“หมอประเวศ”แนะ ปชช.ยกร่าง “พ.ร.บ.-ตั้ง คกก.ป้องกันภัยพิบัติชาติ”
เปิดเวทีสมัชชาแห่งชาติผลักดันนโยบายสุขภาวะ “หมอประเวศ” แนะ 6 ประเด็นจัดการภัยพิบัติ ประชาชนร่วมยกร่าง พ.ร.บ. คกก.อิสระป้องกันภัยพิบัติชาติ” ยกตัวอย่างเยอรมันใครให้ข้อมูลมั่วติดคุก
วันที่ 2 ก.พ.55 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “รับมือภัยพิบัติ จัดการภัยสุขภาวะ” ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน โดย ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา ประธานกรรมการจัดงาน กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพเป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆในสังคม มติสมัชชาไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นพลังการมีส่วนร่วมที่ผลักดันไปสู่ผลปฏิบัติ นับตั้งแต่มี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เกิดนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ 34 เรื่อง และในการประชุมครั้งนี้จะมีข้อเสนอเชิงนโยบาย 6 ประเด็นหลัก
และในการปาฐกถาร่วม “รับมือภัยพิบัติ จัดการภัยสุขภาวะ” นายวิทยา บุรณะศิระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐบาลยินดีสนับสนุนและผลักดันมติสมัชชาสุขภาพเพื่อนำไปสู่การสร้างสุขภาวะที่ดีของสังคม โดยนำไปเป็นแนวทางกำหนดนโยบาย ทั้งนี้โลกปัจจุบันเผชิญการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอันเป็นผลจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ใช้ทรัพยากรไม่บันยะบันยัง นำไปสู่ภัยพิบัติต่างๆรวมทั้งมหาอุทกภัยในไทย และแม้วันนี้รัฐบาลจะพยายามเต็มที่ก็ยังไม่สามารถบรรเทาผลกระทบได้หมด จึงได้ออกพระราชกำหนดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการน้ำ ให้ประเทศพ้นจากวิกฤติในระยะยาว สร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน
ศ.นพ.ประเวศ วะสิ ราษฎรอาวุโส และประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.) กล่าวว่าภัยพิบัติเป็นอันตรายต่อสุขภาวะรุนแรง เป็นการบรรจบของวิกฤติทุกด้าน เช่น สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง กลายเป็นวิกฤติอารยธรรม โลกต่อไปอีกอย่างน้อย 20 ปีต้องเผชิญภัยพิบัติรุนแรงในรูปแบบต่างๆ พายุรุนแรงขึ้น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ ภัยแล้ง น้ำท่วมหนัก พื้นที่ผลิตอาหารน้อยลงบวกกับวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ราคาอาหารโลกแพงขึ้น 30% นำไปสู่จราจลและสงคราม ทั้งหมดเกิดจากการคิดและทำแบบแยกส่วน การพัฒนาที่เอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง การศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้งไม่ได้เอาชีวิตคนเป็นตัวตั้ง สังคมจึงขาดพลัง
“80ปีประชาธิปไตยไทยเป็นมิกสัญญียุค เพราะต่อสู้ทำลายล้างกันมาตลอด เพราะใช้สมองส่วนหลังแบบสัตว์เลื้อยคลาน ผมไม่เชื่อว่าเราจะไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ได้โดยใช้การทะเลาะกัน ประเทศไทยต้องเข้าเกียร์ใหม่จากเกียร์หลังเป็นเกียร์หน้า ใช้สมองส่วนหน้าที่เป็นสติปัญญาและศีลธรรมมาทำงานร่วมกัน”
ราษฎรอาวุโส เสนอ 6 แนวทางจัดการภัยพิบัติ 1.คนไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิดและจิตสำนึกเป็นสังคมที่ไม่ตั้งอยู่บนความประมาท ต้องตื่นตัวตรียมตัว ใช้ข้อมูลข่าวสารความรู้เพิ่มสมรรถนะตัวเอง 2.ทำให้เกิดชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งทั้งประเทศ เป็นเครื่องมือเผชิญภัยพิบัติ สำรวจข้อมูลทุกพื้นที่ว่าเสี่ยงภัยพิบัติอะไร แล้ววางแผน สร้างเครื่องมือเทคโนโลยีที่จำเป็น ฝึกอาสาสมัคร ซ้อมป้องกันภัย ก็จะป้องกันภัยพิบัติได้หรือเมื่อเกิดขึ้นก็จะได้รับผลกระทบไม่รุนแรง และยังทำให้เกิดพลังชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ คสป.ขับเคลื่อนอยู่ทั้งท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งไม่เฉพาะจัดการปัญหาพื้นที่ ยังรวมถึงการกำหนดนโยบายในพื้นที่เอง
3.ตั้ง “ศูนย์ภัยพิบัติศึกษา” ในมหาลัยทุกแห่งทั่วประเทศ จะทำให้มีข้อมูล ความรู้ เทคโนโลยีที่จำเป็น และแผนเต็มไปหมดและต้องร่วมมือสนับสนุนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด 4.มีระบบสื่อสารที่ทำให้รู้ความจริงทั่วถึง ไม่ใช่สื่อสารสับสนอย่างที่ผ่านมา ต้องนำเอาเทคโนโลยีการสื่อสารซึ่งขณะนี้ทำให้ทั่วถึงกันหมดมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 5.เครื่องมือการตัดสินใจทางนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติ เป็นปัญหาที่สุดเพราะต้องอาศัยการมืองกับระบบราชการ ซึ่งเป็นระบบอำนาจ แต่ปัจจุบันปัญหาหลากหลายซับซ้อนใช้อำนาจไม่ได้ผล ต้องใช้ความรู้ปัญญา และกลไกรัฐลำพังไม่เพียงพอ ควรตั้ง “คณะกรรมการป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ” นอกจากนายกฯเป็นประธาน และตัวแทนส่วนราชการ ควรมีกรรมการส่วนใหญ่ที่รู้จริงจากชุมชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญการสื่อสาร และมีสำนักงานเป็นองค์กรอิสระ ทำให้ได้ใช้คนเก่งจริง
“6.ออก พ.ร.บ.ปัองกันภัยพิบัติแห่งชาติ ที่เยอรมันเคยน้ำท่วมหนัก เขารวบรวมความรู้ทุกชนิดออกกฏหมาย ใครให้ข้อมูลไม่จริงทำให้คนไขวเขวจะถูกตำรวจจับ เพราะการสื่อสารที่ไม่จริงนั้นทำร้ายสังคม เราลองรวบรวมความรู้ทุกชนิดมาบัญญัติกฏหมาย ระบุว่าใครต้องทำอะไรไม่ควรทำอะไร ดึงคนทุกภาคส่วนเข้ามาเคลื่อนไหวทางปัญญาและสังคมไปทั้งประเทศ ให้คนไทยร่วมกันยกร่าง พ.ร.บ.นี้"
นพ.ประเวศ กล่าวว่าทั้ง 6 ข้อนี้ นอกจากทำให้ประเทศไทยสามารถจัดการกับภัยพิบัติได้ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดแล้ว ยังเพิ่มสมรรถภาพคนไทยในการแก้ปัญหาและพัฒนาเรื่องอื่นๆ ซึ่งสมัชชาสุขภาพต้องช่วยขับเคลื่อนให้คนไทยร่วมคิดร่วมทำในเรื่องนี้ .