เครือข่ายผู้บริโภคร้อง ป.ป.ช.สอบ กสทช.ไม่บังคับค่ายมือถือคิดค่าโทรตามจริง
เครือผู้บริโภค ยื่นหนังสือ ป.ป.ช. ร้องสอบ กสทช. ไม่ยอมบังคับค่ายมือถือคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาทีทุกโปรโมชั่น อ้างทำประชาชนเสียหาย 2 ปี ไม่ต่ำกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เครือข่ายผู้บริโภค ได้แก่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.) และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่บังคับค่ายโทรศัพท์มือถือ คิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาทีทุกโปรโมชั่น ส่งผลให้ผู้บริโภคเสียหายสองปีไม่ต่ำกว่า 76,800 ล้านบาท
โดย เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. วันที่ 28 ธ.ค. 2559 น.ส.ชลดา บุญเกษม ตัวแทน คอบช. พร้อมด้วย น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคม สอบ. ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยขอให้ตรวจสอบ เลขาธิการ กสทช. กรณีไม่บังคับให้ผู้รับใบอนุญาต 2 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด (AWN) และ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั้น จำกัด (TUC) ให้คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย ตามที่ได้มีมติ กทค. เมื่อ 17 พ.ค. 2559
“พวกเรามายื่น ป.ป.ช. เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์ที่ไม่คิดค่าโทร.ตามจริง ที่หน่วยงานของรัฐ คือ เลขาฯ กสทช. และคณะกรรมการเสียงข้างมากใน กทค. ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง เรียกว่า ล่าช้าและไม่บังคับให้บริษัทฯ ทำตาม ทั้ง ๆ ที่ ได้รับข้อเสนอจาก สปช. เป็นเวลา 2 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ไม่มีผลในทางปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่ หลักเกณฑ์ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องคิดค่าโทร. เป็นวินาทีตามจริงทุกการส่งเสริมการขาย แต่ปรากฏว่า ยังมีการส่งเสริมการขายที่เอาเปรียบผู้บริโภคอยู่ โดยหากคำนวณจากผู้ใช้บริการของสองบริษัทดังกล่าวที่มีจำนวนผู้ใช้บริการประมาณ 64 ล้านหมายเลข ซึ่งเมื่อโดนปัดเศษวันละครั้ง ความเสียหายเบื้องต้นจะอยู่ที่ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาทภายใน 7 เดือน หรือประมาณ 2,576.1 ล้านบาทต่อเดือน เรียกว่า ไม่คุ้มครองผู้บริโภค วันนี้เลยจะมาขอให้ ป.ป.ช. ช่วยพิจารณาตรวจสอบทั้ง เลขาฯ กสทช. และ คณะกรรมการเสียงข้างมากใน กทค. เนื่องจาก ความผิดดังกล่าวอยู่ในอำนาจการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.” น.ส.ชลดา กล่าวและว่า
โดย น.ส.ชลดา กล่าวด้วยว่า เลขาฯ กสทช. ไม่สามารถอ้างเหตุอุทธรณ์คำสั่งของเอกชนทั้ง 2 แห่งได้ เพราะมติ กสทช. ถือเป็นที่สุด หากบริษัทไม่พอใจต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการฟ้องคดี หลังมีคำสั่งมากกว่า 6 เดือน ทั้งนี้ นอกจากจะไม่สามารถบังคับผู้ให้บริการปฏิบัติตามมติ กทค. ได้ เลขาฯ กสทช. กลับเสนอให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาทบทวนมติ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภค และอาจจะเข้าข่ายความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา เข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ขณะที่ น.ส.บุญยืน นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวสำทับว่า มติ กทค. เมื่อ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบการให้บริการบนคลื่นวามถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ให้มีการคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย และมีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการให้รับทราบแนวทางแล้ว แต่จากติดตามอย่างต่อเนื่อง พบว่า ไม่มีผู้รับใบอนุญาตรายใดทำตามมติเลย ทั้งที่ เป็นคำสั่งทางปกครอง ทั้งที่ ระยะเวลาผ่านมามากกว่า 6 เดือนแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยงยุทธ มะลิทอง รองเลขาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ลงมารับเรื่องดังกล่าว
สำหรับกรณีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 29/2559 ได้พิจารณาเรื่องแนวทางบังคับผู้ให้บริการคิดค่าบริการเสียงตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที โดยเรื่องนี้สืบเนื่องจากที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 10/2559 เมื่อ 17 พ.ค.2559 ได้เคยมีมติให้ผู้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz (คลื่น 4G) จะต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมเสริมการขาย ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตการให้ใช้คลื่นความถี่ที่กำหนดให้ “ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีบริการที่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการกำหนดอัตราค่าบริการที่สมเหตุสมผล ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค มีความชัดเจน และการให้บริการที่มีคุณภาพตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด” โดยมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ด้วยว่า ต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง
อย่างไรก็ดี เครือข่ายผู้บริโภค ตรวจสอบพบในรายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2557 ยกตัวอย่างผู้บริโภครายหนึ่งซึ่งถูกเอาเปรียบจากผู้ให้บริการในการใช้งานค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษ ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภครายดังกล่าวต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่เกินมาจากโปรโมชั่นใช้งานปัจจุบัน
ทั้งนี้ มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ยังคงไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นจึงมีข้อเสนอจำนวน 3 ข้อ ในการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่
1.คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) จะต้องบังคับให้ผู้ประกอบการทุกรายคิดค่าบริการตามจริง โดยไม่ปัดเศษและเป็นการไม่ปัดเศษในทุกค่าบริการด้วย เพราะหากเป็นบางบริการ ผู้ประกอบการทำให้ค่าเฉลี่ยตรงนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าค่าบริการแบบปัดเศษ ค่าบริการที่คิดตามจริงจะต้องเป็นค่าบริการในทุกบริการและจะต้องสามารถทำได้ในตัวโปรโมชั่นเลย
2.กทค. กสทช. ไม่ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด เตรียมยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.กสทช. 2553 มาตราที่7 (9) ซึ่งระบุให้ กสทช. นั้นมีหน้าที่กำหนดโครงสร้างและค่าบริการที่เป็นธรรม
3.พร้อมขอให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบว่าหน่วยงานราชการทั้งหลายได้ใช้จ่ายเงินไปเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับราชการจริงหรือไม่
อ่านประกอบ : เกือบ 2 ปีไม่คืบ บังคับค่ายมือถือคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที ชี้ผู้บริโภคเสียหายพุ่ง 7.6 หมื่นล.