัจจุบันปลูกกันมากขึ้น มีปัญหาในการตากยางช่วงฤดูฝน อีกทั้งย่นระยะเวลาในการตากให้สั้นลงอีกด้วย
“ตู้อบทำงานด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ประหยัดพลังงานไฟฟ้า ใช้ปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลสัตว์เป็นตัวให้ไอร้อน โดยมีตู้แผ่นกระสีเป็นตัวเก็บความร้อนสามารถอบยางพาราแผ่นได้ตลอดวัน ไม่ต้องกังวลกับสภาพอากาศที่มีความชื้น ใช้เวลาเพียง 6 วันจากปกติ 15 วันช่วยเกษตรย่นระยะเวลาในการนำผลผลิตออกขาย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลงานนักประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2555 ด้านเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 7 ผลงานได้แก่ รางวัลระดับดีเด่น ผลงานเรื่อง ข้าวเหนียวหอมต้นเตี้ยไม่ไวต่อช่วงแสงสายพันธุ์แม่โจ้2 ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ แสงทองและคณะ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผลงานเรื่อง นวัตกรรมการนำกลับเนื้อยางและสารอนินทรีย์จากกากตะกอนของเสียในอุตสากรรมน้ำยางพารา ของดร.สุรพิชญ ลอยกุลนันท์และคณะศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
รางวัลระดับดี ผลงานเรื่อง เครื่องวัดความขุ่นสำหรับตรวจเชื้อไวรัสในกุ้ง ของดร.อดิศร เตือนตรานนท์และคณะ ศูนย์เทคโนโลยีอิเลคทรอนิคและคอมพิวเตอร์ ผลงานเรื่อง เครื่องหว่านข้าวแห้งติดรถแทรคเตอร์ ของนายสุรเวทย์ กฤษณะเศรณีและนายสันธาร นาควัฒนานุกูล รางวัลประกาศเกียรติคุณ ผลงานเรื่องเครื่องมือเก็บเกี่ยวน้ำมันปาล์ม ของนายยุทธนา เครือหาญชาญพงค์ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร ผลงานเรื่อง บัวสีเหลืองและลูกผสมข้ามสปีชีส์ ของนายวิชัย ภูริปัญญวานิชและคณะ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ขณะที่รางวัลระดับดีเยี่ยมไม่มีผู้ใดได้รับรางวัล
นอกจากนี้ยังมีรางวัลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 5 ผลงาน ด้านวิศวกรรมและอุตสาหกรรม 8 ผลงาน ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ 6 ผลงาน ด้านวิทยาศาสตร์และเภสัช 3 ผลงาน ด้านมนุษยศาสตร์ 5 ผลงาน