ประชาคมตาก เสนอจัดการศึกษาตอบโจทย์เขตศก.พิเศษ พัฒนาคน-การค้าพร้อมกัน
หวั่นเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดปัญหา! ประชาคมตาก ประสานเสียงพัฒนาคนควบคู่กับการพัฒนาค้า จัดการศึกษาตอบโจทย์คนพื้นที่ ด้านนายกเทศมนตรีนครแม่สอด ชี้ชัด การศึกษาของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปัจจุบันพบว่า เด็กเมียนมาพูดได้ถึง 3 ภาษา แต่เด็กไทยพูดได้ 1.5 ภาษาคือภาษาไทยกับภาษาอังกฤษแบบกระป๊อกกระแป๊ก
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับจังหวัดตาก จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ‘ตากเสวนา ขับเคลื่อนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและการเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับการพัฒนาจังหวัดและศึกษาการพัฒนาประเทศ 20 ปี’
นายสุทธา สายวาณิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า การที่จังหวัดตากถูกประกาศให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีอำเภอแม่สอดเป็นประตูการค้าชายแดนที่สำคัญ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้าระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของภูมิภาคอาเซียน สิ่งที่ตามมาก็คือ การสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อพัฒนาปัจจัยพื้นฐานต่างๆ และการเกิดขึ้นของธุรกิจจำนวนมาก ทั้งนิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจที่เชื่อมโยงกับระบบโลจิสติกส์ การค้า การคมนาคม เป็นต้น คาดว่าจะทำให้มูลค่าทางการค้าเพิ่มขึ้น จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านบาทต่อปี ฉะนั้น สิ่งที่ต้องคิดคือ ทำอย่างไรให้การเจริญเติบโตนี้ แก้ปัญหารวยกระจุก จนกระจาย และทำให้คนตากในทุกอำเภอทุกพื้นที่ได้รับโอกาสและประโยชน์จากการพัฒนา
สำหรับหลักเกณฑ์ในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น รองผู้ว่าฯ ตาก กล่าวว่า ต้องไม่มองเหรียญด้านเดียว แต่ต้องพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนากำลังคน ซึ่งในส่วนการพัฒนาพื้นที่มีทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เช่น ระบบประปา ไฟฟ้า ถนนที่มีการเชื่อมโยงกับเส้นทางอีสต์-เวสต์คอริดอร์ส ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2561 มีการขยายสนามบิน รวมถึงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 เพื่อเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศ
“ที่ผ่านมามีนักธุรกิจจากหลายประเทศ เช่น อินเดีย เกาหลีที่เข้ามาหารือกับทางจังหวัด โดยเฉพาะนักลงทุนเกาหลี อยากเข้ามาตั้งโรงงานในพื้นที่ อยากให้จังหวัดจัดหาพื้นที่รองรับประมาณ 150 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้ 30-40% เป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่จะย้ายมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากเห็นว่าจังหวัดตากมีข้อได้เปรียบเชิงพื้นที่ มีทั้งที่ดินและแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจัดหาได้ง่ายกว่าที่อื่น ขณะเดียวกันโรงงานเกาหลีในเมียนมาบางส่วนก็อยากย้ายมายังฝั่งไทย เพราะมีปัญหาในเรื่องไฟฟ้า ประปาที่ไม่เพียงพอเป็นอุปสรรค”
นายสุทธา กล่าวถึงเรื่องการพัฒนากำลังคนว่า ทางจังหวัดมีแผนแม่บทในเรื่องนี้ เช่น ให้สถานศึกษาทุกแห่ง นำหลักสูตร ปวช. ปวส. มาปรับสอนในหลักสูตรสายสามัญ ในชั่วโมงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพื่อฝึกวิชาชีพ รวมถึงยังร่วมกับโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง นำผู้ที่เคยหลงผิดมาฝึกอาชีพ เพื่อยกระดับทักษะอาชีพ เป็นต้น
"การพัฒนาด้านกำลังคนของจังหวัด จะเน้นที่การเรียนรู้ตลอดชีวิต เชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา ส่งเสริมการวิจัย และดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนไทยแลนด์ 4.0 โดยปัจจุบันจังหวัดอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนากำลังคนเชิงลึก ในระดับหน่วยงาน พื้นที่ ตำบล เพื่อให้เกิดพร้อม สามารถรองรับการพัฒนาได้ในทุกมิติ"
ด้าน ผศ.ประพัฒน์ เชื้อไทย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาตาก ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานแผนแม่บทการพัฒนาจังหวัดตาก กล่าวถึงกรอบแนวคิดในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากว่า แบ่งออกเป็น 4 Flagship ภายใต้การบริหารจัดการ 9 อำเภอคือ
พื้นที่ A อำเภอแม่สอด เป็นเมืองท่าการค้าระหว่างประเทศ
พื้นที่ B อำเภอเมืองตาก บ้านตากและวังเจ้า เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าการลงทุน
พื้นที่ C อำเภอพบพระ แม่ระมาด ทาสองยางและสามเงา เป็นเมืองเกษตรปลอดภัยเกษตรอินทรีย์
พื้นที่ D อำเภออุ้มผาง เป็นเมืองแห่งสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ผศ.ประพัฒน์ กล่าวถึงการวางแผนกำลังคนและพัฒนาการศึกษาของจังหวัดจึงต้องสอดคล้องกับแผนแม่บท รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติด้วย
ขณะที่โครงสร้างแรงงานของจังหวัด ปี 2558 พบว่า เป็นแรงงานระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 56.3% จบปริญญาตรีหรือสูงกว่า 15.2% มัธยมปลาย 14.3% มัธยมต้น 11.4% และ ปวช. ปวส.หรืออนุปริญญา 3% จะเห็นว่า สัดส่วนแรงงานที่จบสายอาชีพมีน้อยมาก ทั้งที่เป็นกลุ่มสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันจังหวัดยังมีปัญหาเรื่องเด็กหลุดหายไปจากระบบการศึกษาจำนวนมาก
ผศ.ประพัฒน์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลการศึกษาของจังหวัดตาก ปี 2558 พบว่า จำนวนเยาวชนช่วงประถม-มัธยมต้น อายุ 3-14 ปี ทั้งสิ้น 110,085 คน หายออกไปจากระบบ 32,715 คน ส่วนมัธยมปลายและอาชีวศึกษา ช่วงอายุ 15-17 ปี จำนวนทั้งสิ้น 136,824 คน หายออกไปจากระบบ 45,035 คน ดังนั้น แผนการศึกษาของทางจังหวัด จึงต้องดึงคนที่หลุดจากระบบกลับเข้ามาเรียนหรือฝึกอาชีพ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาในพื้นที่ รวมถึงเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนในสายอาชีวศึกษาให้มากขึ้น
"ปัจจุบันได้มีโครงการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับผู้ที่เข้ารับการฟื้นฟูพฤติกรรมในโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง เช่นหลักสูตรช่างไฟฟ้า ช่างซ่อมเครื่องจักร พนักงานขับรถ สอนทำอาหาร เพื่อเพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพ ที่สอดรับกับการขยายตัวของพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ"
ขณะที่ ดร.เทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด กล่าวว่า นครแม่สอดวันนี้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว มีนักลงทุนจีนเข้ามาสร้างคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ และกำลังมีโครงการอื่นๆ ตามมาอีกจำนวนมาก ขณะเดียวกันเริ่มเห็นผลกระทบบ้างแล้ว ทั้งด้านสาธารณูปโภค งานบริการต่างๆ โรงพยาบาล ขยะ สิ่งแวดล้อม ที่เทศบาลต้องแบกรับภาระ เพราะมีแรงงานด่างด้าวเข้ามาอาศัยในพื้นที่จำนวนมาก ขณะที่เรื่องการศึกษาของเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ปัจจุบันพบว่า เด็กเมียนมาพูดได้ถึง 3 ภาษา แต่เด็กไทยพูดได้ 1.5 ภาษาคือภาษาไทยกับภาษาอังกฤษแบบกระป๊อกกระแป๊ก ฉะนั้นตรงนี้ต้องแก้ปัญหา พัฒนาการค้าและคนไปพร้อมกันๆ
นางสาวพัชรีภรณ์ ยะคำนะ ประธานสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา กล่าวถึงการพัฒนาคน โดยใช้การศึกษานั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่อยากให้มีการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง จัดการศึกษาให้สอดรับกับบริบท ความต้องการแรงงานของในพื้นที่อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันอยากให้จัดการศึกษา โดยคำนึงถึงประเทศเพื่อนบ้าน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้พี่น้องที่อาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดนอยู่ได้อย่างมีคุณภาพประสิทธิภาพ และเสมอภาค
ศ.ดร.อารี วิบูลย์พงศ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงเรื่องการพัฒนากำลังคนว่า เมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ การเตรียมความพร้อมด้ายกำลังคนคงไม่สามารถทำได้พร้อมกันทั้งหมดทุกด้าน ฉะนั้นเสนอว่า ควรโฟกัสที่จุดเด่นของจังหวัดจริงๆและมุ่งพัฒนาคนไปในทิศทางนั้นก่อน เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ เพราะไม่เช่นนั้นเมื่อเศรษฐกิจในพื้นที่เติบโต ขณะที่กำลังคนไม่พร้อม จะเกิดการไหลหรือการเข้ามาของคนต่างถิ่น ท้ายที่สุดจะไม่เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่เท่าที่ควร
ปิดท้ายที่ นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบริหาร สสค. กล่าวว่า ระบบการศึกษาของไทย ต้องปรับเปลี่ยนการผลิตกำลังคนให้ตอบรับและทันกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป ในอนาคตผู้ที่ศึกษาในระดับอาชีวศึกษา ปวช. หรือ ปวส. จะเป็นความหวังของประเทศ เพราะเป็นกำลังแรงงานหลักที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 จึงจำเป็นต้องพัฒนาผู้เรียนในสายอาชีวศึกษา ให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ยกระดับทั้งด้านภาษาและทักษะฝีมือต่างๆ นอกจากนี้ต้องลดช่องว่างระหว่างสายสามัญและอาชีวศึกษา โดยทำให้ผู้ที่เรียนในสายสามัญได้เรียนรู้ทักษะด้านแรงงานที่จำเป็นในสายอาชีวศึกษาควบคู่ไปด้วย
“ปัจจุบัน สสค. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำโครงการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพใน 10 จังหวัดนำร่อง เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area Based Education) ให้แต่ละจังหวัดสามารถออกแบบ จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบท ทิศทางของจังหวัด รวมถึงยุทธศาสตร์ของประเทศได้ในระยะยาว"