นักนิติศาสตร์ จุฬาฯ ยันร่างกม.โค้ดมิลค์ ไม่ขัดข้อตกลงการค้าโลก
ดร.บวรสรรค์ ชี้ 30 ปีที่ผ่านมา อุตฯ นมผงละเมิดข้อตกลงสากลว่าด้วยเรื่องการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ตลอด แถมมีวิธีโฆษณาแฝง อวดอ้างมีสรรพคุณเท่ากับนมแม่แบบเนียนๆ ด้านนักนิติศาสตร์ จุฬาฯ ส่องร่างพ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ยันไม่ขัดกับข้อตกลงการค้าโลก เหตุไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ได้ทำเกินจำเป็น ยังเห็นมีมาตราใดที่เขียนหรือพูดถึงเรื่องการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์
วันที่ 21 ธันวาคม 2559 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยภายในงานมีเวทีย่อยให้ข้อมูลสาธารณะ ‘สิทธิแม่ลูก VS นมผงหมื่นล้าน : ได้เวลาผ่านกฎหมายคุมการตลาดนมผง?’ ณ ห้องแซฟไฟร์ 201
ดร.บวรสรรค์ เจี่ยดำรง อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องมีการควบคุมกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดของอุตสาหกรรมนมผง เป็นเพราะตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา CODE หรือ International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยเรื่องการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ ที่บังคับใช้กันอยู่นั้น เป็นเพียงแต่ข้อตกลง จึงพบเห็นการละเมิดเกิดขึ้น และการทำธุรกิจในลักษณะละเมิดหลักเกณฑ์เช่นนี้ สร้างกำไรให้กับบริษัทบางแห่งถึงปีละพันล้านบาท
"จากข้อมูลพบว่า บริษัทนมผงในประเทศไทย 6 บริษัท มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 25,000 ล้านบาท" ดร.บวรสรรค์ กล่าว และว่า วิธีการ กลยุทธ์ที่บริษัทนมผงนำมาใช้ เช่น บรรจุภัณฑ์ พบว่า จะทำบรรจุภัณฑ์ที่อนุญาตให้โฆษณา คล้ายกับสูตรที่ไม่อนุญาตให้โฆษณา กล่าวคือ ออกแบบบรรจุภัณฑ์สูตรทารกและเด็กเล็กให้คล้ายกับสูตรของเด็กโต เมื่อมีการโฆษณาออกไป โครงสร้างที่แตกต่างกันเล็กน้อยแค่สี ก็ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมโยงกันได้ ขณะเดียวกันข้อความที่สื่อออกไปผ่านโฆษณา ยังย้ำไปย้ำมาแค่เรื่องสารอาหาร ทั้งอัลฟ่าแลคตัลบูมิน ดีเอชเอ โอเมก้า 3 ทำให้คนเข้าใจและคิดไปว่า นมผงเท่ากับนมแม่ เกิดการละเมิด code แบบเนียนๆ ในลักษณะโฆษณาอวดอ้างว่า ใกล้เคียงกับนมแม่
ดร.บวรสรรค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ CODE มีข้อห้ามว่า บริษัทนมผงห้ามติดต่อกับแม่โดยตรง แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่า มีการจัดกิจกรรมทางการตลาด ลด แลก แจก แถม แจกนมตัวอย่างให้กับแม่ อีกทั้งยังใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำการตลาดในเชิงรุกผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ มีการโพสต์ การแชร์ต่างๆ เกิดขึ้น เฉลี่ยวันละ 3 โพสต์ต่อหนึ่งแบรนด์ ทำให้เข้าถึงแม่และหญิงตั้งครรภ์ในวงกว้าง
"ล่าสุดมี Mobile & app marketing ซึ่งการเข้าสู่ระบบ ระบุให้มีต้องกรอกข้อมูลบุตร ทำให้บริษัททราบอายุและรู้ว่าจะต้องสอดแทรกเรื่องนมผงเข้ามาในช่วงใด”
อย่างไรก็ตาม ดร.บวรสรรค์ กล่าวถึงการโฆษณาผ่านสื่อบุคคลด้วยว่า มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมผงสูงสุด โดยเฉพาะสื่อบุคคลที่เป็นบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งมีความน่าเชื่อถือมากกว่าพนักงานขายนั้น หากมีบทลงโทษเกิดขึ้น เชื่อว่า Code จะไม่กลายเป็นกระดาษเปล่า
ด้าน ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงที่มาของร่างพ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ซึ่งกำลังได้รับการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่ในขณะนี้ ยึดตามองค์การอนามัยโลก ( who) ที่แนะนำว่า ต้องให้นมแม่ล้วนอย่างเดียว Exclusive Breastfeeding 6 เดือน หลังจากนั้น ให้นมแม่ควบคู่กับให้อาหารตามวัยไปจนถึงอายุ 2 ขวบหรือนานกว่านั้น และแม้ว่าคำแนะนำของ WHO จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่รัฐบาลไทยก็ได้ลงมติรับรองในเรื่องนี้แล้ว อีกประการคือต้องการควบคุมการส่งเสริมการขายของตลาดนมผง เพื่อ
1.ปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะการโฆษณาและส่งเสริมการตลาดของบริษัท กระทบต่อการตัดสินใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยทำให้เข้าใจผิดคิดว่า นมผงดีกว่า หรือมีประโยชน์เท่ากับนมแม่
และ 2.เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะแม่ที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่การตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์
“ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่มีมาตราใดที่เขียนหรือพูดถึงเรื่องการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพราะนมหรืออาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก หรืออาหารอื่นๆ นั้น ถูกควบคุมโดยกฎหมายว่าด้วยอาหารและยาอยู่แล้ว แต่จะเข้ามาควบคุมการกระทำใน 3 ลักษณะ คือ การให้ข้อมูล การโฆษณา การส่งเสริมการตลาด”
สิ่งใดทำได้-ไม่ได้ ในกฎหมายฉบับนี้
ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวอีกว่า กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ห้ามการเรื่องการจำหน่ายอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก แต่ต้องขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่การให้ข้อมูล โดยบุคลากรทางการแพทย์ สามารถทำได้ และเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ซึ่งข้อมูลนั้นต้องเป็นข้อมูลทางวิชาการ ไม่ใช่การโฆษณาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทหนึ่งบริษัทใด ขณะเดียวกันการให้ข้อมูลโดยบริษัทนมนั้น สามารถทำได้ เป็นข้อความที่ปรากฏในฉลาก ไม่ใช่ข้อความที่กล่าวอ้างทางด้านโภชนาการและสุขภาพ
“สำหรับในเรื่องการส่งเสริมการตลาดนั้น ไม่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะที่ใดๆ ทั้งการลด แลก แจก แถม ขายพ่วง ของขวัญ หรือของรางวัล รวมถึงห้ามส่งเสริมการตลาดแก่หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีบุตรเป็นทารกหรือเด็กเล็ก หรือบุคคลในครอบครัวที่มีทารกหรือเด็กเล็กด้วย”
ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวถึงเรื่องการบริจาคของบริษัทนม ในลักษณะอุปกรณ์ สิ่งของ หรือของใช้อื่นๆ ที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์แก่หน่วยบริการสาธารณสุขว่า สามารถทำได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ต้องไม่มีชื่อ ตราหรือสัญลักษณ์ปรากฏ ประการสำคัญคือ ต้องไม่ใช่เพื่อแสวงหาประโยชน์การค้า
"ส่วนการให้ของขวัญ เงินสิ่งจูงใจแก่บุคลากรด้านสาธารณสุขนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (conflict of interest) ยกเว้นเป็นการให้ตามประเพณีหรือธรรมจรรยา ซึ่งเรื่องนี้มีกำหนดไว้ชัดเจนตามกฎหมายป้องกันการทุจริต คือไม่เกิน 3,000 บาท และในเรื่องนี้กฎหมายบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาเข้มงวดอย่างมาก ห้ามพาไปรับประทานอาหารในร้านหรู เกินกว่าที่คนปกติรับประทานกัน หรือการเข้าร่วมประชุมวิชาการต่างๆ ก็ห้ามรับเงิน"
กรณีประเด็นเรื่องการจัดหรือสนับสนุน การจัดประชุมวิชาการเกี่ยวกับเรื่องอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ ห้ามหน่วยบริการสาธารณสุขรับประโยชน์โดยตรงจากบริษัทนม ยกเว้นแต่กรณีการสนับสนุนองค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุข ที่พัฒนาความรู้ด้านวิชาการจริงๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เห็นว่า เมื่อความรู้ทางวิชาการไม่ได้อยู่เฉพาะในองค์กรวิชาชีพ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ควรได้รับการยกเว้นเช่นเดียวกัน
อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ ยังกล่าวถึงยังความกังวลเรื่องที่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะขัดข้อตกลงการค้าโลกว่า คงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ 1.ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ 2.ไม่ได้ทำเกินจำเป็น คือ ไม่ได้ห้ามจำหน่าย ห้ามแค่วิธีการโฆษณาส่งเสริมการขาย 3.ไม่ได้ทำตามอำเภอใจและไม่มุ่งกีดกันทางการค้า แต่มุ่งคุ้มครองสุขภาพของประชาชน และ 4.สอดคล้องกับมาตรฐานสากล (WHO as an International Body)
ส่วนที่มีการพูดกันมากว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่มีกฎหมายลักษณะนี้ เช่นในอเมริกา ออสเตรเลีย ยุโรป ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวว่า เป็นเพราะอุตสาหกรรมนมส่วนใหญ่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว และส่งออกไปทั่วโลก ฉะนั้นจึงเกรงว่าจะกระทบต่อผู้ประกอบการของตัวเอง อีกทั้งมีการควบคุมเรื่องประโยชน์ทับซ้อนระหว่างอุตสาหกรรมกับบุคลากรทางการแพทย์เคร่งครัด ขณะที่ผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีความเข้มแข็ง สามารถกลั่นกรองข้อมูลได้ ต่างจากประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องอาศัยกำลังของภาครัฐและเอ็นจีโอ
ขณะที่นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็น เพราะที่ผ่านมาสะท้อนว่า การกำกับด้วยจรรยาบรรณอย่างเดียวไม่เพียงพอ บริษัทนมจะมาบอกว่ามี code เป็นของตัวเองและกำกับกันเองได้ ไม่จริง ไม่เช่นนั้นที่ผ่านมาคงไม่เหตุปัญหา ไม่เห็นการละเมิดเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจะทำเป็นเพียงกติกาหรือข้อตกลง โดยไม่มีบทลงโทษไม่ได้ ไม่มีใครเชื่อ และกฎหมายฉบับนี้จะต้องกำกับ 3 ปี ไม่เช่นนั้นจะไม่มีความหมาย ไม่ได้ช่วยอะไร
“ในส่วนตัวคิดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่น่ายาก หรือมีปัญหาในการพิจารณา เพราะเป็นเรื่องเด็ก เป็นเรื่องที่สร้างสรรค์และควรส่งเสริม เพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของแม่กับลูก ต่างจากกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ต้องสู้รบกันยาว เพราะเข้าใจได้ว่า ประเทศจะเห็นแก่ประโยชน์เรื่องการค้ามากกว่าการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของประเทศทั่วโลก ดังนั้นจึงขอให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาเรื่องนี้ให้ดี คิดถึงสิทธิของเด็ก แม่มากกว่าของขวัญที่ได้จากบริษัทนมผง รวมถึงมอบเป็นของขวัญแก่เด็กในวันเด็กที่จะถึงนี้”
ส่วนกรณีที่บริษัทนมท้วงติงว่า บ้านเราจะคุมเข้มนมมากกว่าขนมกรุบกรอบ ทั้งที่มีประโยชน์มากกว่านั้น นางสาวสารี กล่าวว่า จะคุมทั้งสองอย่าง และแม้นมจะมีประโยชน์ แต่กฎหมายนี้จะเป็นเรื่องสะท้อนว่า เราจะไม่ยอมให้การตลาดนมแม่ มีอิทธิพลต่อการเลี้ยงลูกอีกแล้ว และสี่งที่ขอก็ไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรง หรือกำกับมากกว่าประเทศอื่น แต่สิ่งที่ทำยืนยันว่า เป็นไปตามหลักสากล
นางสาวสารี กล่าวในช่วงท้ายด้วยว่า การผลักดันเรื่องร่างควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็ก พ.ศ.... เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ และกฎหมายอีกฉบับที่เห็นว่า มีประโยชน์และสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นควบคู่กัยไปกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 เรื่ององค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่เช่นนั้นเราก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้อีก เพราะเมื่อยังมีการรับฟังเสียงจากตัวแทนผู้ขายมากกว่าฟังมากกว่าตัวแทนผู้บริโภคอยู่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
แพทยสภาย้ำนมแม่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทารก
ยูนิเซฟ-WHO หนุนร่างพ.ร.บ. ควบคุมส่งเสริมการตลาดอาหารทารก-เด็กเล็ก
กรมอนามัย ย้ำชัด พ.ร.บ.นม ช่วยปกป้องแม่ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง-ไม่ได้ห้ามขาย
นายกแพทยสภา นำเครือข่ายหมอเด็ก ค้านร่างพ.ร.บ.นม-คุมโฆษณาอาหารทารกถึง 3 ปี
นพ.ศิริวัฒน์ ชี้ร่างพ.ร.บ.คุมนมผงทารกถึง 3 ปี ไม่สุดโต่ง ลดเหลือ 1 ปี เป็นแค่กระดาษเปล่า
เลขาธิการศูนย์นมแม่ฯ ลุ้นร่างพ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารก เข้าสนช.
วิจัยชี้นมผงเสี่ยงทำทารกเกิดโรค จี้คลอดกม.ควบคุมตลาดฯ เน้นกินนมแม่