นักวิชาการแนะ กสทช."จัดโซนนิ่งความถี่วิทยุชุมชน"
กสทช. เปิดเวทีวิพากษ์แผนแม่บทฯ 3 ฉบับ “สมเกียรติ” แนะต้องเรียกคืนคลื่นเตรียมไทยสู่เออีซี “นักวิจัยอิสระ” เรียกร้องจัดช่วงความถี่วิทยุชุมชน ป้องกันสัญญาณทับซ้อน ดันนโยบายคลื่นความถี่ร่วมสาธารณะ
เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิสรีภาพของประชาชน จัดเสวนา “มุมมองผู้บริโภคและพลเมืองต่อแผนแม่บทฯ กสทช.” ณ อาคารหอประชุม 1 สำนักงานกสทช. ประกอบด้วย แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม และแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 ตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึง ร่างแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ว่า ควรเรียกคืนคลื่นความถี่กิจการกระจายเสียงภายใน 3 ปี กิจการโทรทัศน์ภายใน 5 ปี และกิจการโทรคมนาคมภายใน 15 ปีให้สัมพันธ์กับระยะสิ้นสุดครอบครองคลื่นแต่ละองค์กร เพื่อนำไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 พร้อมผลักดันสู่ระบบดิจิตอลโดยเร็ว
ด้านนายสาโรจน์ แววมณี นักวิจัยอิสระ กล่าวถึงว่า ร่างการจัดสรรคลื่นความถี่กลุ่มวิทยุชุมชน แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ไม่มีความชัดเจน และขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นเพียงการกำหนดของคนกลุ่มเดียว ฉะนั้นแผนปฏิบัติการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตควรรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
“ควรกำหนดช่วงความถี่ของวิทยุชุมชน เพื่อป้องกันคลื่นรบกวน และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องส่งที่มีกำลังส่งสูงต่อสู้กับคลื่นธุรกิจ พร้อมกำหนดนโยบายให้ช่วงคลื่นความถี่ที่กำหนดให้วิทยุชุมชนเป็นคลื่นความถี่ร่วมสาธารณะ ซึ่งสวชช.จะทำหน้าที่ตัวแทนกำกับดูแลกันเองให้ได้ตามมาตรฐานทางเทคนิคและจริยธรรม ภายใต้การสนับสนุนกสทช.”นายสาโรจน์ กล่าว
ขณะที่น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า รายเอียดในแผนแม่บทเป็นนามธรรม สามารถเกิดช่องว่างทางกฎหมายให้กระทำผิดได้ เช่น ตัวชี้วัด พันธกิจ ดังนั้นกสทช. ต้องเขียนให้ชัดเจน เข้าใจง่าย พร้อมเร่งจัดระเบียบการแพร่ภาพกระจายเสียง โดยเฉพาะโฆษณาชวนเชื่อในวิทยุชุมชนที่กลายเป็นแหล่งหลอกลวงผู้บริโภค โดยกำหนดบทลงโทษและออกใบอนุญาตตามกฎหมายให้เสร็จใน 1 ปี
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กสทช.กำหนดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) แผนแม่บทฯ 3 ฉบับอีกครั้งในวันที่ 10 ก.พ.ที่จะถึงนี้ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค นนทบุรี
.....................................
ล้อมกรอบ
จากข้อมูลการวิจัยเชิงปฏิบัติการ “แนวทางการบริหารคลื่นความถี่ กรณีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ภาคประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20” ของสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) สรุปแนวทางการจัดสรรความถี่คลื่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ให้กับภาคประชาชนตามม. 49ใน 2 แนวทาง ได้แก่
1.การจัดสรรตามสัดส่วนสถานีที่รับใบอนุญาต คำว่า “พื้นที่ของการประกอบกิจการ” ตีความหมายถึงพื้นที่มีการอนุญาตให้ประกอบกิจการ เช่น กิจการวิทยุกระจายเสียง/โทรทัศน์ และพื้นที่ในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค หรือประเทศ ถ้ามีผู้ได้รับอนุญาต 100 คลื่น ภาคประชาชนจะได้รับการจัดสรรไม่น้อยกว่า 20 คลื่นทุกระดับพื้นที่ จุดแข็ง 1. กสทช. บริหารจัดการ ตรวจสอบกระบวนการออกใบอนุญาตง่าย 2.วิทยุชุมชน/ภาคประชาชนไม่ต้องเปลี่ยนเลขคลื่น กรณีเลขคลื่นใช้อยู่ไม่ตรงกับช่วงความถี่ที่กำหนดให้วิทยุชุมชน และ 3. วิทยุชุมชน/ภาคประชาชนสามารถรอให้มีการออกใบอนุญาตก่อน แล้วค่อยอ้างกฎหมาย เพื่อให้กสทช. จัดสรรคลื่นให้ จุดอ่อน 1. กรณีที่วิทยุชุมชนใช้เลขคลื่นเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับวิทยุกระแสหลัก จะทำให้ประสิทธิภาพในการกระจายเสียงของวิทยุชุมชนลดลง 2. กรณีที่กสทช. ไม่สามารถควบคุมกำลังส่งได้ เหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา วิทยุชุมชนต้องใช้เครื่องส่งที่กำลังส่งสูงมากขึ้น เพื่อต่อสู้กับวิทยุกระแสหลัก
2.การจัดสรรช่วงความถี่ให้กับวิทยุชุมชน อาจกำหนดช่วงความถี่ให้วิทยุชุมชนใช้คลื่น 87.5-92.0 เมกะเฮิรตซ์ วิทยุสาธารณะใช้คลื่น 92.1-100 เมกะเฮิรตซ์ และวิทยุธุรกิจใช้คลื่น 100.1-107.5 เมกะเฮิรตซ์ จุดแข็ง 1. วิทยุชุมชนจะไม่ประสบปัญหาคลื่นแทรกและคลื่นทับซ้อน 2.การบริหารจัดการวิทยุชุมชนง่ายขึ้น หน่วยงานภาครัฐ กสทช. สวชช. รวมถึงผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ 3. สามารถลดค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องส่งกำลังสูง เสียเพียงค่าปรับเลขคลื่นตรงกับช่วงความถี่วิทยุชุมชนเท่านั้น และ4.ทำให้สาธารณชนทราบว่าเมื่อต้องการฟังวิทยุแต่ละประเภทควรหมุนคลื่นความถี่ใด กรณีมีการแบ่งโซนคลื่นเรียบร้อยทั่วประเทศ จุดอ่อน 1. วิทยุชุมชนที่ใช้เลขคลื่นความถี่นอกช่วงความถี่ที่กำหนด จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพื่อเปลี่ยนแปลงเลขคลื่นให้ตรงกับช่วงความถี่ของวิทยุชุมชน 2.หากมีการกำหนดนโยบายไม่ชัดเจน วิทยุธุรกิจ/กระแสหลักอาจไม่ยินยอม ถ้าต้องมีการปรับเลขคลื่นที่ตนเองได้รับสัมปทานอยู่