ล้ำแดนจนเสียหาย!ศาล ปค.สั่ง ก.พลังงานห้ามสอบ'กลุ่มกัลฟ์'สร้างโรงไฟฟ้า 5000 MW
‘เครือกัลฟ์’เฮ! ศาลปกครองกลางพิพากษาห้าม ก.พลังงาน สอบปมสร้างโรงไฟฟ้า 5000 MW ชี้ที่ผ่านมาล้ำแดนทำให้เกิดความเสียหาย สั่งชะลอ BOI หนุนการลงทุน ข่าวรั่วไปถึงแบงก์ไทยพาณิชย์จนงดปล่อยกู้ สั่งห้ามนำผลสอบไปใช้-อ้างอิงที่อื่น ให้ทำหนังสือแจ้งเลิกหนุนการลงทุน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาในคดีที่ บริษัท อินดิเพนเดนท์ เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด และบริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี จำกัด ผู้ฟ้องคดี (ต่อไปนี้จะเรียกว่า ‘เครือกัลฟ์’) กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา กรณีการดำเนินการประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 กรณีการตรวจสอบโครงการประมูลการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producers : IPP) จำนวน 5 พันเมกะวัตต์
คำพิพากษาสรุปได้ว่า กรณีที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบการประมูลโครงการดังกล่าว โดยให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ดำเนินการนั้น สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการตรวจสอบขององค์กรทางปกครอง แต่ต้องไม่ทำให้ ‘เครือกัลฟ์’ เสียหาย
ซึ่งกรณีนี้กระทรวงพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้ชะลอการสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนแก่ ‘เครือกัลฟ์’ จนข่าวรั่วไปถึงธนาคารไทยพาณิชย์ และไม่ให้ปล่อยกู้เงินแก่ 'เครือกัลฟ์' จึงทำให้เกิดความเสียหาย
พิพากษาห้ามกระทรวงพลังงาน ตรวจสอบหรือกระทำด้วยวิธีใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ‘เครือกัลฟ์’ รวมทั้งห้ามนำผลการตรวจสอบการประมูลโครงการดังกล่าว ไปใช้หรืออ้างอิง ไม่ว่าจะเป็นการภายในหรือต่อหน่วยงานอื่นที่ก่อให้เกิดความเสียหาย และให้กระทรวงพลังงานแจ้งยกเลิกหนังสือที่ส่งไปยัง (BOI) เกี่ยวกับการชะลอการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนกับ ‘เครือกัลฟ์’
สำหรับคำพิพากษาฉบับเต็ม มีดังนี้
คำฟ้องสรุปได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 กระทำการตรวจสอบการประมูลโครงการที่พิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 และก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอย่างมาก ทำให้ต้องพบปัญหาอุปสรรค ถูกรบกวนและถูกขัดขวางการปฏิบัติตามสัญญาที่ทำให้ไว้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อันเป็นการแทรกแซงการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ทำให้เกิดความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการตรวจสอบและผลการตรวจสอบการประมูลโครงการดังกล่าว และห้ามนำผลการตรวจสอบไปใช้หรืออ้างอิงไม่ว่าจะเป็นการภายใน หรือต่อหน่วยงานอื่น
ศาลเห็นว่ามีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น
ประเด็นแรก การตรวจสอบการประมูลดังกล่าว และผลการตรวจสอบการประมูลดังกล่าว กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และมีเหตุที่ศาลจะต้องเพิกถอนการตรวจสอบการประมูลการรับซื้อไฟฟ้า และผลการตรวจสอบการประมูลการรับซื้อไฟฟ้า ตามโครงการดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร
ประเด็นนี้ต้องวินิจฉัยก่อนว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 2 และ 4 มีอำนาจในการตรวจสอบการประมูลการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คณะกรรมการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ (คตร.) มีหนังสือแจ้งปลัดกระทรวงพลังงานว่า ได้ตรวจสอบข้อร้องเรียนความโปร่งใสในการประมูลโครงการดังกล่าว โดยเชิญผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาให้ข้อเท็จจริง พบว่า การดำเนินการของคณะอนุกรรมการจัดหากำลังการผลิตไฟฟ้า ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ชุดเดิม) มีความคลาดเคลื่อนไปจากแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ และไม่ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ พ.ศ.2555 และไม่เป็นไปตามเอกสารข้อกำหนดในการเสนอราคา (RFP) คตร. จึงมอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ทบทวนสัญญาให้เป็นไปตามข้อกำหนดในการเสนอราคา โดยเจรจาให้รัฐได้ประโยชน์มากกว่านี้ รวมทั้งพิจารณาว่าที่ผ่านมามีความถูกต้องโปร่งใสหรือไม่นั้น
เห็นว่า การดำเนินการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภาครัฐเกี่ยวกับการประมูลโครงการดังกล่าว ของ คตร. มีวัตถุประสงค์ให้การบริหารราชการแผ่นดินและการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเป็นไปด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เคยมีความเห็นสรุปได้ว่า คำสั่งแต่งตั้ง คตร. มีสถานะเป็นคำสั่งในทางบริหาร โดยใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ไม่ใช่การออกคำสั่งในฐานะหัวหน้า คสช. จึงไม่ใช่การออกคำสั่งที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล การทำตามอำนาจหน้าที่ของ คตร. จึงทำตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายบริหารที่ใช้อำนาจกำกับโดยทั่วไปในการบริหารราชการแผ่นดิน
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานทางปกครอง คตร. จึงมีอำนาจบังคับบัญชาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวได้ ดังนั้นจึงมีอำนาจในการตรวจสอบการประมูลดังกล่าว ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของ คตร. เพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและถูกต้องที่เป็นการดำเนินการภายในของฝ่ายปกครองโดยเฉพาะ
ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 จึงไม่อาจออกคำสั่งหรือดำเนินการใด ๆ อันส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ ศาลต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการตรวจสอบและผลการตรวจสอบการประมูลดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร เห็นว่า การตรวจสอบการประมูลโครงการดังกล่าวของ คตร. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 3 และ 4 เป็นการดำเนินการภายในของฝ่ายปกครองในการตรวจสอบข้อร้องเรียนความโปร่งใสในการดำเนินการประมูล ดังนั้นจึงเป็นเพียงขั้นตอนการดำเนินการภายในของฝ่ายปกครอง โดยนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายบริหารผ่าน คตร. ที่ได้มอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 3 และ 4 ดำเนินการ การดำเนินการดังกล่าวจึงไม่ใช่การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง
ดังนั้นแม้ปรากฏข้อเท็จจริงตามข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ว่า คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการประมูลดังกล่าว จะแต่งตั้งผู้มีส่วนได้เสียกับกับการประมูลโครงการดังกล่าวเข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย ก็ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 สรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง เจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้นั้นจะกระทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้ หรือกรณีที่ตรวจสอบโดยไม่แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ได้รับทราบข้อเท็จจริง หรือประเด็นข้อกล่าวหา รวมถึงไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงแสดงพยานหลักฐาน ก็ไม่เป็นเหตุให้การตรวจสอบการประมูลโครงการดังกล่าวเสียไป
ดังนั้นเมื่อวินิจฉัยแล้วว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 มีอำนาจในการตรวจสอบการประมูลดังกล่าว ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของ คตร. ที่เป็นการดำเนินการภายในของฝ่ายปกครองโดยเฉพาะ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 จึงไม่อาจฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการตรวจสอบการประมูลโครงการดังกล่าวได้ และการตรวจสอบดังกล่าวไม่ได้มีผลทางกฎหมายออกไปสู่ภายนอกกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 หรือก่อความเดือดร้อนโดยตรงหรือเป็นการเฉพาะตัวแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 จึงมิใช่ผู้เดือดร้อนหรือเสียหายจากการตรวจสอบดังกล่าว
ดังนั้นไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการตรวจสอบ และผลการตรวจสอบการประมูลดังกล่าวแต่อย่างใด
ประเด็นที่สอง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 หรือไม่ และศาลสามารถออกคำบังคับแก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ได้หรือไม่ เพียงใด
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในการดำเนินการตรวจสอบของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ธนาคารไทยพาณิชย์ มีหนังสือแจ้งแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ว่า ธนาคารไม่สามารถพิจารณาเงินกู้ให้ได้ เพราะการประมูลโครงการดังกล่าวถูกตรวจสอบ และธนาคารต้องการทราบถึงสถานะของโรงไฟฟ้าทั้งสองเพื่อให้เกิดความชัดเจน ก่อให้การสนับสนุนเงินกู้ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเจรจาไกล่เกลี่ย โดยเสนอเบื้องต้นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 มีความชอบธรรมที่จะได้รับสิทธิในการลงนามในสัญญากับ กฟผ. เพียงสัญญาเดียว จำนวน 2,500 เมกะวัตต์ และขอยกเลิก 1 สัญญา จำนวน 2,500 เมกะวัตต์ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีหนังสือแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้ระงับการพิจารณาคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ไว้ก่อน เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ คตร. จึงเห็นควรรอให้ผลการพิจารณาให้เป็นที่สุดก่อน
จากข้อเท็จจริงข้างต้น เห็นว่า ในการตรวจสอบดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นผู้ได้รับมอบหมายจาก คตร. ในการตรวจสอบโครงการประมูลดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่อาจกระทำการใด ๆ นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของ คตร. ตามที่หัวหน้า คสช. แต่งตั้งได้ การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่เพียงแต่เป็นการกระทำที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจาก คตร. และไม่ใช่เป็นการดำเนินการตรวจสอบโครงการประมูลดังกล่าว ที่เป็นการดำเนินการเพียงขอบเขตภายในขององค์กรฝ่ายปกครองตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่เป็นการกระทำที่ล้ำแดนการติดตามตรวจสอบภายในองค์กรฝ่ายปกครองออกไปสู่ภายนอกองค์กรฝ่ายปกครอง อีกทั้งเป็นการตรวจสอบโดยปราศจากความระมัดระวังทำให้เป็นข่าวเผยแพร่ออกไปจนเป็นเหตุให้ธนาคารชะลอการพิจารณาเงินกู้แก้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ได้ตามแผนงานภายในกำหนดเวลา ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 แล้ว
ส่วนข้ออ้างที่ว่า การตรวจสอบดังกล่าวพบว่า การดำเนินการของคณะอนุกรรมการจัดหากำลังการผลิตไฟฟ้า (Bid Management Committee : BMC) ภายใต้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ชุดเดิม) มีความคลาดเคลื่อนไปจากแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ พ.ศ.2555 และไม่เป็นไปตามเอกสารข้อกำหนดในการเสนอราคา (RFP)
เห็นว่า การตรวจสอบโครงการประมูลดังกล่าว ไม่ปรากฏพยานหลักฐานในสำนวนว่า คณะอนุกรรมการฯ ภายใต้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ชุดเดิม) หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องผู้ใดมีส่วนร่วมกระทำความผิด จนเป็นเหตุทำให้การจัดหากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือการดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ มีความคลาดเคลื่อนไปจากแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ พ.ศ.2555 และไม่เป็นไปตามเอกสารข้อกำหนดในการเสนอราคา (RFP) หรือไม่มีความโปร่งใสอย่างไร หรือปรากฏหลักฐานในสำนวนว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 มีส่วนร่วมในการกระทำผิดข้างต้นอย่างไร ทั้งที่การตรวจสอบการประมูลการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการที่พิพาทของ คตร. โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 3 และ 4 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียนความโปร่งใสในโครงการประมูลดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่ได้แสดงหลักฐานหรือเหตุผลว่า เพราะเหตุใดการดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ มีความคลาดเคลื่อนออกไปจากแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ และไม่ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ พ.ศ.2555 และไม่เป็นไปตามเอกสารข้อกำหนดในการเสนอราคา (RFP) เฉพาะสัญญาเดียว คือ สถานีไฟฟ้าย่อยปลวกแดง จ.ระยอง
นอกจากนี้คณะทำงานเจรจาไกล่เกลี่ยฯ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 แต่งตั้ง ไม่ใช่คู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) กับผู้ฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 คู่สัญญาที่แท้จริงในการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการนี้คือ กฟผ. กับผู้ฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3
ดังนั้นแม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยคณะทำงานฯ จะใช้วิธีเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยกเลิกสัญญา 1 สัญญา จำนวน 2,500 เมกะวัตต์ ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ได้รับความเสียหาย แต่ยังเป็นผลเสียต่อแผนการผลิตไฟฟ้าและการสำรองกำลังไฟฟ้าในอนาคต และการเจรจาต่อรองกันเพื่อแก้ไขสัญญา หรือยกเลิกสัญญาต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อสัญญา ซึ่งในคดีนี้คือผู้ฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 กับ กฟผ. ที่จะต้องเจรจาต่อรองกัน ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฯ โดยเสนอเบื้องต้นให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ยกเลิกสัญญา 1 สัญญา จำนวน 2,500 เมกะวัตต์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ทำให้การดำเนินการตามสัญญา ไม่มีความมั่นคงในนิติฐานะ ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ได้รับความเสียหาย
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไป ศาลสามารถออกคำบังคับแก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ได้หรือไม่ เพียงใด
เห็นว่า การตรวจสอบการประมูลโครงการดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่จากที่ได้รับมอบหมายจาก คตร. ผลการดำเนินการดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ต้องประสบกับอุปสรรค ถูกรบกวน ถูกขัดขวางการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ได้ทำไว้กับ กฟผ. ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างต่อเนื่อง
ศาลจึงมีอำนาจในการกำหนดคำบังคับห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการตรวจสอบหรือกระทำด้วยวิธีการใด อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 รวมทั้งนำเอาผลการตรวจสอบการประมูลโครงการดังกล่าว ไปใช้หรืออ้างอิง ไม่ว่าจะเป็นการภายในหรือต่อหน่วยงานอื่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 แจ้งยกเลิกหนังสือที่ส่งไปถึง BOI เกี่ยวกับการชะลอการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนกับผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นเพียงหน่วยงานในทางธุรการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เท่านั้น มิได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายใด ๆ ที่จะกระทำให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ในลักษณะเป็นการละเมิดแต่อย่างใด
พิพากษาห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการตรวจสอบหรือกระทำด้วยวิธีการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 รวมทั้งนำผลการตรวจสอบการประมูลโครงการดังกล่าว ไปใช้หรืออ้างอิง ไม่ว่าจะเป็นการภายในหรือต่อหน่วยงานอื่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 แจ้งยกเลิกหนังสือที่ส่งไปยัง BOI เกี่ยวกับการชะลอกการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนกับผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ยกฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ในส่วนที่ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 2 และ 4 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก