‘จุลชีพ ชินวรรโณ’ มองสถานการณ์โลกปี 2017 ตึงเครียด-เสี่ยงเกิดก่อการร้าย
‘จุลชีพ ชินวรรโณ’ มองสถานการณ์สังคมโลก 2017 ตึงเครียด ส่อกระทบการค้าเสรีถูกบีบมากขึ้น แนะรัฐบาลไทยจับมืออาเซียนให้แน่น แชร์ข้อมูลข่าวกรอง พร้อมเปิดใจให้กว้าง เข้าใจโลกที่ซับซ้อน โลกที่เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเร็วและแรง
รศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ กีรตยาจารย์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองระหว่างประเทศ ให้สำนักข่าวอิศราถึงสถานการณ์ด้านการเมือง สังคมโลก ที่น่าติดตามในปี 2017
รศ.ดร.จุลชีพ กล่าวว่า เมื่อโลกเข้าสู่โลกาภิวัตน์ (Globalization) ทำให้เกิดความไม่เท่าทียม โอกาสของแต่ละคนได้รับจึงมีไม่เท่ากัน ซึ่งส่งผลทางด้านการเมือง เนื่องจากคนที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้มีจำนวนไม่มาก ขณะที่มีคนที่รู้สึกว่า ถูกกระทบกระเทือนมากกว่า เช่น งานลดลง จากการที่เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้าน และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง
“กลุ่มคนที่ต่อต้านจะมองว่า ระบบระหว่างประเทศที่เน้นเสรีนิยมไม่ได้ให้ประโยชน์กับตนเองนัก ดังนั้น แนวความคิดชาตินิยม อนุรักษ์นิยม (conservative) จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ดังจะเห็นได้ว่า พรรคการเมืองที่ชูนโยบายเกี่ยวข้องกับชาตินิยม หรือนโยบายที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมน่าจะได้รับการเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้น”
รศ.ดร.จุลชีพ กล่าวว่า มีความเป็นไปไดมากที่ประเทศต่างๆ จะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ของภูมิภาค หรือผลประโยชน์ของโลก ซึ่งจะนำไปสู่ความตึงเครียด หรือความขัดแย้งระหว่างกันได้ โดยเฉพาะการประนีประนอมหรือความร่วมมือจะลดน้อยลง ซึ่งหากต่างฝ่ายต่างคิดถึงตนเองเป็นหลักจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความตึงเครียดมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น
สำหรับผลกระทบทางตรง ทางอ้อมต่อประเทศไทยนั้น รศ.ดร.จุลชีพ กล่าวว่า ในเรื่องเศรษฐกิจอาจมีการออกกฎเกณฑ์ที่กดดันประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น หากจะมีการเจรจาการค้าเสรี ประเทศต่างๆ จะพยายามเรียกร้องมากขึ้น จากเดิมที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ จะเปลี่ยนเป็นหากคุณได้ประโยชน์ ฉันก็จะเสียประโยชน์ ทุกคนจะพยายามเป็นพวก Maximalist เรียกร้องมากๆ ไว้ก่อน ฉะนั้นจะทำให้ประเทศเล็กๆ รู้สึกไม่พอใจ ขณะที่ประเทศใหญ่ๆ มีอำนาจ จะเรียกร้องและกดดันให้ประเทศเล็กๆ ให้ยอมในหลายๆ เรื่อง ไม่ได้เฉพาะกับประเทศใหญ่ๆ ในตะวันตก แต่รวมถึงประเทศใหญ่ๆ ที่อยู่ในเอเชียด้วย
รศ.ดร.จุลชีพ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องร่วมมือกับประเทศในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หากมีท่าทีแตกต่างกันออกไปก็จะถูกกดดัน แม้เราอาจจะถูกกดดันมากขึ้น แต่แรงกดดันก็จะช่วยทำให้อาเซียนร่วมมือกันมากขึ้นเช่นกัน
ส่วนเรื่องการก่อการร้าย รศ.ดร.จุลชีพ กล่าวอีกว่า มีโอกาสเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากกลุ่มขบวนการ แต่จะเกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับสิ่งที่กลุ่มขบวนการนำเสนอ แล้วปฏิบัติการเอง ทำให้การป้องกันทำได้ยากขึ้น
“ในประเด็นเหล่านี้ ประเทศเล็กๆ จะต้องร่วมมือกันเรื่องข่าวกรอง ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญที่จะมีผลตามมา คือ เสรีภาพของคนอาจจะถูกจำกัดลง เพราะรัฐจะเรียกร้องว่า มีความจำเป็นต้องติดตามคนที่คิดจะก่อการร้าย ซึ่งจะกระทบต่อเสรีภาพไปในตัว จึงเป็น Dilemma (ภาวะที่ยากลำบากในการตัดสินใจ) ว่า ระหว่าง เสรีภาพ กับความสงบเรียบร้อยในการป้องกันภัยคุกคาม ภาครัฐจะสร้างดุลยภาพระหว่าง 2 ทางนี้ได้อย่างไร”
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองระหว่างประเทศ กล่าวด้วยว่า หากให้ภาครัฐดำเนินการอย่างเดียว รัฐก็จะมุ่งเน้น เรื่องความสงบเรียบร้อยในการป้องกันการก่อการร้ายมาก่อน เช่นนั้นแล้ว ภาครัฐกับประชาชนต้องคุยกันให้มากขึ้นว่า อะไรคือจุดสมดุลระหว่าง 2 ทางนี้ แต่ละฝ่ายอาจต้องยอมกันในบางเรื่อง ส่วนจะยอมกันอย่างไรต้องพูดคุยกัน เพราะประชาชนแต่ละประเทศอาจจะยอมไม่เหมือนกันก็ได้ คนในตัวเมือง และคนในชนบทก็อาจจะยอมไม่เหมือนกัน ในประเทศเดียวกันอาจมองต่างกัน ภาครัฐจึงต้องยืดหยุ่นมากขึ้น การที่ภาครัฐจะยืดหยุ่นได้นั้น ต้องเปิดใจกว้าง ซึ่งจะเกิดได้จาการที่รัฐมีผู้นำที่ค่อนข้างใจกว้าง และค่อนข้างเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า โลกขณะนี้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก และค่อนข้างเร็ว และไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณ แต่เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้บางทีซับซ้อนจนคนที่ไม่ได้ติดตามสถานการณ์ไม่เข้าใจ ทำให้เกิดช่องว่างทางความคิดระหว่างกัน
ที่มาภาพ:citizenthaipbs