อันตรายบนโลกออนไลน์ ยูนิเซฟ เผยพบสื่อที่มีเนื้อหาล่อแหลม หลุดถึงตัวเด็กได้เกือบ 90%
ตัวแทนยูนิเซฟประเทศไทย ชี้เด็กไทยกว่า 94% มีความตระหนักรู้เรื่องของภัยอันตรายที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ แม้จะมีสื่อไม่เหมาะสมเข้าถึงตัวเองเป็นจำนวนมาก ด้านตัวแทนสภาเด็กฯ เชื่อเด็กไทยรู้มากกว่าผู้ใหญ่แต่ขาดความเข้าใจเพราะมองเป็นเรื่องไกลตัว เน้น อารมณ์ความรู้สึก
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2559 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยภายในงานมีเวทีย่อยให้ข้อมูลสาธารณะ ‘เด็กไทย 4.0 ออนไลน์ ร้ายหรือดี อยู่ที่ใคร?’ ณ ห้องแซฟไฟร์ 202
ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่าในปัจจุบันคนเรากำลังเข้าข่ายการละเมิดสิทธิเด็กอยู่อย่างไม่รู้ตัว โดยเฉพาะผู้ปกครองของเด็กเองที่ปล่อยให้เด็กใช้เวลาอยู่กับสื่อออนไลน์มากเกินไป จนหลงลืมการพัฒนาการของลูกในวัยที่เหมาะสม
“การปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่อออนไลน์เล่นเกมส์รุนแรง หรือปล่อยให้เด็กเปิดเว็บโป๊ก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก เพราะว่าจริงๆ เขาต้องไปเรียนหนังสือ ต้องเติบโตไปในทางที่เหมาะสม แต่เราปล่อยปละละเลยให้เขาใช้เวลากับสื่อมากเกินไป”
ดร.ศรีดา กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้มีสื่อลามากอนาจารที่ถูกรายงานเข้ามาจากทั่วโลกมีจำนวนมากกว่าแสนเว็บไซต์ อย่างประเทศไทยจะมีกรณีที่เด็กดูสื่ออนาจารแล้วเกิดอารมณ์ทางเพศจนไปกระทำกับเด็กที่อายุอ่อนกว่า หรือมีการใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายคลิปแล้วไปเผยแพร่บนโลกออนไลน์ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคล
ด้านนายคงเดช กี่สุขพันธ์ ตัวแทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้งานสื่อออนไลน์ของเยาวชนอายุ 18 ปี ใน 25 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย พบว่า เด็กไทย 94% มีความตระหนักในเรื่องของภัยอันตรายที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ และรู้ว่าควรจะหลีกเลี่ยงอย่างไร
“เด็กส่วนใหญ่ อายุ 18 ปี มีความตระหนักดีในเรื่องของภัยอันตรายที่เกิดในโลกออนไลน์ แต่ว่ามีส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ เด็กไทย 94% จะเชื่อว่าตัวเองรู้วิธีหลีกเลี่ยงอันตรายหรือว่าสถานการณ์เสี่ยงบนโลกออนไลน์ได้ ซึ่งถ้าเราเทียบกับสถิติจากการสำรวจ 25 ประเทศ จะมีแค่ 39% ที่ตอบแบบนั้น”
นายคงเดช กล่าวอีกว่า นอกจากความรู้ความเข้าใจของเด็กต่ออันตรายบนโลกออนไลน์แล้ว จุดสำคัญคือทุกวันนี้ยังมีสื่อที่มีเนื้อหาล่อแหลม หลุดรอดไปถึงตัวเด็กได้ โดย 89% ของเด็กที่สำรวจพบ แจ้งว่าเคยพบเห็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเพศและวัยจากการเข้าใช้สื่อออนไลน์
“เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เด็กมีความเข้าใจตรงจุดนี้ ซึ่งความรู้แบบนี้จะเข้าไปช่วยเราในการวางแผนในการดำเนินกิจการ อาจจะให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยคิดช่วยวางแผน เพราะว่าผู้ใหญ่อาจจะตามเทคโนโลยีอะไรไม่ทัน ถ้าสามารถสร้างองค์ความรู้โดยได้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เราก็จะสามารถเข้าใจพฤติกรรม เข้าใจถึงปัญหา จะช่วยในการวางแผนอนาคตและก็ทำให้ทุกอย่างมันสมบูรณ์มากขึ้น ไม่ใช่แค่ป้องกัน แต่ยังรวมไปถึงส่งเสริมด้วย”
ด้านนายปุณณพัทธ์ อรุณิชย์ตระกูล ตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่าทุกวันนี้การเข้าถึงโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่ง่ายมากสำหรับเด็ก แค่เพียงมีโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต เด็กไทยมีความรู้เกี่ยวกับอันตรายของสื่อออนไลน์ต่างๆ แต่ยังขาดความเข้าใจในเรื่องการแบ่งปันเรื่องราว เนื่องจากเด็กไม่ได้ใส่ใจถึงปัญหาที่จะตามมาเพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว
“ผมว่าเด็กไทยเขารู้ว่าสื่อออนไลน์อันตรายอย่างไร เขารู้เยอะกว่าผู้ใหญ่บางคน เขารู้ว่ามีปัญหา แต่บางทีเด็กเขาไม่ได้สนใจว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับเขา เขาคิดแค่ว่าเข้าไปเถอะ เพราะเขาเข้าถึงได้ อย่าง Facebook ที่มีบาง Page ปล่อยภาพโป๊ออกมา เด็กก็ไปกด Share กด Like หรือ Copy link ส่งต่อให้เพื่อน เขารู้ว่าจริงๆ การแชร์มันผิด อย่างที่มี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ออกมา แต่ว่าเด็กไม่ใส่ใจว่าจะเกิดอะไร รู้แค่ว่าแชร์ไปเถอะ เพราะเขาอยากดู อยากเห็น ฉันชอบ ฉันต้องการแบบนี้นี่คือสิ่งที่เด็กเห็น แต่จริงๆ เขารู้ครับ เขาแค่ใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่สมควร”
นายปุณณพัทธ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อปี 2558 เด็กได้มีการจัดสมัชชาเด็กและเยาวชน โดยประกาศเจตนารมณ์ว่าเด็กจะไม่เรียกร้องให้ผู้ใหญ่มาทำอะไรให้อีกแล้ว แต่เด็กจะปกป้อง คุ้มครองและใช้สื่ออย่างถูกต้องด้วยตัวเอง เพียงแต่ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสนับสนุนข้อมูลที่จำเป็นในแต่ละเขตพื้นที่ สำหรับการจัดโครงการ 77 โครงการ ใน 77 จังหวัดในปี 2559
“สิ่งที่เด็กอยากได้คือการสนับสนุนในเรื่องของความรู้ในพื้นที่ที่เด็กจะไปจัดกิจกรรม อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนข้อมูลเหล่านี้ให้กับน้องๆ ในพื้นที่ ไปขยายในโครงการต่อ ให้เกิดขึ้นพร้อมกันในทุกพื้นที่ แต่ตอนนี้เราก็มี 77 โครงการแล้วจะดำเนินการในปีหน้า พร้อมกันทั่วประเทศเลยครับ”