สมัชชาสุขภาพ เตรียมชง ครม.คุมเข้มโฆษณาเถื่อนอาหาร-ยาทางสื่อท้องถิ่น
มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ คุมเข้มโฆษณาอาหาร-ยาผิด กม.ในวิทยุชุมชน เคเบิ้ล ทีวีดาวเทียม ชี้ต้องแก้ พ.ร.บ.อาหารและยา ล้าหลังโทษน้อยไม่ทันธุรกิจโฆษณา อย.-กสทช.-อปท.ต้องช่วยกันจึงปราบได้
วันที่ 2 ก.พ.55 ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวภายหลังการประชุมเพื่อรับรองมติ “การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม” ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ว่ามติสมัชชาสุขภาพเบื้องต้นเห็นตรงกันว่าปัญหาดังกล่าวจะแก้ไขโดยเฉพาะหน่วยงานใดคงไม่ได้ผล แต่ต้องร่วมกันทุกภาคส่วน โดยมีองค์ประกอบผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3 ภาคส่วน คือ
1.ภาครัฐ ซึ่งนอกจาก อย.ที่ดูแลเรื่องยาและอาหารโดยตรงแล้ว ยังมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยติดตามข้อมูลผู้ที่กระทำผิดและเข้าดำเนินการได้ง่าย แต่ในส่วนของ กสทช.นั้นยังต้องรอการออกหลักเกณฑ์ในการควบคุมก่อน
2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ซึ่งที่ผ่านมาในการควบคุมการโฆษณาในกรณีที่เป็นสื่อส่วนกลาง อย.ดำเนินการอยู่แล้ว เพราะมีตัวตนชัดเจนติดตามได้ง่าย แต่ที่มีปัญหามากคือสื่อในท้องถิ่น โดยเฉพาะที่อยู่ไกลๆอย่างวิทยุชุมชน เคเบิ้ลท้องถิ่น ยากต่อการเข้าไปตรวจจับ จึงต้องอาศัยสำนักงานสาธารณสุข แต่ก็ต้องประสานกับหน่วยงานท้องถิ่นเช่นกัน 3.ภาคประชาชนและสื่อมวลชน โดยหากสื่อมีจรรยาบรรณและจริยธรรมในการรับโฆษณาก็จะช่วยได้มาก ในส่วนประชาชนเองก็จะต้องให้ความรู้เพื่อสามารถคัดกรองพิจารณาได้ว่าสินค้าใดเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ภญ.ศรีนวล กล่าวต่อว่า นอกจากแนวทางความร่วมมือข้างต้นแล้ว ยังต้องเน้นการบังคับใช้กฎหมาย โดยให้มีคำสั่งทางปกครองในการยกเลิกผลิตและเลิกจำหน่าย นอกจากนี้มติสมัชชาฯ เห็นควรให้มีการพัฒนากฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เนื่องจากทั้ง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดโทษน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการตลาดที่ผู้ประกอบการมองว่าคุ้มค่าที่จะถูกจับลงโทษ เช่น กรณีโฆษณาอาหารโดยไม่ได้ขออนุญาตจะถูกปรับแค่ 5,000 บาทเท่า ขณะที่การโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริงมีโทษแค่จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“หลังการรับมติการจัดการโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณผิดกฎหมายฯ จะนำเข้า ครม. ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับมติสมัชชาไปปฏิบัติต่อไป” ภญ.ศรีนวล กล่าว
รองเลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นปัญหาในการโฆษณาผ่านสื่อมีทั้ง 1.ยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มยาแผนโบราณ 2.อาหาร 3.เครื่องสำอาง ซึ่งในแต่ละวันมีผู้โทรเข้ามาสอบถาม อย.ถึงวันละ 80-100 ราย ขณะที่เรื่องร้องเรียนมีประมาณ 100 กรณีต่อเดือน นอกจากนี้ อย.ยังมีการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาผ่านสื่อ 1,000 รายการต่อเดือน และจากการติดตามเกือบทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งบางผลิตภัณฑ์โฆษณาซ้ำๆ 50-80 ครั้งต่อวันเพื่อให้ผู้บริโภคได้จดจำ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องช่วยดำเนินการ
ทั้งนี้จากข้อมูลนำเสนอต่อที่ประชุมระบุว่า มูลค่าของการโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว การโฆษณายาสู่ผู้บริโภคในช่วงปี 2549-2552 มีมูลค่าสูงกว่า 2.5 พันล้านบาทต่อปี ส่วนการโฆษณาอาหารมีมูลค่าการโฆษณาสูงถึง 1.7 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยสูงกว่าปี 2539 ถึง 12 เท่า โดยเฉพาะมูลค่าการโฆษณาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเสริมอาหาร จากข้อมูลบริษัทผลิตสื่อโฆษณาเพียงบริษัทเดียวในปี 2545 พบว่า การโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีมูลค่าสูงถึง 821 ล้านบาท และมีการขยายตัวต่อเนื่องเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคผ่านสื่อหลายรูปแบบ โดยในปี 2553 วิทยุท้องถิ่นทั่วประเทศมีมากกว่า 7,700 แห่ง ขณะที่ประมาณการว่า เม็ดเงินที่โฆษณาผ่านเคเบิ้ลทีวีและดาวเทียมสูงถึง 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี .
ที่มาภาพ : http://www.thaimuslim.com/view.php?c=2&id=9661