บิ๊กตู่ สั่งเร่งรัดคดีบ้านเอื้ออาทร -ชมอิศราทำข่าวตรวจสอบทุจริตดีหลายเรื่อง
บิ๊กตู่ สั่งกลางวง คตช. เร่งรัดคดีทุจริต บ้านเอื้ออาทร สร้างความเสียหายประเทศร้ายแรง ผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว - ชมอิศราทำข่าวตรวจสอบทุจริตดีหลายเรื่อง เตือนระวังถูกฟ้อง ข้อมูลบางครั้งไม่ครบ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ในการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 5/2559 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2559 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานการประชุม ได้สั่งเร่งรัดตรวจสอบทุจริตสำคัญที่ยังค้างอยู่ โดยยกตัวอย่างคดีบ้านเอื้ออาทร อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวชมการทำงานของสำนักข่าวอิศราว่า มีการนำข่าวที่ดีหลายเรื่อง เรื่องไหนทำดีก็ต้องชม แต่ให้ไปบอกระวังจะถูกฟ้องร้อง เพราะข้อมูลบางครั้งไม่ครบ
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุม คตช.ครั้งนี้ ได้มีการรายงานภาพรวมคดีทุจริตในขั้นตอนการตรวจสอบ แยกเป็นเรื่องที่ดำเนินการแล้วเสร็จ มี 10 เรื่อง ได้แก่ 1. การทุจริตประพฤติมิชอบขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 2. การตรวจสอบคดีทุจริตคลองด่าน 3. การทุจริตโครงการระบบส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ 4.การทุจริตก่อสร้างสนามกีฬา (งบแปรญัตติปี 2555) 6.การจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย 7.การตรวจสอบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 8.การตรวจสอบการดำเนินงานของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) 9. การตรวจสอบการบริหารงานของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ 10.การตรวจสอบโครงการตำบลละ5 ล้าน
ส่วนเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ มี 3 เรื่อง ได้แก่ 1.คดีทุจริตการเก็บรักษาข้าวในคลังสินค้าภายใต้โครงการรับจำนำข้าว 2.การตรวจสอบทุจริตโครงการอุดกลบบ่อน้ำบาลดาล ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และ 3.การตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามกีฬาระดับอำเภอ ของกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ในเว็บไซต์http://www.thaigov.go.th/ ได้เผยแพร่ข่าวผลการประชุม คตช. ครั้งนี้ เป็นทางการ โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.59 เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 5/2559 โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
ภายหลังการประชุม นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช. พร้อมด้วย รศ.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานอนุกรรมการฯ ด้านการปลูกจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานอนุกรรมการฯ ด้านการประชาสัมพันธ์ นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม และ ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ร่วมกันแถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
รศ.จุรี วิจิตรวาทการ กล่าวถึงการดำเนินงานในระยะเวลาที่ผ่านมาของคณะอนุกรรมการฯ ด้านการปลูกจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ ว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องทำให้เด็กนักเรียนได้เข้าถึงสาระสำคัญในหลักสูตรโตไปไม่โกง ซึ่งนอกจากการขับเคลื่อนร่วมไปกับทางโรงเรียนแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ได้ดำเนินการผลิตสื่อใหม่เพิ่มเติมเพื่อส่งไปช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก โดยได้ผลิตแผ่นดีวีดีสื่อรณรงค์ประเภทต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่และรณรงค์อย่างกว้างขวาง ประกอบด้วย 1. สื่อประชาสัมพันธ์ หลักสูตร “โตไปไม่โกง” 40,000 ชุด 2. สื่อแอนิเมชั่น ก้านกล้วยกับโตไปไม่โกง 40,000 ชุด 3. สื่อรณรงค์ “สำนึกไทย ไม่โกง” 10,000 ชุด 3. สื่อวิทยุรณรงค์สร้างจิตสำนึก 10,000 ชุด นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้หารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทยว่าจะนำหลักสูตรโตไปไม่โกงลงไปสู่โรงเรียนส่วนท้องถิ่น พร้อมกับจะนำสื่อต่าง ๆ ไปเผยแพร่ด้วย และอาจจะมีโครงการอบรมสำนึกไทยไม่โกงให้กับเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นด้วย นอกจากนี้ มีบางประเทศในตะวันออกกลางจะขอส่งคนมาอบรมเรียนรู้หลักสูตรโตไปไม่โกง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา
รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ กล่าวว่า จะมีการกำหนดหน่วยงานที่สำคัญบางหน่วยงานที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และเพื่อทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ ของการที่จะได้รับใบอนุญาตจากทางราชการมีขั้นตอนที่ลดลง มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งคณะกรรมการชุดที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะได้กำหนดหน่วยงานต่าง ๆ ออกมา โดยในเบื้องต้น หน่วยงานที่ควรจะถือว่าเป็นต้นแบบของการใช้ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ที่จะปรับปรุงระเบียบขั้นตอนต่าง ๆ ให้รวดเร็วมากขึ้น ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. กรมศุลกากร กรมที่ดิน กรมโรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยงานสำหรับการยื่นขอวีซ่าที่สนามบิน เพราะมีนักท่องเที่ยวและผู้ป่วยจำนวนมากที่เดินทางมาเพื่อรักษาตัวในประเทศไทย แต่การออกใบอนุญาตให้เข้าประเทศยังมีความล่าช้ามาก โดยรัฐบาลจะได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา ขึ้นมาดำเนินการในเรื่องนี้เป็นพิเศษ ซึ่งไม่ใช่เป็นการไปตรวจจับผิดแต่จะไปช่วยลดขั้นตอนการทำงาน แต่เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการเข้ามาลงทุน นักท่องเที่ยว และผู้ที่ต้องการเข้ามารักษาตัวในประเทศไทย พร้อมกันนี้ ที่ประชุม คตช. มีมติเห็นชอบให้ทั้ง 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้ทำงานอย่างบูรณาการร่วมกันต่อไป นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเร่งรัดคดีทุจริตที่สร้างความเสียหายกับประเทศอย่างร้ายแรง เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร ที่ผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี โดยให้ไปรวบรวมข้อมูลและรายงานความคืบหน้าคดีนี้ในการประชุมครั้งต่อไป และสั่งการให้รวบรวมรายชื่อขึ้นบัญชีดำนักธุรกิจที่มีพฤติกรรมทุจริต เพื่อไม่ให้คนเหล่านี้มาทำประมูลงานกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะเป็นการป้องกันการทุจริตได้อีกทางหนึ่ง
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ กล่าวว่า ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม ใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1. โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ที่ได้ดำเนินการในปีงบประมาณ 2558 จำนวน 14 โครงการ ปีงบประมาณ 2559 จำนวน 12 โครงการ และในปีงบประมาณ 2560 ดำเนินการจำนวน 9 โครงการ ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดและผลจากการเข้าสังเกตการณ์ได้ข้อสรุปว่า ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใสเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และสามารถประหยัดงบประมาณได้ 2. โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative : CoST) ที่ขณะนี้กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ เพื่อเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (MSG) ตามหลักการของ CoST เพื่อขับเคลื่อนงานต่อไป 3. การศึกษาระบบมาตรฐานรหัสต้นทุนก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2555 ของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (ว.ส.ท.) และนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำฐานข้อมูลราคากลางงานก่อสร้างภาครัฐ
ดร.มานะ นิมิตรมงคล กล่าวว่า ที่ประชุมสั่งการให้แต่ละหน่วยงานเร่งรัดการจัดทำคู่มือและแนวทางพัฒนาการให้บริการประชาชนตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการจัดทำคู่บริการประชาชน มีมากกว่า 870,000 คู่มือ แต่ทาง กพร. ได้ตรวจความถูกต้องได้เพียง 35,000 คู่มือ หรือ 4.3 เปอร์เซ็นต์ ที่ประชุมจึงอนุมัติให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานประกาศใช้คู่มือที่ได้จัดเตรียมไว้แล้วออกไปก่อน และจะให้ กพร. ไปตรวจสอบพิจารณาอีกครั้ง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมการเร่งรัดเข้าไปสู่ขั้นตอนที่ 2 คือต้องมีการคิดแนวทางในการพัฒนาการให้บริการประชาชน โดยขอให้มีหน่วยงานตัวอย่างเพื่อการพัฒนาการให้บริการประชาชนเป็นการเร่งด่วน 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมที่ดิน และกรมศุลกากร ขณะที่มีหนึ่งหน่วยงานที่เป็นตัวอย่างการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนที่รวดเร็วทันสมัย คือกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ที่ได้เสนอตัวโดยสมัครใจของหน่วยงาน
ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี สั่งการให้มีหนังสือชมเชยไปยังหน่วยงานที่มีผลงานด้านความโปร่งใสมีผลคะแนนดีเยี่ยม 2 ปีติดต่อกันรวม 157 หน่วยงาน ขณะที่มี 5 หน่วยงานที่ยังมีผลคะแนนประเมินต่ำ สำหรับในเรื่องคะแนนด้านความเชื่อมั่นจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ที่ประชุมจึงมีมติให้นำ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกมาใช้ในทุกหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานรัฐบาลที่จะรับการประเมินจากต่างประเทศ ต้องเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ 2 ภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐได้ดำเนินการปรับปรุงไปมากแล้ว แต่นักลงทุนต่างประเทศยังไม่ทราบ ทั้งนี้ ให้ทุกหน่วยงานดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน นอกจากนี้ เพื่อให้บังเกิดผลต่อการเพิ่มคะแนนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานในประเทศด้วย จึงให้ยึดหลักว่าต่อไปนี้การทำงานภาครัฐ ต้องให้ชาวต่างประเทศเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย และหน่วยงานต้องปฏิบัติงานจริง ซึ่งจะใช้ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวก และหนังสือร้องเรียนของประชาชนมาใช้ในการกำกับการปฏิบัติงาน
พร้อมกันนี้ นายประยงค์ เปิดเผยว่า สำหรับคำสั่งมาตรา 44 ที่ได้โยกย้ายข้าราชการ รวมจำนวน 353 คน นั้น ต้นสังกัดได้ดำเนินการตรวจสอบและมีคำสั่งลงโทษตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงานแล้ว 81 ราย ขณะเดียวกัน ป.ป.ช. ได้ชี้มูลไปแล้ว 17 ราย เท่ากับว่ามีผู้ที่ถูกระงับหรือต้องพ้นจากหน้าที่ไปแล้วทั้งหมด 98 ราย และต้นสังกัดดำเนินการตรวจสอบทางวินัยตามอำนาจหน้าที่ 40 ราย ซึ่ง ปปท. จะได้ตรวจสอบรายละเอียดและนำเสนอประสานกับ ป.ป.ช. ต่อไป เพราะข้อสั่งการคือหากต้นสังกัดบอกว่าไม่มีความผิด แต่ยังมีเรื่องค้างอยู่ที่ ป.ป.ช. ก็ต้องรอผลจาก ป.ป.ช. นอกจากนี้ มีต้นสังกัดรายงานมาว่า มีอยู่ 64 เรื่องที่ต้นสังกัดกำลังดำเนินการอยู่ และมีอีก 153 เรื่องที่ต้นสังกัดยังไม่ได้รายงานมา ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ที่มีคำสั่งมาตรา 44 ระงับการปฏิบัติหน้าที่หรือย้าย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้หัวหน้าส่วนราชการหรือต้นสังกัดใช้อำนาจหน้าที่ดำเนินการทางปกครอง วินัย กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติม หรืออาจไปยุ่งเกี่ยวกับพยานได้
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรื่องจาก http://www.thaigov.go.th