ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเปิดตัวเลขฆ่ากันในครอบครัว ปี' 56 พุ่งเกิน 200 ราย
ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดสถิติเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวเฉลี่ยปีละ 250 ราย 75 % เป็นความรุนแรงภายในครอบครัว "ทิชา ณ นคร" จี้สังคมเปลี่ยนมุมมอง ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ขณะที่ ดร.กฤตยา ยันการสอนกฎหมายของไทย ล้าหลัง แถมระบบความยุติธรรมไม่ทำความเข้าใจเรื่องความรุนแรง
วันที่ 27 ธันวาคม มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จัดเสวนาหัวข้อ “เมื่อกระบวนการยุติธรรมมองเหยื่อความรุนแรงเป็นอาชญากร”ณ ห้องกิ่งทอง โรงแรมเอเชีย เพื่อร่วมหาทางออกมิติปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงสถานการณ์การที่ภรรยาถูกสามีทำร้ายร่างกายว่า เป็นเหมือนปัญหาที่อยู่ใต้พรม เพราะคนจะมองเป็นเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องภายในครอบครัว
"ทางมูลนิธิฯ ได้มีการสำรวจสถิติจากหนังสือพิมพ์หัวสี 5 ฉบับ นับย้อนหลังตั้งแต่ปี 2553 โดยเน้นเรื่องการฆ่ากันภายในครอบครัว โดยปี 2552 มีจำนวน 175 ราย ต่อมาปี 2553 มีจำนวน 186 ราย และในปี 2556 เพิ่มจำนวนเป็น 206 ราย แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การฆ่ากันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุที่สามีฆ่าภรรยามาจากการหึงหวงและบังคับให้หลับนอน ส่วนสาเหตุที่ภรรยาฆ่าสามีคือตัวเองถูกทำร้ายร่างกายมาเป็นระยะเวลานาน"
นายจะเด็จ กล่าวอีกว่า ทางมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวเฉลี่ยปีละ 250 ราย และประมาณ 75 % จะเป็นความรุนแรงภายในครอบครัว จากการพูดคุยกับผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรง จะมีความเครียด และคิดว่าตัวเองผิด ในหลายคนมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายเพราะคิดว่าตัวเองไม่มีอนาคตแล้ว
"สถานการณ์แบบนี้เป็นเรื่องที่สำคัญคนในสังคมต้องมีส่วนร่วมกันในการแก้ไขปัญหา"
ด้านนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวถึงคดีดังที่เป็นข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ส่วนตัวคิดว่านี่คือเป็นมรดกบาปที่สำคัญ เนื่องจากคดีนั้นเกี่ยวโยงกับสังคมไทยทั้งระบบ เพราะความรุนแรงในครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ
"ย้อนกลับไปในวันที่ 11 กรกฏาคม ปี 2556 คดีหมอผู้หญิงพร้อมกับคุณแม่ของฝ่ายชายไปแจ้งความว่า ถูกทำร้าย ซึ่งในวันต่อมาตำรวจได้เข้าไปตรวจค้นบ้านฝ่ายชาย และได้พบว่า มีอุปกรณ์ที่บ่งชี้ว่า หมอผู้หญิงได้ถูกทำร้ายร่างกายจริง และวันที่ 13 กรกฏาคม ปี 2556 ฝ่ายชายถูกตั้งข้อหาถึง 4 ข้อหา คือ 1.พยายามฆ่า 2.ทำร้ายร่างกาย 3. พกอาวุธ และที่สำคัญ 4. การกระทำรุนแรงในครอบครัว และถัดมาผู้ชายก็ได้ถูกตั้งข้อหาเพิ่มอีก 4 ข้อหา รวมเป็น 8 ข้อหา หลังจากที่นั้นอีก 1 เดือน ผู้ชายถูกฆ่าเสียชีวิต จริงๆ เราไม่รู้หรอกว่าใครทำ เพราะฝ่ายชายก็มีศัตรูเยอะแยะ และเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ศาลตัดสินให้ประหารชีวิตหมอผู้หญิง"
นางทิชา กล่าวว่า หากย้อนกลับไปดูที่ต้นตอของเหตุการณ์ครั้งนี้จะพบว่า ในครอบครัวยังมีมนุษย์อยู่ มีเด็ก มีผู้หญิง มีเลือดเนื้อ หมอผู้หญิงที่เป็นข่าวก็ได้บอกว่า ยินดีให้อภัย แต่ไม่ขอกลับไปอยู่ด้วย คำพูดนี้แสดงให้เห็นว่า เธอกลัว แต่คนไกล่เกลี่ยคิดแค่ว่า 2 คนนี้ต้องกลับมาคืนดีกัน 2 คนนี้ต้องเป็นพ่อแม่ของลูก จริง ๆ ควรรักษาแค่ความเป็นพ่อและแม่ให้กับเด็กเท่านั้น ไม่ต้องรักษาความเป็นสามีภรรยาให้กับเขา เพราะการเป็นสามีภรรยาสามารถหมดอายุได้
"ถ้าเราไม่ตั้งคำถามกับเรื่องนี้ ทำไมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ที่ผู้หญิงคนหนึ่งไปแจ้งความ ใช้ความรุนแรงในครอบครัว ทำไมถึงไม่ถูกพูด หากไม่พูดเรื่องนี้เรากำลังส่งผ่านชุดความคิดแบบนี้ไปให้คนรุ่นต่อไป ซึ่งเป็นภาระที่หนักมากสำหรับเด็กลูกหลานที่จะเกิดมาบนแผ่นดินนี้ ที่กฎหมาย ประเพณี จารีตที่บอกว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว"
ขณะที่ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล กรรมการบริหารสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แนวคิดกระบวนการทำร้ายร่างกายเป็นมาต่อเนื่องยาวนาน ไม่ว่าใครทำกับใครก็ตามเป็นกระบวนการฆ่าอย่างหนึ่ง แต่เป็นการฆ่าที่ต้องใช้เวลา เป็นกระบวนการทำลายศักดิ์ศรีมนุษย์ เรื่องความรุนแรงเป็นประเด็นที่สังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจ โดยความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ไม่เคยอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือในคณะนิติศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่งการสอนกฎหมายของไทยนั้นล้าหลังมาก ระบบความยุติธรรมไม่ทำความเข้าใจในความรู้ของกระบวนการยุติธรรม
"ประเด็นต่อมาคือเรื่องความเชื่อที่ว่าครอบครัวแบบจารีตที่ต้องมีพ่อแม่ลูกถึงจะครบครอบครัวยังฝังหัวอยู่ แต่ปัจจุบันไม่เป็นจริงอีกแล้วในสังคมปัจจุบันนี้ ครอบครัวพ่อแม่ลูกไม่ได้เป็นตัวพิสูจน์ว่าเป็นสิ่งที่สมบูรณ์ ชีวิตจะมีความสุข"
ดร.กฤตยา กล่าวอีกว่า เรื่องความรุนแรง สาเหตุมาจากเรื่องที่สะสมมายาวนาน ไม่ใช่เรื่องของการลุแก่โทสะหรือฆ่าเพื่อหวังประโยชน์ แต่ทำเพราะต้องการเอาชีวิตรอด อีกทั้งยังมีประเด็นเชิงอำนาจ ผู้ชายใช้อำนาจครอบครองผู้หญิง โดยแนะนำว่า เราควรจะต้องมีอุดมการณ์ครอบครัวอีกแบบหนึ่ง ซึ่งทุกคนต้องออกแบบเองได้ และจะเป็นครอบครัวที่มีความสุขอยู่ในนั้น
รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงความรุนแรงในครอบครัวส่วนมากจะเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายชาย ในสังคมไทยมองว่า การทำร้ายร่างกายก็คือการทำร้ายร่างกายแม้จะเป็นความรุนแรงในครอบครัว ในสังคมบางสังคมเขาบอกว่า การทำร้ายร่างกายหรือทำร้ายจิตใจของภรรยาเป็นการกระบวนการฆ่าอย่างหนึ่ง
"ผู้หญิงจำนวนมากจบชีวิตด้วยการตาย จึงอยากเรียกร้องให้บรรจุความรุนแรงในครอบครัวใส่เข้าไปประกอบการพิจารณา หรือการใช้ดุลยพินิจของศาล ควรมีการทบทวนมาตรฐานกำหนดโทษ เนื่องจากต้องคิดถึงสภาวะสิ่งที่ผู้หญิงเผชิญตามความเป็นจริง ซึ่งในต่างประเทศได้พิจารณาคดีลักษณะนี้มาแล้ว และเคยมีการปล่อยตัวภรรยาที่ฆ่าสามีเพื่อพิจารณาคดีใหม่ ในประเทศเราชอบคิดแต่จะไกล่เกลี่ย แต่ก็ไกล่เกลี่ยแบบไม่มีองค์ความรู้และก็ไกล่เกลี่ยแบบไม่มีมุมมองในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและต้องให้ความสำคัญของผู้ที่เสียหาย ดังนั้นเป็นปัญหาในเรื่องของเชิงระบบ"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ความรุนแรงในครอบครัว อาการป่วยทางจิต กดดันจนต้องฆ่า เปิดกฎหมายไทยไปถึงไหน