นักวิชาการ ชี้ทางรอดวิกฤติสื่อปิดตัว แนะ รบ.ช่วยลดต้นทุนการผลิต
อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กระตุ้นคนทำสื่อปรับตัวขนานใหญ่เพื่อความอยู่รอด เสนอภาครัฐช่วยลดต้นทุนผลิตให้ถูกลง ค้านข้อเสนออุดหนุนรายตัว หวั่นกระทบความเป็นอิสระในการนำเสนอ
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สื่อยุคใหม่เข้ามาแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ จนส่งผลกระทบต่อธุรกิจสื่อในปัจจุบัน จนเกิดกระแสนักเขียน นักสื่อสารมวลชนออกมาเรียกร้อง และมีข้อเสนอแนะเพื่อความอยู่รอดของสื่อ
จะเห็นว่า ตลอดตั้งแต่ต้นปี 2559 นับเป็นบันทึกอีกหน้าของสังคมไทย ที่มีข่าว
สถานการณ์สื่อมวลชนปี59 รัฐซึมลึก สื่อซึมเศร้า
ปิดตำนานนิตยสารดัง ความพ่ายแพ้สื่อสิ่งพิมพ์ ฤาพฤติกรรมการอ่านคนไทย 'ง่อนแง่น'
สิ่งพิมพ์เข้าขั้นวิกฤตแท้จริง!5ค่ายสื่อโชว์ตัวเลขไตรมาส3 ขาดทุนพรึบต่อเนื่อง
สนามรบเปลี่ยน! ผู้บริหารสื่อ เปิดตัวเลขยอดขายนสพ.ลดฮวบ 13 ปี หายไป 50%
วิกฤต ศก.สื่อพ่นพิษ! เครือมติชน-เนชั่น เออรี่รีไทร์พนง.-ชดเชยสูงสุด12-17เดือน
สำรวจ 'ทางเลือก-ทางรอด' ค่ายสื่อ ยุควิกฤตศก.พ่นพิษ! นักวิชาการชี้รุนแรงกว่า 'ต้มยำกุ้ง'
เจาะงบการเงิน นสพ.ปี 58-59สื่อใหญ่พาเหรด กำไรหด-ขาดทุนพุ่ง!
เจาะงบดุล"นสพ."ยุคภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน รายได้ลดขาดทุนยับ "ข่าวสืบสวน" ช่วยได้!
“สำนักข่าวอิศรา” มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมการนโยบายกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศสภาปฏิรูปแห่งชาติ ถึงกรณีดังกล่าว
ดร.จุมพล กล่าวว่า กรณีที่สื่อสิ่งพิมพ์ปิดตัวลงหลายฉบับนั้น สาเหตุหลักๆ ได้แก่ 1.พลวัติทางสังคมที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้อ่านเปลี่ยนไปเช่นกัน 2.การปรับตัวของสื่อและคนทำสื่อที่ยังก้าวไม่เท่าทันยุคดิจิทัล ที่มีรูปแบบการนำเสนอเปลี่ยนไป ขณะที่ต้นทุนการผลิตสื่อไม่ได้ปรับลดลง ทำให้การอยู่รอดของสื่อค่อนข้างลำบาก
หากถามว่าคนทำสื่อจะทำอย่างไรจึงจะดำเนินกิจการไปได้รอดนั้น ดร.จุมพล กล่าวว่า ประการแรกสื่อเองต้องปรับตัวขนานใหญ่ ทั้งในด้านทักษะคนทำสื่อ รูปแบบการนำเสนอ ที่ต้องเข้าถึง รองรับคนทุกช่องทาง ทั้งสิ่งพิมพ์ และที่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตทุกรูปแบบ ขณะที่ภาครัฐเอง หากเป็นไปได้อาจหาวิธีช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิตสื่อ
“เรื่องที่ภาครัฐสามารถช่วยเหลือได้ เช่น ต้นทุนการพิมพ์ กระดาษ หรือเครื่องจักร ทำอย่างไรให้ถูกลง หรือเสียภาษีลดน้อยลง เพื่อให้สื่อสิ่งพิมพ์ยังสามารถอยู่ได้ และผู้อ่านสามารถเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น ส่งเสริมการอ่านทางตรงได้มากขึ้น เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หนังสือ ตำรา และหนังสือพิมพ์ยังมีความจำเป็นในสังคมที่ยังมีคนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตอยู่อีกมาก”
อย่างไรก็ตาม ดร.จุมพล กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วย และไม่สนับสนุนในข้อเสนอที่ให้มีการอุดหนุน หรือให้สวัสดิการด้านต่างๆ แก่คนทำสื่อโดยตรง เนื่องจากสื่อ และคนทำสื่อต้องมีความเป็นอิสระ ไม่ควรถูกควบคุมทั้งทางตรง หรือแม้แต่การสนับสนุนทางอ้อมก็ตาม
“สำหรับคนทำสื่อเอง ผมว่าหากมีการฝึกทักษะ ปรับตัวให้เท่าทันกับรูปแบบการทำงาน การนำเสนอข่าวที่เปลี่ยนไปได้อย่างไรก็ไม่มีวันตกงาน เช่นเดียวกับกิจการสื่อ หากมีการปรับตัว มีรูปแบบการนำเสนอที่เข้าถึงทุกกลุ่มอย่างไรก็อยู่รอด ดังนั้น หากภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือ ควรมุ่งไปที่ทำอย่างไรให้ธุรกิจสื่ออยู่รอด และการผลิตสื่อดำเนินต่อไปได้มากกว่า”
ดร.จุมพล กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่อยากเน้นย้ำ คือ เรื่องรู้เท่าทันสื่อ ยังเป็นเรื่องที่สำคัญเสมอ ด้วยปัจจุบันเราอยู่ในสังคมที่ทุกคนต่างก็เป็นสื่อ สามารถเป็นทั้งผู้ส่งสาร และผู้รับสารในเวลาเดียวกัน จึงต้องวิเคราะห์มากขึ้น พิจารณามากขึ้น
“ปัจจุบัน สื่อ ไม่ใช่แค่นักข่าว หรือผู้สื่อข่าวเท่านั้น แต่ทุกคนคือสื่อ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้รู้เท่าทัน ต้องเช็คก่อนแชร์ ชัวร์ค่อยแชร์ ไม่ต้องรีบร้อน ยิ่งล่าสุดเมื่อมีมติให้ผ่าน พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ ยิ่งต้องมีสติในการเผยแพร่ข้อมูลให้มาก ซึ่งหากมองในแง่หนึ่งก็เป็นการจำกัดเสรีภาพในการคิด หรือแสดงความเห็น แต่ในอีกแง่ก็เป็นเรื่องดีที่อาจส่งผลให้เกิดการใช้สื่อออนไลน์กันอย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น การแข่งขันนำเสนอข่าวด้วยความเร็ว ขาดการตรวจสอบอาจน้อยลงได้”