เตือนปม "โรฮิงญา" ในยะไข่...แก้ไม่ได้กลายเป็น"พื้นที่ญิฮาดใหม่"กลุ่มติดอาวุธ
แม้ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน เพื่อแก้ปัญหาชาวโรฮิงญาในนครย่างกุ้งของเมียนมาเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.59 จะมีสัญญาณบวกพอสมควร
เพราะรัฐบาลเมียนมายอมอนุญาตให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปยังพื้นที่ “รัฐยะไข่” ที่เกิดเหตุรุนแรงทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 80 คนและลี้ภัยออกนอกพื้นที่นับหมื่นคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาก็ตาม
แต่นั่นยังเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะประเด็นโรฮิงญามีความซับซ้อนมากกว่านั้น โดยเฉพาะการถูกอธิบายว่าเป็นเรื่อง “อคติทางชาติพันธุ์” และความรุนแรงในรัฐอาระกัน หรือยะไข่ ถูกมองด้วยสายตาที่ว่าเป็นการพยายาม “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” มุสลิมโรฮิงญา
ขณะที่สถานะปัจจุบันของโรฮิงญาในเมียนมา ก็ยังไม่ใช่ “พลเมือง” และเป็น “คนไร้รัฐ” อย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากเมียนมาก็ไม่ยอมรับ บังคลาเทศซึ่งมีพรมแดนติดกับยะไข่ก็เฉยชา
ปัญหานี้ปะทุกลายเป็นความรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง ที่เป็นผลกระทบขนาดใหญ่คือเหตุจลาจลในรัฐยะไข่ เมื่อปี ค.ศ.2012 หรือปี 2555 ซึ่งครั้งนั้นรัฐบาลทหารพม่าต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน มีชาวโรฮิงญาเสียชีวิตกว่าร้อย อพยพนับแสน
ส่วนความรุนแรงล่าสุดในปีนี้ (2559) แม้ความสูญเสียทางตัวเลขจะน้อยกว่าเมื่อ 4 ปีก่อน แต่หลายฝ่ายเชื่อว่ายังมีการปกปิดข้อมูล
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ จากศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งสัญญาณเตือนถึงวิกฤตการณ์ในรัฐยะไข่เอาไว้อย่างน่าตกใจ โดยเขาประเมินว่าหากการแก้ไขปัญหาไม่ดำเนินการอย่างจริงจังและทันท่วงที รัฐยะไข่อาจกลายเป็น “พื้นที่ญิฮาดแห่งใหม่” ของบรรดากองกำลังติดอาวุธมุสลิม
อาจารย์ศราวุฒิ อธิบายว่า ปัญหาโรฮิงญาได้รับความสนใจจากเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น ทั้งอาเซียนและโอไอซี หรือองค์การความร่วมมืออิสลาม ซึ่งถือเป็นเรื่องดี
“กรณีโรฮิงญา ถ้ามองแง่หนึ่งในโลกมุสลิมก็น่าสนใจ เพราะตอนหลังมานี้โอไอซีให้ความสนใจกับกรณีปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศต่างๆ อันสืบเนื่องมาจากแนวทางปฏิรูปของโอไอซีที่เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2005 เราจึงเห็นว่าโอไอซีให้ความสำคัญกับกรณีเมียนมาอย่างมาก ปีที่แล้วก็มีความพยายามไปเปิดสำนักงานที่นั่น แต่ไม่สำเร็จ”
“ขณะที่การกดดันเมียนมาจากประเทศมุสลิมก็มีมากขึ้น อย่างกรณีล่าสุดที่ประเทศมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีเข้าไปร่วมขบวนประท้วงด้วยตัวเอง ส่วนความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนก็น่าสนใจ เครือข่ายมนุษยธรรมในหมู่มุสลิมตื่นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่พวกเขามีประสบการณ์ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่กลุ่มผู้ลี้ภัยจากปัญหาการสู้รบในซีเรีย”
แต่ถึงกระนั้น สิ่งที่ อาจารย์ศราวุฒิ เป็นห่วงคือความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง เพราะแม้จะเป็นคนส่วนน้อย แต่ก็อาจทำให้ปัญหาบานปลาย โดยเฉพาะการก่อการร้ายในภูมิภาคอาเซียน
“กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงสนใจเหตุการณ์ในรัฐยะไข่มาก เพราะว่าระยะหลังมีการศึกษาของมหาวิทยาลัยในยุโรป ระบุว่านี่คือกระบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นักวิชาการหลายคนรวมถึงผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติออกมาบอกว่ากรณีโรฮิงญาคือการข่มเหงชนกลุ่มน้อยที่หนักหนาสาหัสที่สุดในโลก”
“ที่ผ่านมาเราเห็นเหตุการณ์เลวร้ายที่กระทำต่อคนโรฮิงญา โดยเฉพาะในช่วงปี ค.ศ.2012 (เหตุจลาจลในรัฐยะไข่จนต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน มีชาวโรฮิงญาเสียชีวิตนับร้อย อพยพนับแสน) และต่อเนื่องมาถึงครั้งนี้ เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ในครั้งนี้จึงดึงความสนใจของโลกมุสลิม ไม่เฉพาะโอไอซีหรือภาคประชาชนที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ว่ากลุ่มติดอาวุธที่เป็นคนส่วนน้อยก็ให้ความสนใจด้วย”
“ระยะหลังกลุ่มตาลีบันได้ออกประกาศว่า ต้องการมาสู้รบเพื่อปลดปล่อยชาวโรงฮิงญา และต้องไม่ลืมว่าตาลีบันมีเครือข่ายทั้งในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และบังคลาเทศ โดยปากีสถานเป็นแหล่งกำเนิดของขบวนการตาลีบัน ส่วนบังคลาเทศซึ่งเคยเป็นประเทศเดียวกับปากีสถาน ก็มีพรมแดนติดกับรัฐยะไข่ แม้ว่ารัฐบาลของบังคลาเทศจะไม่ให้ความสำคัญมากนักกับปัญหาโรฮิงญาอย่างที่เราเห็นท่าทีที่ผ่านมา แต่ประชาชนในบังคลาเทศคิดอีกอย่างหนึ่ง”
อาจารย์ศราวุฒิ บอกว่า ความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตาคือ ขบวนการติดอาวุธในบังคลาเทศมีจำนวนไม่น้อยที่ออกมาแสดงท่าทีแข็งกร้าว และต้องการต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมาในรัฐยะไข่ ขณะที่โรฮิงญาเองก็มีกลุ่มติดอาวุธของตนด้วย
“สิ่งที่น่าสนใจคือ นับตั้งแต่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.2012 มีขบวนการติดอาวุธของโรฮิงญาเองเกิดขึ้นมา เข้าใจว่าเป็นคนที่เข้าไปใช้ความรุนแรงจู่โจมจนตำรวจของเมียนมาเสียชีวิตไป 9 คน ก่อนจะเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในช่วงนี้”
อาจารย์ศราวุฒิ เตือนว่า นี่คือสัญญาณที่อาจนำไปสู่การเปิดพื้นที่ญิฮาดใหม่ของกองกำลังติดอาวุธที่เป็นมุสลิม
“ผมคิดว่าตรงนี้มันเป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งว่ากรณีการกดขี่ข่มเหงชาวโรฮิงญาในเมียนมา เท่ากับเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับการทำญิฮาดของกองกำลังติดอาวุธที่มีอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก”
“ที่ผ่านมาจะเห็นว่าประชาคมโลกและกลุ่มประเทศอาเซียนให้ความสำคัญกับการเข้าไปร่วมรบกับกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรียของมุสลิมจากที่ต่างๆ รวมถึงมุสลิมจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย แต่หากสถานการณ์ในรัฐยะไข่เลวร้าย มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน หรือมีลักษณะของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตามที่มีการศึกษาไว้แล้ว และยังมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องซ้ำแล้วซ้ำอีก คิดว่ารัฐยะไข่จะกลายเป็นพื้นที่ญิฮาดใหม่ที่คนอินโดนีเซีย คนมาเลเซีย บังคลาเทศ ปากีสถาน ไม่จำเป็นต้องไปต่อสู้ทำญิฮาดในซีเรียอีกต่อไป อาจเข้ามาต่อสู้ในพื้นที่รัฐยะไข่ เพื่อปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแทน”
อาจารย์ศราวุฒิ กล่าวด้วยว่า หากเหตุการณ์บานปลายไปถึงจุดนั้น จะทำให้สถานการณ์ด้านความมั่นคงในอาเซียนย่ำแย่เลวร้ายลงไปอีก เหตุนี้ทุกฝ่ายจึงต้องเข้ามาร่วมแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นพื้นที่ตรงนี้จะกลายเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคง และจะกระจายความไร้เสถียรภาพไปสู่ภูมิภาคอาเซียนในภาพรวม
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ภาพความรุนแรงในรัฐยะไข่ (ขอบคุณ สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จุฬาราชมนตรี)
2 ศราวุฒิ อารีย์
3 บรรยากาศชื่นมื่นภายหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เมียนมา (ขอบคุณ สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จุฬาราชมนตรี)
อ่านประกอบ :
โรฮิงญา...จาก "อคติชาติพันธุ์" สู่ "เหยื่อค้ามนุษย์"