ไพบูลย์ชี้พ.ร.บ.คอมฯฉบับใหม่ศาลจะยกฟ้องคดีที่ฟ้องหมิ่นประมาท 4-5 หมื่นคดี
ที่ปรึษากิตติมศักดิ์กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แจงข้อดีพ.ร.บ.คอมฯฉ.ใหม่ ผอ.อิศราเผยกม.ไม่น่ากลัวแต่คนบังคับใช้น่ากลัว ชี้บางมาตรายังมีปัญหาที่ถ้อยคำ เลขาฯมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมืองตั้งคำถามพ.ร.บ.ฉบับใหม่จะช่วยลดเรื่องฟ้องปิดปากหรือไม่ ชี้ม.15อาจเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งคู่แข่ง-เพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการ
วันที่ 23 ธันวาคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯเสวนา "ก้าวต่อไปของผู้ให้บริการออนไลน์ หลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2559 " ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมใหญ่ ชั้น 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กล่าวว่า หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คดีที่ฟ้องหมิ่นประมาทจะรวมกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในเรื่องการใส่ความศาลจะยกฟ้องทั้งหมด คดีน่าจะหายไปประมาณ 4-5 หมื่นคดี ที่อยู่ในชั้นของพนักงานสอบสวนและศาล ส่วนมาตรา 15 ฉบับเก่าเขียนคลุมเครือว่าใครที่อำนวยความสะดวกให้คนมาคอมเมนท์ ใครที่อำนวยความสะดวกให้คนมาติดต่อทางอินเทอร์เน็ต จะถือว่าคุณคือผู้ให้บริการ มีร่วมทำผิดด้วย แต่ฉบับใหม่กำหนดว่าผู้ที่ให้บริการตามที่กำหนดไว้จะไม่มีความผิดทางกฎหมาย ถ้าเว็บไซต์นั้นเป็นการประมวลผลโดยอัตโนมัติ
นายไพบูลย์ กล่าวถึง มาตรา 11 ว่า จะพูดถึงเรื่องสแปมและการโฆษณาทางอีเมล์คือ ต่อไปนี้จะไม่สามารถส่งอีเมล์หรือข้อความมือถือให้กับบุคคลอื่นได้ยกเว้นว่าจะได้รับการยินยอม โดยจะต้องมีนิติกรมสัญญากันมาก่อนและอนุญาติให้ส่งโฆษณาไปได้ และต้องระบุมาตรการในการลบออกด้วยว่าลบออกอย่างไร
นายไพบูลย์ กล่าวถึง มาตรา 20 ว่า แต่เดิมเป็นเรื่องที่ปิดบล็อคเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย กับกรณีที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ขัดต่อความสบงเรียบร้อย โดยสนช.ได้แก้ในส่วนของการปิดบล็อคที่ผ่านมาบางครั้งเป็นการไต่สวนฝ่ายเดียว คือภาครัฐไปปิดบล็อค จึงเปลี่ยนเป็นไต่สวนทั้ง 2 ฝั่ง คือผู้ที่ถูกปิดบล็อคมีสิทธิที่จะตั้งทนายความมีสิทธิที่จะเข้ามาชี้แจง ตัวประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในข้อ 4 เขียนว่าการให้บริการของผู้ให้บริการดังต่อไปนี้ ไม่ถือเป็นความผิดฐานร่วมมือให้การยินยอมหรือกระทำความผิดตามมาตรา 15 คนที่อยู่ภายใต้ประกาศนี้ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย
ที่ปรึษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า มาตรา 20 เป็นส่วนที่กระทรวงดิจิทัลเป็นผู้ร่าง บางข้อความที่เป็นปัญหาจะมีการเสนอให้แก้ไข อย่างเช่น เรื่องประโยชน์ในการแพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้อย่างถูกต้อง ภายในระยะเวลาและเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบสถานะของการลบ ประเด็นกรณีที่สั่งให้ยูทูปหรือกูเกิ้ลลบข้อมูลที่ผิดกฎหมายปรากฎไม่ลบ โดยตรงนี้เป็นความผิดของหน่วยงานรัฐ ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐบล็อคเสร็จไม่เคยมีแบบฟอร์มหนังสือเป็นทางการ มีแต่การแฟกซ์คำสั่งศาลแล้วโทรแจ้ง ต่อไปนี้ต้องมีแบบฟอร์มส่งพร้อมมีลายเซ็นของเจ้าหน้าที่ กระทรวงต้องมีการตั้งศูนย์กลางในการที่จะระงับการแพร่
ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า กฎหมายเป็นพลวัตร กฎหมายต้องเปลี่ยนตามพลวัตรของสังคม ณ วันหนึ่งต้องการเสรีภาพกฎหมายต้องส่งเสริมเสรีภาพ ในมาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดที่ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ ให้มีการกระทำผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตนต้องเป็นความผิด ในร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเขียนว่าผู้ให้บริการบางส่วนไม่ถือเป็นความผิดตามมาตรา 14 ซึ่งจะได้แก่ผู้ที่เป็นอินเทอร์เน็ต โดยไม่มีส่วนที่จะเข้าไปควบคุมเนื้อหาข้อมูลต่างๆ คำถามคือ แม้จะทำให้ผู้ให้บริการสบายใจได้ในระดับหนึ่ง โดยส่วนตัวเห็นว่าเป็นการก้าวล่วงอำนาจศาลหรือไม่ ในการที่จะบอกว่าการกระทำแบบนี้ไม่เป็นความผิดทั้งๆที่ ตัวกฎหมายแม่บทบอกว่าการกระทำที่ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ ให้มีการกระทำผิดตามมาตรา 14
ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวต่อว่า ในร่างประกาศกระทรวงส่วนที่กังวลคือประโยคบอกว่าการระงับการแพร่หลายของเจ้าหน้าที่ โดยส่วนตัวคิดว่าเจ้าหน้าที่ไม่ควรที่จะเข้ามายุ่งกับผู้ให้บริการ อยากให้ผู้ให้บริการเป็นตัดสินใจจะทำอย่างไรหลังจากที่มีคำสั่งศาล เพราะในมาตรา 20 สิ่งที่เป็นตัวป้องกันได้มากที่สุดคือคำสั่งศาล อีกส่วนหนึ่งคือการระงับการแพร่หลายโดยผู้ให้บริการ โดยคิดเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้ผู้ให้บริการเป็นผู้รับผิดชอบในการปิดหรือระงับเนื้อหาชิ้นนั้นและต้องทำตามคำสั่งศาล
"พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ต้องดูรายละเอียดของร่างประกาศของกระทรวงว่าจะเป็นอย่างไร สาระสำคัญทุกอย่างไม่ได้กระทบต่อเสรีภาพเท่าไหร่ แต่อย่ามองแค่ผู้ให้บริการกับทางภาครัฐควรมองที่ผู้ใช้บริการเป็นปัจจัยหนึ่งว่าจะกระทบหรือจะทำให้ถูกกระทบน้อยที่สุด"
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวว่า จากการอ่านพ.ร.บ.คอมฯฉบับนี้คิดว่าไม่น่ากลัว แต่สิ่งที่น่ากลัวคือการใช้ดุลยพินิจ การใช้อำนาจที่มิชอบในบรรยากาศแบบนี้ ซึ่งไม่รู้บรรยากาศแบบนี้จะอยู่อีกนานแค่ไหน และบรรยากาศแบบนี้คือสิ่งที่ผู้ให้บริการกลัว และยังมีบางมาตราที่ต้องแก้ไขถ้อยคำในกฎหมาย ส่วนผลกระทบที่คิดว่าจะเกิดจากมาตรา 15 ตรงนี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกันได้ หากมีคนไม่ประสงค์ดีใช้ไปแจ้งความว่าเว็บไซต์นั้นๆไม่ยอมลบข้อความที่ผิดตามเวลาที่กำหนด โดยในมุมมองเจ้าของเว็บนั้นอาจจะมองว่าข้อความที่โดนแจ้งนั้นไม่ได้มีความผิดอะไร ตรงนี้ทำให้ต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาล และหวังพึ่งการตีความของเจ้าหน้าที่
ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรา 20 วรรค 2 เรื่องของถ้อยคำว่า "การขัดศีลธรรมอันดี" เป็นถ้อยคำที่ครอบจักรวาลของกฎหมายประเทศไทย ไปดูได้ว่ามีเขียนถ้อยคำนี้แทบทุกฉบับ ก็ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร ตรงนี้ยังเป็นคำถามอยู่ว่าอะไรคือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทำไมไม่เขียนให้มันแคบลงเจาะจงไปเลย เช่น เรื่องลามกอนาจารเด็ก ฆ่าตัวตาย เรื่องเสื่อมทรามจิตใจ ส่วนมาตรา 37 เขียนใจความสำคัญไว้ว่ากสทช.มีอำนาจที่สามารถเล่นงานโทรทัศน์ วิทยุ หรือผู้ได้รับใบอนุญาต หากมีความผิดเรื่องความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งตั้งคำถามว่าคณะกรรมการกลั่นกรองจะทำงานกันยังไงในยุคที่มีการใช้คำหยาบด่ากันเต็มทีวี ถ้าหนึ่งวันแจ้งเข้ามาหนึ่งพันเรื่องจะกลั่นกรองกันยังไงหมด จะเอาอาจารย์นิเทศศาสตร์ไปนั่งตีความเรื่องพวกนี้หมดก็ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องเอาข้าราชการมาทำงานตรงนี้ และข้าราชการส่วนใหญ่ก็จะฟังคำสั่งของผู้มีอำนาจ ตรงนี้จะเป็นปัญหาแน่นอน
"สรุปว่ากฎหมายเรื่องมีจุดน่ากลัวตรงคนที่บังคับใช้กฎหมาย ดุลยพินิจ เรื่องการตีความอย่าไปไว้ใจว่าเป็นนักกฎหมายแล้วจะไว้ใจได้ เรื่องพวกนี้มันอยู่ที่ภูมิหลัง วิธีคิด ทัศนคติ หลายอย่าง งั้นผมก็ไม่ไว้ใจคณะกรรมการกลั่นกรองเหมือนกัน คนหนะไว้ใจไม่ได้"
นายศรัทธา หุ่นพยนต์ หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย บริษัท Lazada (Thailand) กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีผลกับบริษัทมากนัก เพราะแค่ทำทุกอย่างให้เป็นทางการส่งให้ทางราชการก็ไม่มีปัญหาอะไร ในส่วนของพ.ร.บ.คอมฯมาตรา 15 ไม่ว่าจะเป็นฉบับเดิมหรือฉบับใหม่ก็ไม่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เป็นกังวลมาโดยตลอดเป็นส่วนของผู้บังคับใช้กฎหมายมากกว่าว่ามีความคิด การตีความกฎหมายเป็นอย่างไร ในฐานะผู้ประกอบการได้อ่านพ.ร.บ.คอมฯฉบับใหม่แล้วค่อนข้างสบายใจขึ้น เพราะในมาตรา 15 มีเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าหากผู้ประกอบการทำผิดอะไร จะมีโทษอย่างไร หรือมีการยกเว้นโทษอย่างไร ต่างกับถ้อยคำประกาศในกระทรวงดิจิตอลเรื่องขั้นตอนการแจ้งเตือนยังรู้สึกว่าถ้อยคำบังคับยังไม่ชัดเจน
หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย บริษัท Lazada กล่าวต่อว่า ถ้าพ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ทางบริษัทก็จะทำงานกับทางองค์การอาหารและยา(อย.)ได้ง่ายขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ทางอย.ได้ขอบริษัทมาให้คัดกรองสินค้าก่อนที่จะขึ้นเว็บไซต์ แต่เป็นอะไรที่ทำได้ยากเพราะมีผู้ขายและสินค้าจำนวนมาก จะให้มาจ้างพนักงานเพิ่มเพื่อมานั่งดูสินค้าล้านกว่าชิ้นคงต้องลงทุนเยอะ ธุรกิจคงไปไม่ได้ แต่พอมีพ.ร.บ.ตัวนี้มา หากใครเห็นว่าสินค้าอันไหนผิดปกติหรือไม่ดีก็สามารถแจ้งเข้ามาให้ลบออกได้โดยตรงเลย ถ้าทางบริษัทพิจารณาแล้วว่ามีความผิดจริงก็จะลบออกตามที่แจ้ง แต่พ.ร.บ.ยังมีถ้อยคำที่ไม่ชัดเจนอยู่เล็กน้อยตรงที่ว่าผู้ให้บริการไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมจากการกระทำความผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งทางบริษัทเองทำธุรกิจยังไงก็ต้องได้ประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่แล้ว การเขียนแบบนี้แปลว่าธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์(อี-คอมเมิร์ช)ในไทยทั้งหมดจะไม่ได้รับการยกเว้นโทษตามที่พ.ร.บ.กำหนด ส่วนตัวคิดว่าใช้คำกว้างไป
"ทางภาครัฐจะมีความเชื่อตลอดว่า คุณได้ค่าตอบแทนจากการขาย เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องรับผิด แต่ผมคิดว่าพูดแบบนั้นมันก็ไม่แฟร์ เว็บไซต์บริษัทเราทำธุรกิจก็ต้องได้รับผลตอบแทน ไม่ว่าคุณจะเอาอะไรมาขายผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมายเราก็ได้รับค่าตอบแทนอยู่แล้ว"
นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เลขานุการมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง กล่าวว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ยังมีปัญหา ในมาตรา 14 มีคำว่า บิดเบือนเข้ามา แม้กมธ.ของสนช.จะยืนยันว่า คดีหมิ่นประมาทจากมาตรานี้จะน้อยลง แต่ก็เกิดคำถามว่าการใช้กฎหมายนี้เพื่อฟ้องปิดปาก นักสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และนักอนุรักษ์ จะหมดไปหรือไม่ ส่วนมาตรา 15 ข้อยกเว้นสำหรับผู้ให้บริการไม่ต้องรับโทษ ก็ยังสงสัยว่าไม่ต้องรับโทษนั้น แต่จะยังมีคดีอาญาติดตัวหรือไม่ ทั้งยังเป็นการผลักภาระในการพิสูจน์จะไปอยู่ที่ผู้ใด โดยในตัวกฎหมายเขียนคล้ายๆว่า ภาระในการพิสูจน์นั้นตกไปอยู่กับตัวที่ผู้ให้บริการหรือไม่ ซึ่งหลักกฎหมายอาญาต้องเป็นผู้กล่าวหาที่จะต้องมีหน้าที่ในการพิสูจน์ แต่คนกล่าวหานั้นคือเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งยังอาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งกัน ตัวอย่างจากสถิติของกูเกิ้ล ที่ให้ข้อมูลต่อสภาในประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อการปรับแก้กฎหมายลักษณะนี้ กว่า 57 % มาจากบริษัทคู่แข่งการค้า นอกจากนี้ระบบแจ้งเตือนดังกล่าว จะเป็นการผลักภาระให้ผู้ประกอบการให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น โดยจะทำอย่างไรให้เขียนตัวประกาศให้มีความชัดเจน เพื่อสามารถให้นำทรัพยากรไปใช้กับประเด็นปัญหาที่แท้จริง อย่างกรณีที่มีคนโทรไปป่วน 191 ปัญหาคือทำให้คนที่เดือดร้อนจริงๆโทรไม่ติด ทำให้คนที่เดือดร้อนจริงๆไม่รับการแก้ไขอย่างทันทวงที
"มาตรา 20 ยังห่วงประเด็นเรื่องของการของคำสั่งศาลให้ปิดเว็บไซต์ในการเข้าถึงเนื้อหาควรที่จะ 2 ส่วน คือให้ผู้ให้บริการเป็นผู้ปิดก่อนหากไม่ปิดค่อยให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ปิด ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้นเวลาพูดถึงการดำเนินการในกฎหมายควรที่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบเป็นหลัก ประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์จำเป็นต้องคุมครองเจ้าของและปราบปรามคนที่ละเมิด ประเด็นคือจะมีการขยายการระงับข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะออกไปหรือไม่ "
อ่านประกอบ : เปิด พ.ร.บ.คอมพ์ฯ-ข้อสังเกต กมธ. ฉบับผ่าน สนช.ละเมิดสิทธิตรงไหน-ไฉนต้องแก้?
รมว.ดิจิทัลพร้อมลุยงานอย่ากังวลพรบ.คอมยันฟังคิดเห็น
กลาโหมขอกลุ่มค้านพ.ร.บ.คอมพ์ฯหยุดเจาะข้อมูลรัฐ
จนท.เร่งดูสถานการณ์ปชช.ชุมนุมค้านพ.ร.บ.คอมฯ
คสช. วอนกลุ่มต้านพ.ร.บ.คอมพ์ฯ เคารพก.ม.
อสนช.ผ่านฉลุย พ.ร.บ.คอมพ์ฯ เพิ่ม กก. กลั่นกรอง 9 คน-กมธ.ยันไม่ละเมิดสิทธิชัวร์
อ.นิเทศ จุฬาฯ ชี้โลกออนไลน์ปล่อยข่าวลือ-ลวงเยอะ พบแก้น้อยกว่าครึ่ง