‘นพ.เจตน์’ ยันไม่มีล็อบบี้กมธ.ตัดเนื้อหา ‘ห้ามแบ่งขาย’ ในร่างกม.บุหรี่ฉบับใหม่
ปธ.กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างยาสูบฯ ชี้ ห้ามแบ่งซองขายไม่ใช่เรื่องใหม่ มีกฎหมายสรรพสามิตห้ามอยู่ก่อนแล้ว พร้อมเสนอมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปลูกพืชอื่นทดแทน
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.… กล่าวกับ ‘สำนักข่าวอิศรา’ ถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งอยู่ในวาระ 2 ขั้นการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการว่า เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้มีผู้ส่งหนังสือคัดค้านเข้ามาจำนวนมาก ทาง กมธ.วิสามัญฯ จึงได้เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ เกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ตัวแทนจากโรงงานยาสูบ ตัวแทนจากสมาคมการค้ายาสูบไทย เข้ามาหารือ ส่วนที่เตรียมเชิญเข้ามาให้ความเห็นเพิ่มเติมคือองค์กรระหว่างประเทศ ที่ขอเข้ามาสะท้อนผลกระทบเกี่ยวกับเรื่องการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แปรญัตติเข้ามาประมาณ 10 กว่าคน ฉะนั้นคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการหารือ โดยคาดว่าขั้นตอนทั้งหมดจะแล้วเสร็จราวเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560
นพ.เจตน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้ค้ารายย่อยมีความกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในเรื่องการขยายกรอบอายุผู้ซื้อ-ผู้ขาย ซึ่งในส่วนของผู้ซื้อนั้น กมธ.วิสามัญฯ พิจารณาแล้วจะคงไว้ตามเดิมคือ ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบให้แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จากที่กฎหมายฉบับเดิมกำหนดไว้ที่ 18 ปี ส่วนผู้ขาย มีประเด็นที่เสนอให้ลดกรอบอายุเหลือ 15 ปีเนื่องจากพนักงานในร้านสะดวกซื้อมีอายุน้อย พิจารณาแล้วก็คงไว้ตามเดิมคือกำหนดอายุที่ 18 ปี ส่วนเรื่องแบ่งขาย แม้ประเด็นนี้ยังไม่ถึงวาระในการหารือ แต่คาดว่าคงไม่เปลี่ยนแปลง
“เรื่องการแบ่งซองขายนั้น โดยข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีกฎหมายสรรพสามิต ห้ามขายแบ่งซองอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาอาจยังไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ในสาธารณะหรือให้น้ำหนักมากพอควร ฉะนั้นการพิจารณาในเรื่องนี้ จะเขียนกฎหมายในต่ำกว่ากฎหมายเดิมที่มีอยู่คงเป็นไปไม่ได้ และเมื่อมีกฎหมายอยู่แล้ว แต่ไม่เอามาใช้ จะบอกว่าต้องการปกป้องสุขภาพของคนไทย คงอธิบายได้ยาก”
นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่าในขั้นกรรมาธิการว่า มีการพิจารณาในประเด็นเรื่องการโฆษณา ซึ่งยอมรับว่ามีความซับซ้อน เช่น หากบริษัทผลิตบุหรี่ และผลิตสินค้าชนิดอื่น เช่น น้ำหอม เสื้อผ้า ภายใต้ชื่อแบรนด์เดียวกัน ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ แต่แท้จริงแล้วจะทำเพื่อเลี่ยงกฎหมาย หรือต้องการขยายการเติบโตของธุรกิจก็ไม่อาจรู้ได้ รวมถึงเรื่องการให้เงินไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) กาประชาสัมพันธ์อื่นๆ ที่ซ้อนเร้นเอาชื่อไปใช้ในเรื่องอื่น แต่สื่อความหมายเพื่อต้องการประชาสัมพันธ์ เรื่องเหล่านี้จะต้องพิจารณาและหารืออีกครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หัวใจคือต้องออกกฎหมายให้สอดคล้องอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบฯ ตามที่เราได้ลงนามไว้
ส่วนหลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดการล็อบบี้ เพื่อตัดเนื้อหาบางส่วนในขั้นกรรมาธิการนั้น นพ.เจตน์ กล่าวว่า ประธานฯ ก็มีเสียงเดียวในที่ประชุม อีกทั้งสิ่งที่ดำเนินการและมีข้อสรุปออกไปนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า สภาจะเอาด้วยกับเรา เพราะโดยขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมายเมื่อพิจารณาเสร็จก็เข้าสู่สภา แต่จะเห็นด้วยหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อยู่ที่วาระ 2 และ 3 ต่อไป ทั้งนี้ แม้ กมธ.วิสามัญฯ จะเป็นหลักและส่วนมากก็จะมีความเห็นคล้อยตาม กมธ.วิสามัญฯ แต่จะมาล็อบบี้ไม่ต้อง เสียเวลาเปล่า แต่ถ้าจะแปรญัตติ ตามขั้นตอนทางกฎหมายก็สามารถทำได้ สู้กันไปตามกฎหมาย
นพ.เจตน์ กล่าวด้วยว่า เมื่อหัวใจของกฎหมายฉบับเรื่องนี้คือ ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ เด็ก เยาวชน ดังนั้นในองค์ประกอบของคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ จะมีการเพิ่มสัดส่วนของเด็ก เยาวชน และสตรี เข้ามาเป็นตัวแทนเพิ่มเติมจากร่างเดิม
ขณะที่เรื่องความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบราว 170,000 ไร่นั้น นพ.เจตน์ กล่าวว่า มีเสียงสะท้อนจากเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบที่ระบุว่าจะเดือดร้อน ยอดขายใบยาสูบลดลงจากมาตรการทางกฎหมาย แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสุขภาพของคนไทยกับผลกระทบของเกษตรกร ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่มีอะไรที่ได้ทุกอย่าง มีได้ มีเสีย ต้องชั่งน้ำหนักว่าอะไรมีประโยชน์มากกว่ากัน ฉะนั้นสิ่งที่คิดจะหาทางออกให้แก่เกษตรกรคือ 1.ทำอย่างไรให้เกษตรกรมีรายได้ไม่ลดลงไปจากเดิมมาก โดยจะหาพืชชนิดอื่นให้ปลูกทดแทน และในกรณีที่มีการปรับแก้กฎหมาย เช่น เกษตรกรสามารถปลูกกัญชงได้ก็เชื่อว่าจะมีรายได้ไม่น้อยไปกว่าเดิม
2.ให้โรงงานยาสูบเป็นนิติบุคคล ซึ่งเรื่องนี้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีไปแล้ว ทำให้สามารถจ้างโรงงานยาสูบผลิตยาสูบเพื่อส่งออกได้ และขณะนี้ทราบมาว่า มีบริษัทต่างชาติสนใจติดต่อเข้ามาแล้วเช่นกัน แต่การดำเนินการในลักษณะนี้ก็มีข้อกังวล เพราะเมื่อเราห้าม สร้างเงื่อนไขให้คนในประเทศ ดูแลสุขภาพของคนในประเทศ แต่กลับตั้งโรงงานผลิตบุหรี่ส่งออก อาจผิดหลักการตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบฯ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องระวังเช่นกัน
ที่มาภาพ:http://www.ashthailand.or.th/th/