‘หมอสุวิทย์’ ชี้ระบบราชการรวมศูนย์ ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาด้านสุขภาพ
นพ.สุวิทย์ วิบูลผลประเสริฐ ชี้ระบบราชการยังงุ่มง่าม ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาด้านสุขภาพยุค 4.0 แนะทำประเด็นด้านสุขภาพให้เป็นรูปธรรม แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน
เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 มีการจัดเสวนาหัวข้อ ‘ประเทศไทยยุค 4.0…พัฒนาแบบไหนที่ยั่งยืน’ โดยมีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประตำสำนักนายกรัฐมนตรี, นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม, นพ.สุวิทย์ วิบูลผลประเสริฐ ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 9 และนายสุทธินันท์ ปรัชญพฤกธิ์ ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมเสวนา
นายกอบศักดิ์ กล่าวถึงประเทศไทย 4.0 คือเป้าหมายของประเทศไทย ที่มุ่งหวังสร้างความเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ประเทศไทยเป็นผู้รับจ้างผลิต เป็นลูกจ้างอย่างเดียว จะต้องใช้ปัญญาและนวัตกรรมมากขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงไทยแลนด์ 4.0 ทุกคนจะคิดว่า ต้องเป็นนวัตกรรมใหม่ ทำจรวดหรืออะไรประเภทนี้ นวัตกรรมจึงถูกมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้วสติปัญญา นวัตกรรมสามารถนำมาปรับใช้ได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะทำธุรกิจ หรือการเกษตร เช่น ข้าวที่ปลูกกันมาเป็นสิบปี จะต้องทำให้มีเอกลักษณ์ ปลูกพันธุ์เฉพาะ ยกตัวอย่างทุเรียนเมืองนนท์ปลูกขายกันลูกละ 20,000 บาท รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ตรวจเช็คสภาพภูมิอากาศ ราคารับซื้อสินค้าในตลาดแต่ละแห่ง ใช้จีพีเอสหาพิกัดที่เหมาะสมในการปลูกพืช เป็นต้น
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ท้องถิ่นในประเทศไทยมีอัตลักษณ์ที่ต่างกันอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่ถูกปรุงแต่งให้ติดตาติดใจ ฉะนั้น ยุคนี้ต้องปรับเปลี่ยน ต้องคิดให้ดีว่าจะทำอะไรและทำให้ดียิ่งขึ้น
ด้านนางชุตินาฏ กล่าวถึงการก้าวสู่ประเทศไทยยุค 4.0 ว่า ประเทศไทยมีกรอบและกำหนดทิศทางชัดเจน ในช่วง 5 ปีแรกจะเดินไปตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ระยะ 5 ปี ที่เน้นพัฒนาทั้งเรื่องความมั่นคง ขีดความสามารถในการแข่งขัน ทรัพยากร พลังงาน การจัดการด้านการเติบโตบนพื้นฐานของความยั่งยืนสร้างความเป็นธรรม ลดเหลื่อมล้ำ บนสภาพแวดล้อมที่ดีในการดำรงชีวิต ที่สำคัญคือเน้นพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ตลอดช่วงวัย ซึ่งทั้งหมดนี้จะเดินควบคู่และสอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี อีกทั้งจะเชื่อมโยงกับแนวคิดสากลเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์ และเชื่อมโยงการพัฒนาไปสู่ระดับภูมิภาคและพื้นที่มากขึ้นด้วย
สำหรับแผนการพัฒนาในมิติด้านสุขภาพ รองเลขาธิการฯ สภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า ในอนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ ประชากรประมาณร้อยละ 30 หรือ 1 ใน 3 จะเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป การบริหารจัดการในด้านระบบบริการสุขภาพ ความสามารถในการรองรับ การเงินการคลัง รวมถึงการดูแลสภาพแวดล้อมรองรับคนสูงวัยเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ ขณะเดียวกัน ต้องลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม เนื่องจากปัจจุบันประชากรไทยจำนวนมากยังมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ฉะนั้น ต้องพัฒนาคนเหล่านี้ให้มีรายได้ดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะเรื่องเหล่านี้กระทบต่อสุขภาพ ความเป็นธรรม ขีดความสามารถในการแข่งขัน กระทบกันไปหมด
ส่วนจะพัฒนาได้อย่างไรนั้น นางชุตินาฏ กล่าวว่า ต้องอาศัยพลังขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน ตอบโจทย์ทั้งในเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ สร้างความรู้ความเข้าใจ และพัฒนาทุกมิติไปพร้อมๆ กัน
ชูยุทธศาสตร์ชาติ เครื่องมือกำกับทิศทางประเทศ
ด้าน ดร.บัณฑูร กล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า จะต้องทุกเรื่องควบคู่กันไป การพัฒนาหรือการเจริญการเติบโตแค่มุมใดมุมหนึ่งนั้น ไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน และปัจจุบันแนวโน้มทั่วโลกก็ขนานรับกับแนวคิดนี้
ผอ.สถาบันธรรมรัฐฯ กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยได้เตรียมแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี เพื่อวางทิศทางในเรื่องนี้ ซึ่งการจะเดินไปสู่ยุทธศาสตร์ชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ในรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติพูดถึงเรื่องนี้ไว้ 4 มาตราคือ มาตรา 65, มาตรา 142 , มาตรา 162 และบทเฉพาะกาลมาตรา 275 ซึ่งสรุปโดยคือ รัฐต้องจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาล ฉะนั้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ แผนบริหารจัดการแผ่นดิน แผนแม่บท แผนกระทรวงต่างๆ จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ขณะที่สาระสำคัญคือ การมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้คือ ไม่ใช่เฉพาะแค่รับฟัง แต่ต้องรับฟังความคิดเห็น และต้องให้ร่วมคิด ร่วมหารือ ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ
“ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชาลงมติยังกำหนดไว้ว่า นโยบายที่รัฐบาลจะแถลงต่อรัฐสภา จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อไม่ให้ยุทธศาสตร์ชาติที่เขียนไว้ เป็นแค่เอกสารหนึ่งฉบับ อีกทั้งรัฐบาลยังต้องจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ นอกจากนี้มาตรา 275 กำหนดไว้ว่า หลังรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าประมาณเดือนกุมภาพันธุ์ ภายใน 120 วันจะต้องเขียนกฎหมายว่าด้วยการจัดยุทธศาสตร์ชาติออกมา โดยกฎหมายนี้จะกำหนดว่า ใครจะเป็นเจ้าภาพ การมีส่วนร่วมจะมีส่วนร่วมอย่างไร และเมื่อกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้ นับไปอีก 1 ปีจะต้องจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จ สิ่งเหล่านี้คือเครื่องมือทางรัฐธรรมนูญที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ชาติเดินต่อไปและตอบโจทย์การพัฒนาที่ยังยื่น
ดร.บัณฑูร กล่าวถึงการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง คือโจทย์สำคัญของ ยุทธศาสตร์ชาติ ที่ต้องยึดโยงกับพื้นที่ ประเด็น เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)เพื่อทำให้เนื้อหาชาติออกมาเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่แท้จริง เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมียุทธศาสตร์ชาติ เรามีแต่ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ซึ่งก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาตามรัฐบาลนั้นๆ ยุทธศาสตร์ชาติจึงจะเป็นเครื่องมือที่กำกับและทำให้มั่นใจได้ว่า เราจะไม่หลงทาง ไม่ต้องกลับมานั่งนับหนึ่งใหม่ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
“อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ชาตินั้น สามารถทบทวนหรือเปลี่ยนแปลงได้ อาจทำทุกๆ 5 ปีก็เป็นได้ แต่สิ่งสำคัญคือ จะต้องผ่านรัฐสภา ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยและสมาชิกวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ หมายความว่า รัฐจะทำตามอำเภอใจไม่ได้”
ส่วนประเด็นที่ต้องถกเถียงเกี่ยวกับยุทศาสตร์ชาติในมติเรื่องความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ดร.บัณฑูร กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 67 กำหนดไว้ว่า การดำเนินโครงการกิจกรรม11 ประเภทโครงการที่อาจก่อให้ผลกระทบรุนแรง เช่น โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) แต่วันนี้รัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ มาตรา 58 ไม่ใช้คำว่า การดำเนินโครงการกิจกรรม แต่เขียนไว้ว่า การดำเนินการของรัฐ หรือที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ ฉะนั้นถามว่ากรณีเขตเศรษฐกิจ กรณีหากจะไปลงนามในทีพีพี ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนเช่นนี้ จะต้องดำเนินการตามมาตรา 58 หรือไม่ นี่คือโจทย์ของประเทศไทย
ระบบราชการไทยงุ่มงาม อยู่ยุค 2.0
ขณะที่ นพ.สุวิทย์ กล่าวถึงประเทศไทยยุค 4.0 ในมติด้านสุขภาพว่า ปัจจุบันประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจการค้า ระดับ 5-6 หมื่นล้านเหรียญอย่างสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจประเทศเดินหน้า 4.0-5.0 แล้ว แต่สุขภาพกลับอยู่ที่ 2.0 ประชาชนยังไม่มีหลักสุขภาพทั่วหน้า โอบามาแคร์ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก และเมื่อทรัมป์ ซึ่งประกาศว่าไม่เห็นด้วยกับโอบามาแคร์เข้ามาก็ยิ่งคาดไม่ได้ว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง กรณีอินเดียก็ไม่ต่างกัน เทคโนโลยีไปไกล มีปรมาณู นิวเคลียร์ ทางด้านการแพทย์ก็ผลิตยา วัคซีนขายไปทั่วโลก เศรษฐกิจ 4.0 แต่สุขภาพ 2.0 ประชากรทั้งประเทศมีหลักประกันสุขภาพไม่ถึง 20 %
“สำหรับประเทศไทยประเด็นด้านสุขภาพบ้านเราไปไกลแล้ว แต่กระทรวงสาธารณสุขยังเป็น 2.0 หน่วยราชการทั้งหมดยังงุ่มง่าม เนื่องจากระบบราชการยังรวมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง แบบนี้ไม่มีทางรอด ต่างจากในต่างประเทศที่เน้นการกระจายอำนาจ และจากประสบการณ์ที่ไปดูงานใน 80-90 ประเทศ พบว่ากระทรวงสาธารณสุขในบ้านเรามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กระทรวงสาธารณสุขของอเมริกา มีขนาดเท่ากับกรมเดียวในบ้านเรา ขณะที่เรามีถึง 8 กรม”
ทำประเด็นด้านสุขภาพให้เป็นรูปธรรม
นพ.สุวิทย์ กล่าวถึงสิ่งที่อยากเสนอคือ ไทยแลนด์ 4.0 ในด้านสุขภาพจะต้องทำให้เป็นรูปธรรม ต้องมองสุขภาพเป็นเรื่องการลงทุน ไม่ใช่มองเป็นค่าใช้จ่าย อีกทั้งต้องมองว่าประเด็นด้านสุขภาพจะมีผลกระทบทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างไร ซึ่งเมื่อเร็วนี้ๆ ยูเอ็นออกรายงานเรื่องการจ้างงานด้านสุขภาพและการเติบโตด้านเศรษฐกิจ พบว่า แม้การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมจะลดลง มีการใช้เครื่องจักรแทนคน แต่การจ้างงานด้านสุขภาพกลับโตสวนทาง เพราะใช้เครื่องมือแทนได้ไม่มาก
ขณะเดียวกันต้องตอบคำถามว่า สุขภาพจะสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร ระบบหลักประกัน 3 กองทุน จะลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร ปัจจุบันรัฐบาลใช้งบประมาณด้านสุขภาพร้อยละ 17 ของงบประมาณทั้งหมด เฉพาะงบประมาณสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างเดียวก็ 150,000 ล้านบาทแล้ว ทั้งที่สมัยก่อนใช้อยู่ที่ร้อยละ 3-4 หรือราว 10,000 ล้านบาทเท่านั้น ฉะนั้นตรงนี้ทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ทำไทยแลนด์ 4.0 ในด้านสุขภาพ กระโดดข้ามไป 6.0 ให้ได้
เลิกขวางเอกชน ทำธุรกิจด้านสุขภาพ
ส่วนข้อเสนอในมุมเรื่องเศรษฐกิจด้านสุขภาพในภาคเอกชน นพ.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการคือ ขอเพียงอย่างเดียวคือภาครัฐอย่ามาบล็อก ไม่ต้องมาสนับสนุน ส่งเสริมก็ได้ ยกตัวอย่างภาคเอกชนทำเรื่อง Medical Tourism ก็กังวลกันว่า หมอจะถูกดูดไปหมด ทั้งที่จากการวิจัยพบว่าชาวต่างชาติที่เข้ามา 1.2 ล้านคน คิดเป็นแรงหมอแค่ร้อยละ 10 ของหมอทั้งประเทศ ดังนั้นในเรื่องนี้เห็นว่าควรปล่อยให้เอกชนทำไป และรัฐหันมามาทำเรื่องการสร้างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยอาจใช้วิธีเก็บภาษีจากภาคเอกชนที่โตมาสนับสนุนทำเรื่องสุขภาพมากขึ้นก็เป็นได้
ปิดท้ายที่ นายสุทธินันท์ กล่าวว่าประเทศไทยโชคดีที่มีผู้มีความรู้ ผู้ทรงคุณวุฒิมาวางรากฐาน แต่ผู้ที่ปฏิบัติจริงๆคือ ชาวบ้านตาดำๆ ที่รับทุกเรื่อง กลายเป็นกระโถนท้องพระโรง และก่อนที่จะมาถึงยุค 4.0 บ้านเราก็มีนโยบายมีแผนอื่นๆ หลายเรื่อง แต่การสื่อความหมาย การขยายความต้องอธิบายให้ตรงกัน ที่สำคัญต้องเข้าใจถึงข้อจำกัด ความสามารถในการรับรู้ของชาวบ้านด้วย
ที่ผ่านมาคนในประเทศนี้ยังไม่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอย่างแท้จริง ดังนั้นต่อไปนี้ จะต้องกำหนดให้ชัดเจนไปเลยว่า เราจะเดินกันไปอย่างไร เพื่อทำให้คนในประเทศไม่บอบช้ำอย่างที่ผ่านมา อีกทั้งคนยุคนี้มีความอยากในการเรียนรู้อยากพัฒนา ชาวบ้านก็เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน ทำกิจกรรมมากขึ้น ฉะนั้น หากมีแผน การจัดการที่ดีเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้