พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กับ พื้นที่ส่วนตัว
เมื่อสัปดาห์ก่อน ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเห็นชอบ 168 เสียง งดออกเสียง 5 ให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในวาระ 2 และ 3 โดยก่อนหน้าที่ สนช.จะรับร่างพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับนี้ ได้มีเสียงคัดค้านเกี่ยวกับเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการให้อำนาจรัฐเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนได้มากเกินไป โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมปกติที่ต้องขอหมายค้นจากศาลก่อน
ประเด็นดังกล่าวนี้ ทำให้นึกถึงคำวินิจฉัยของศาลสูงสุด สหรัฐ ฯ (Supreme Court of the United States) เมื่อปี 2014 ในคดีระหว่าง นายเดวิด ไรเลย์ กับ รัฐแคลิฟอร์เนีย (Riley v. California) ในประเด็นเรื่อง การค้น/เปิดดูข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องสงสัยในระหว่างกำลังถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยปราศจากหมายค้นนั้นขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือไม่? เพราะบทแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ สหรัฐอเมริกา ( the Fourth Amendment) บัญญัติไว้ว่า....
“สิทธิของประชาชนที่จะมีความปลอดภัยในร่างกาย เคหสถาน เอกสารและทรัพย์สิ่งของจากการถูกตรวจค้นหรือยึดโดยไม่มีสาเหตุอันควร จะละเมิดไม่ได้และจะออกหมายเพื่อกระทำดังกล่าวใด ๆ ไม่ได้ เว้นแต่จะมีเหตุอันควรเชื่อถือซึ่งได้รับการยืนยันด้วยคำสาบานหรือปฎิญาณและโดยเฉพาะต้องระบุสถานที่ที่จะค้นหรือบุคคลที่จะจับกุมหรือสิ่งที่จะยึดไว้ในหมายนั้น”
“The right of the people to be secure in their persons, houses, papers, and effects, against unreasonable searches and seizures, shall not be violated, and no Warrants shall issue, but upon probable cause, supported by Oath or affirmation, and particularly describing the place to be searched, and the persons or things to be seized”
มูลเหตุคดีนี้เริ่มมาจาก วันที่ 22 สิงหาคม 2009 ขณะที่นายไรเลย์กำลังขับรถอยู่ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมืองซาน ดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เรียกให้จอดเพราะพบว่าป้ายทะเบียนรถหมดอายุและเมื่อตรวจสอบใบขับขี่ของนายไรเลย์ก็พบว่ากำลังถูกระงับการใช้งานอยู่ เท่านั้นยังไม่พอ พอค้นรถต่อไปก็พบปืนอีกสองกระบอกถูกซ่อนไว้ในกระโปรงหน้ารถ ตำรวจจึงทำการอายัดรถไว้ ระหว่างการค้นตัว เจ้าหน้าได้เปิดดูข้อมูลในโทรศัพท์ของไรเลย์โดยปราศจากหมายค้น ซึ่งพบหลักฐานหลายอย่าง เช่น รูปภาพ ข้อความ เบอร์โทรศัพท์ต่าง ๆ คลิปวีดีโอ ที่บ่งบอกว่านายไรเลย์เป็นหนึ่งในสมาชิกแก๊งค์สเตอร์ชื่อ Lincoln Park gang ที่พัวพันกับเหตุการณ์ฆาตกรรมเมื่อยี่สิบวันก่อนหน้านั้น และภายหลังเมื่อตำรวจเอาปืนที่พบในรถไปตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ก็พบว่าเป็นกระบอกเดียวกันกับที่ใช้ในเหตุการณ์ดังกล่าว นายไรเลย์จึงถูกส่งฟ้องศาลและถูกตัดสินว่ามีความผิด ต้องโทษติดคุกในข้อหาฆาตกรรม ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ รัฐแคลิฟอร์เนีย
ระหว่างการต่อสู้ทางศาล ทนายฝ่ายจำเลยพยายามใช้ประเด็นการตรวจค้นข้อมูลในโทรศัพท์ของนายไรเลย์โดยไม่มีหมายค้นมาต่อสู้ว่าการกระทำดังกล่าวขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สหรัฐ ฯ ในบทแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 ได้ส่งเรื่องไปยังศาลสูงสุด รัฐแคลิฟอร์เนีย (California Supreme Court) เพื่อให้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ซึ่งศาลสูงแคลิฟอร์เนียก็วินิจฉัยว่าสามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวมีความแตกต่างกันในหลายรัฐ เช่น ศาลสูง รัฐฟลอริดากับรัฐโอไฮโอมีคำวินิจฉัยว่ากระกระทำดังกล่าวขัดกับบทแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญ สหรัฐ ฯ ขณะที่ศาลสูง รัฐแมสซาชูเซตส์และรัฐจอร์เจียมีคำวินิจฉัยไปในทิศทางเดียวกับศาลสูงแคลิฟอร์เนีย แม้กระทั่ง ศาลอุทธรณ์ในระดับรัฐบาลกลางก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน เช่น ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 ของรัฐบาลกลาง สหรัฐ ฯ เห็นว่าทำไม่ได้ ขณะที่ ศาลอุทธรณ์ ภาค 4, 5 และ 7 กลับเห็นว่าทำได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเด็นปัญหานี้จึงถูกนำขึ้นไปสู่ระดับ ศาลสูงสุด สหรัฐ ฯ (Supreme Court of the United States) เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งก็มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า….การค้นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์/ดิจิตอล (digital data) ในโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องสงสัยในระหว่างการถูกจับกุมโดยปราศจากหมายค้นขัดกับบทแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ สหรัฐอเมริกา.....
นายจอห์น โรเบิร์ต ประธาน ศาลสูงสุด ได้เขียนคำวินิจฉัยส่วนตัวตอนหนึ่งพอสรุปได้ดังนี้....ข้อมูลดิจิตอลที่เก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือ(ของผู้ต้องสงสัย) ไม่สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธที่เป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ขณะกำลังจับกุมหรือช่วยให้ผู้ต้องสงสัยหลบหนีได้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้ายังคงมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบลักษณะทางกายภาพของโทรศัพท์เพื่อให้แน่ใจว่ามันจะไม่ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธ เช่น ตรวจสอบดูว่า ไม่ได้มีใบมีดโกนถูกซ่อนอยู่ในซองใส่โทรศัพท์
แต่ข้อมูลใด ๆ ที่อยู่ในเครื่องโทรศัพท์มือถือนั้น ไม่สามารถทำร้ายใครได้ ตราบ...เท่าที่ (เจ้าหน้าที่) ตรวจสอบจนมั่นใจแล้วว่า ลักษณะทางกายภาพใด ๆ ของโทรศัพท์ไม่สามารถถูกใช้เป็นภัยคุกคามต่อเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่น ๆ ได้
และอีกตอนหนึ่ง ในความคำวินิจฉัยของนายโรเบิร์ต เขียนว่า....โทรศัพท์มือถือในยุคสมัยนี้ (Smart phone) สามารถเก็บข้อมูลส่วนตัว (เจ้าของเครื่อง) ไว้ได้มากมายมหาศาลในรูปแบบดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็น ภาพถ่าย คลิปวีดีโอ ข้อความต่าง ๆ ทั้งอีเมล์และข้อความเสียง เอกสารการทำธุรกรรมต่าง ๆ ปฎิทินการนัดหมาย ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางการแพทย์ ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ แต่ก่อนจะถูกเก็บไว้ที่บ้าน ถ้าจะมีการตรวจค้นข้อมูลเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องมีหมายศาลมาเพื่อขอเข้าไปตรวจค้นในบ้าน แต่ปัจจุบัน ข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้สามารถเก็บไว้ได้ในโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว
…อุปกรณ์ที่บรรจุข้อมูล “ชีวิต(เรื่อง)ส่วนตัว” ของแต่ละคนไว้ และด้วยการที่เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถทำให้ข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกันสามารถถูกพกพาไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกนั้น มันก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าในการปกป้องรักษาข้อมูลอันอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวของพลเมืองอเมริกันทุกคน ลดน้อยลงไปแต่ประการใด ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการปกปักษ์รักษาสิทธิของประชาชนที่จะมีความปลอดภัยในร่างกาย เคหสถาน เอกสารและทรัพย์สิ่งของจากการถูกตรวจค้นหรือยึดโดยไม่มีสาเหตุอันควร จะละเมิดไม่ได้...”
ครับ....แต่ละสังคมต่างก็ให้ความสำคัญในคุณค่าเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว หรือ “พื้นที่ส่วนตัว” ของพลเมืองมากน้อยต่างกันไปตามความศิวิไลซ์ทางการเมือง (political civilization) ของประเทศนั้น ๆ
ขอบคุณภาพประกอบจาก : happyhizeyrc.blogspot.com