คุยกับดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนให้ทัน กระแส ‘นวัตกรรม – เทคโนโลยี’
กลุ่มบริการ Internet Banking นวัตกรรมการเงิน จะมาแรงที่สุด ต่างชาติมาร่วมลงทุนมากที่สุด และเกิดการแข่งขันกันมากที่สุดในปี 2560
สู่ศักราชใหม่... “สำนักข่าวอิศรา” มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) หรือ Electronic Government Agency (Public Organization) (EGA) หน่วยงานที่เกิดขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ทำหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สนับสนุนให้เกิดบริการออนไลน์ภาครัฐ เพิ่มโอกาสและความเท่าเทียมของประชาชนในการใช้บริการภาครัฐ
มองกระแสโลก – กระแสไทย
ดร.ศักดิ์ มองว่า กระแส ‘นวัตกรรม – เทคโนโลยี’ นับว่าเป็น ‘หัวใจ’ สำคัญในทุกสายอาชีพทั่วโลกที่ต้องเร่งปรับตัว ทั้งพัฒนาบุคลากร และวางแผนบริหารกิจการกันขนานใหญ่ เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ
สำหรับนวัตกรรมใหม่ๆ ในปี 2559 จากการที่กระทรวงการคลัง ได้เริ่มต้นให้มีการใช้บริการ พร้อมเพย์ (PromptPay) และเตรียมขยายโครงการที่เกี่ยวกับการบริหารเงินสด ลดความยุ่งยาก สามารถตรวจสอบได้ เพิ่มความโปร่งใส โดยเฉพาะกับ e-Payment (ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์)
จากแนวโน้มดังกล่าว เขาเห็นว่า กลุ่มบริการ Internet Banking นวัตกรรมการเงิน จะมาแรงที่สุด ต่างชาติมาร่วมลงทุนมากที่สุด และเกิดการแข่งขันกันมากที่สุดในปี2560
ทั้งนี้ ภาครัฐจะต้องอุดช่องโหว่ที่เป็นปัญหาด้านมืดในการใช้ดิจิทัลให้ได้ โดยเฉพาะการถูกแฮก แอคเคาท์ส่วนตัว หรือถูกหลอกจากการปลอมแปลงข้อมูล และที่ต้องเน้นย้ำว่า เรื่องความปลอดภัยจากการใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ยังคงเป็นเรื่องที่ Hot เสมอในทุกๆ ปี
ไทยแลนด์ 4.0
สำหรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ที่มุ่งยกระดับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรม สู่ความได้เปรียบในเชิงแข่งขันทั้งด้านนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากการกำดักรายได้ปานกลาง ได้แก่
1. กลุ่มอาหาร เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
2. กลุ่มสาธารณสุข และเทคโนโลยีการแพทย์
3. กลุ่มหุ่นยนต์อัจฉริยะ และระบบเครื่องกล อิเล็กทรอนิกส์ควบคุม
4. กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีและอิเทอร์เน็ตเชื่อมต่อ
และ 5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรมและบริการที่มีมูลค่าสูง
ดร.ศักดิ์ บอกว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไทยเป็นอุตสาหกรรมรายได้น้อย เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมประเทศอื่น จึงเกิดแนวคิดที่จะยกระดับอุตสาหกรรมดังกล่าวให้สมาร์ทขึ้น ลดต้นทุนลงได้ เมื่อนโยบายเป็นไปทิศทางนี้ ก็จะต้อง เตรียมตัว เรียนรู้ และพัฒนา
“อย่างในกลุ่มสาธารณสุข ด้านสุขภาพ ประเทศไทยมีแพทย์ที่เก่งมาก ชาวต่างชาติให้ความสนใจ ทำอย่างไรจะนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริการ สร้างระบบที่ ทำมาก แล้วได้ผลมากทวีคูณ จากที่ผ่านมาเป็นระบบสาธารณสุขที่ ทำมาก แต่ได้น้อย ต้องคิดแนวทางนำ ดิจิทัล มาเป็นตัวช่วยให้เกิดการพัฒนา ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่พึงประสงค์ สร้างระบบให้มีความเป็นสากล นำนวัตกรรมเข้ามาช่วย เช่น อุปกรณ์เชื่อมต่อที่ทันสมัย หรืออุปกรณ์วัดไข้ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น”
ชูวาระ “Digital Economy”
‘ดิจิทัล’ เปรียบเสมือน Big data ที่ ดร.ศักดิ์ ชี้ว่า จะเป็น ‘เทรนด์’ หรือ ‘แนวโน้ม’ ตัวสำคัญในทุกเรื่อง ทำให้โครงการสตาร์อัพ เป็นยาดีเข้าไปแทรกในทุกกิจการ สามารถจับต้องได้ง่าย อย่างในภาคอุตสาหกรรมจะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุน ตัดตอนพ่อค้าคนกลาง และเพิ่มช่องทางการค้า
“ภาครัฐสามารถนำหลักการของดิจิทัล ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลมหาศาลไปใช้ได้จริง อย่างกรณีชาวนา อาจศึกษาในส่วนของเว็บไซต์ หรือระบบโลจิสติกส์ว่า มีความพร้อมมากเพียงใด เมื่อนำดิจิทัลเข้าไปร่วมจะเกิดนวัตกรรมตามมา ที่ผ่านมาชาวนาไม่เคยรู้จักลูกค้าของตนเอง ดิจิทัลจะช่วยให้ชาวนาเลือกตลาด จัดกลุ่มผู้บริโภค หรือผลิตสินค้าเฉพาะกลุ่มได้ เช่น เน้นกลุ่มสุขภาพ ปลูกข้าวออแกนิค”
ดร.ศักดิ์ เน้นย้ำว่า ยุคนี้ชาวนา หรือผู้ประกอบการต้องตั้งคำถามใหม่ว่า จะเรียนรู้เทรนด์ใหม่ๆ ได้อย่างไร มีช่องทางใดบ้าง มีลูกค้ากลุ่มใดบ้าง การเข้ามาของดิจิทัล จะทำให้โลกของการขายเปลี่ยนไป จะปรับปรุงวิธีการขายเป็น Personal Life (ตรงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น) มีข้อมูลมากพอที่จะมาวิเคราะห์กลุ่มลูกค้ามากขึ้น
“ผมว่า หมดยุคทำทุกอย่างแบบหว่านแห แห่ปลูกกันตามความนิยมแล้วนะ เรื่องข้าว เรื่องยาง เป็นคนละเรื่อง คนละแบบ ต้องคิดเป็นกลยุทธ์เฉพาะเรื่องให้ได้ หมดยุคเน้นปริมาณ ต้องเน้นมูลค่า นำข้อมูลเทคโนโลยีการผลิตมาเชื่อมโยงกัน ยึดหลักการ Internet of Things หรือ IOT (ที่สิ่งต่างๆ ถูกเชื่อมโยงกันสู่โลกอินเตอร์เน็ต สามารถช่วยเพิ่มปริมาณได้มากขึ้นและมีคุณภาพขึ้น”
ดร.ศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมถึงตัวอย่างที่จับต้องได้สำหรับภาคเกษตร คือการจัดทำสมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm) ซึ่งเป็นการเกษตรที่นำระบบเทคโนโลยี สื่อ คอมพิวเตอร์ และเซ็นเซอร์มาช่วยในกระบวน โดยนำข้อมูลดิจิทัลมาช่วยตัดสินใจ
“ในระยะแรกต้องยอมรับว่าทุนอาจค่อนข้างสูง แต่สังคมไทยยังเป็นสังคมภาคเกษตร ผมว่าคุ้มค่าที่จะลงทุนในระยะยาว เพราะที่ผ่านมาเราปล่อยให้เกิดการแห่ปลูกไปตามเทรนด์ จนเกิดค่าเสียโอกาสในส่วนนี้ไปไม่น้อย ขณะที่ภาครัฐต้องเตรียมข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วให้เกษตรกร ทั้งหมดนี้ผมว่า เป็นเบื้องต้นในการเตรียมตัวก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0”
เทรนด์ของ สรอ.
สำหรับ สรอ. ในปีหน้า ดร.ศักดิ์ บอกว่า กำลังเตรียมเปิดตัว Mobile Application ที่สามารถให้ประชาชนได้ติดตาม ตรวจสอบข้อมูลตัวเลข หรือรายละเอียดต่าง ๆ ในโครงการภาครัฐได้ จากเดิมมีบริการตู้คีออส (Kiosk) 13 เครื่อง ที่เป็นเครื่องให้บริการอัตโนมัติ ประชาชนเช็คข้อมูลตัวเอง ตรวจสอบทะเบียนบ้าน ข้อมูลประกันสังคม ประกันสุขภาพได้ และกำลังให้มีการขยายไปยังทุกจังหวัด รวมถึงได้ประสานความร่วมมือกับการประปานครหลวงทำ one stop service ในการขอติดตั้งมิเตอร์น้ำ โดยใช้บัตรประชาชนเพียง 1 ใบ
ทั้งนี้ ยังมีแหล่งค้นหาข้อมูลในการจัดตั้งธุรกิจ เพื่อสร้างความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการจัดตั้งบริษัทรวมศูนย์อยู่ในเว็บไซต์เดียว ได้แก่ เว็บไซต์ศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน (govchannel.go.th) ที่นำร่องใช้ Chatbot มาโต้ตอบข้อสงสัยแก่ผู้เข้ามาใช้บริการติดต่อ
“ผมว่าการจัดทำศูนย์กลางแหล่งค้นหาข้อมูลเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์สูง ช่วยสร้างความโปร่งใส ลดการคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะข้อมูลที่ต้องติดตามอย่าง ข้อมูลทางการเกษตรในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ในปีหน้าจะมีความพร้อมเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ประชาชนจะปลดแอกได้ว่าภาษีไปไหน”
ท้ายที่สุด ดร.ศักดิ์ ชี้ว่า สิ่งที่ควรทำประการแรกๆ คือรณรงค์หาแนวทางให้คนกว่า 10 ล้านคนที่ใช้สมาร์ทโฟนในปัจจุบันสนใจกลุ่มบริการใหม่ๆ หรือใช้โซเชียลมีเดียในด้านอื่น มากกว่าที่มุ่งเน้นแค่ด้านบันเทิง
“ที่ต้องเร่งทำที่สุด ต้องสร้างทุนมนุษย์ ปรับปรุงคุณภาพแรงงาน เตรียมความพร้อมรองรับระบบดิจิทัล ฝึกบุคลากรให้เท่าทันทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะคนภาครัฐที่มีกว่า 2 – 3 ล้านคน ต้องปรับตัวมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลก็ต้องสร้างกลไกให้ทุกระดับชั้นเข้าถึงข้อมูล เทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมกัน ยุคนี้ทุกอย่างเร็วหมด เสพสื่อต้องมีวิจารณญาณ เพราะความเร็ว ทำให้ข้อมูลถูกบิดเบือนไปมาก ต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองในยุคดิจิทัล”