เครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ ยื่น 6 ข้อเรียกร้องรัฐไทย จี้ลดขั้นตอนพิสูจน์สัญชาติ
ตัวแทนเครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ สรุปสถานการณ์การย้ายถิ่นปี 59 ผู้ประสานงานโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ชี้แรงงานประมงมีข้อจำกัดในการทำงานอื่นจากข้อกำหนดบัตรชมพู สุดท้ายเป็นแรงงานเถื่อนต้องทำงานใช้หนี้เป็นสิบปี
วันที่ 16 ธันวาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ จัดแถลงข่าวการนำเสนอรายงานสถานการณ์การเคลื่อนย้ายถิ่นสากล ปี 2559 และเสวนาในหัวข้อ แนวทางการจัดการคนย้ายถิ่น แรงงานข้ามชาติ และผู้อพยพลี้ภัยในประเทศไทย “ไปไม่สุด หยุดไม่ได้ ไกลเกินถอย” เนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากลประจำปีพ.ศ.2559 โดยมีตัวแทนองค์กรที่ทำงานด้านคนย้ายถิ่น แรงงานข้ามชาติ และผู้อพยพลี้ภัยในประเทศไทยเข้าร่วมเป็นวิทยากร ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ห้องประชุมชั้น 3
นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ กล่าว สรุป 5 สถานการณ์เด่นการย้ายถิ่นข้ามชาติประจำปี 2559 ว่า
1.นโยบายการจัดระบบแรงงานข้ามชาติ ด้วยการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติ และมีบัตรอนุญาตทำงานชั่วคราว (บัตรชมพู) มารายงานตัวเพื่อขัดทำทะเบียนประวัติขออนุญาตทำงานได้
2.ไทย ได้เลื่อนขั้นจากรายงานด้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาไปเป็นบัญชีประเภท 2 ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ แต่การดำเนินการในปัจจุบันยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างครบถ้วน
3.การจัดการผู้อพยพชาวโรงฮิงญา และผู้ย้ายถิ่นเพื่อแสวงหาที่ลี้ภัยของประเทศไทย ที่ไทยยังไม่มีมาตรการอื่นใด นอกจากการกักตัวในห้องขัง ทั้งที่บางรายได้รับการรับรองสถานะจาก UNHCR แล้ว
4. การเดินทางมาเยือนไทยของออง ซาน ซูจี และการแก้ไข MOU ด้านการจ้างแรงงานข้ามชาติ จำนวน 3 ฉบับ คือ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงาน และความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างประเทศทั้งสอง
และ5. กรณีกลุ่มทุนตอบโต้การลุกขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติโดยการฟ้องกลับแรงงาน และนักสิทธิมนุษยชนในข้อหาหมิ่นประมาท และข้อหาอื่นๆ เช่น กรณี ของแรงงานข้ามชาติในฟาร์มไก่ที่ออกมายื่นคำร้องและฟ้องต่อศาลแรงงานว่าได้ถูกละเมิดสิทธิตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
นายปภพ เสียมหาญ ผู้ประสานงานโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชน และการพัฒนา กล่าวในหัวข้อการปกป้องคุ้มครองสิทธิแรงงานบนเรือประมงว่า แรงงานประมงในประเทศไทยมีข้อจำกัดมากกว่าแรงงานประเภทอื่น เนื่องจากแรงงานประมงไม่สามารถเปลี่ยนประเภทการทำงานไปเป็นแบบอื่นได้เพราะบัตรอนุญาตทำงานชั่วคราว (บัตรสีชมพู) กำหนดให้เป็นแรงงานประมงตามที่ใบอนุญาตได้กำหนดเท่านั้น และเมื่อไม่สามารถย้ายงานได้ตามความต้องการ ในที่สุดก็ต้องย้ายประเภทงานและกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ยังพบแรงงาน “ขัดหนี้” โดยแรงงานกลุ่มนี้เมื่อเข้ามาในประเทศไทย จะถูกสร้างหนี้ร่วมกับนายจ้าง โดยจะถูกเรียกเก็บทั้งค่าเดินทาง ค่าที่อยู่อาศัย และค่าอาหาร เมื่อมีหนี้สิ้นก็จะถูกผูกมัดให้ทำงานในเรือประมง โดยกรณีที่พบแรงงานประมง ใน อ.กันตัง จ. ตรัง บางคนทำงานมาเป็น 10 ปี ก็ยังชดใช้หนี้ไม่หมด
นายปภพ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยึดเจตนารมย์ของตัวบทกฎหมายที่มีขึ้น เพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานจึงควรมุ่งคุ้มครองแรงงานมากกว่า อีกทั้งควรให้ความสำคัญกับแรงงาน มากกว่าเอกสารตามกฎหมายของนายจ้าง รวมทั้งแก้ไขนิยามคำว่า “แรงงานบังคับ” ให้ครอบคลุมการถูกบังคับจากวิธีการอื่น เช่น การยึดพาสปอร์ต หรือ บัตรสีชมพู ด้วย เพราะหากตีความว่าเป็นการค้ามนุษย์ เรื่องก็จะถูกส่งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะต้องใช้ระยะเวลานาน และจบที่ศาล ซึ่งหากศาลพิจารณาว่าไม่ได้เป็นการค้ามนุษย์ เรื่องก็จะตก และแรงงานก็จะไม่มีทางเลือก กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายในที่สุด
ด้านนางจันทนา เอกเอื้อมณี ผู้ประสานงานคณะทำงานเพื่องานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวถึงการปกป้องคุ้มครองแรงงานที่ทำงานในบ้านว่า ปัญหาของแรงงานในบ้าน คือ ทำงานไม่ตรงกับประเภทที่ระบุในใบสีชมพู เพราะนายจ้างมักใช้ระบบนายหน้าในการขอใบอนุญาตทำงานชั่วคราว ทำเวลาเกิดปัญหาแรงงานไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการร้องเรียนตามกฎหมายได้ รวมไปถึงการที่แรงงานไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสิทธิที่ตัวเองควรจะได้ว่ามีอะไรบ้าง เช่น วันหยุด หรือ สิทธิในการลาคลอด สิทธิการเข้าถึงประกันสังคมที่กำหนดให้แรงงานในบ้านถูกกำหนดว่าเป็นผู้ประกันตนนอกระบบ ตามมาตรา 40 ทั้งที่ แรงงานในบ้านควรถูกกำหนดอยู่ในมาตรา 33
ขณะที่นายวันรบ วราราษฏร์ ตัวแทนจาก Acylum access Thailand กล่าวถึงนโยบายทางเลือกอื่นที่นอกเหนือจากการกักขังผู้ลี้ภัยว่า ปัจจุบันมีผู้ได้รับการรับรองสถานภาพจาก UNHCR และอยู่ในกระบวนการพิจารณาประมาณ 8,000 คน ส่วนใหญ่ เป็น เด็ก ผู้หญิง และ ผู้สูงอายุ โดยเกือบครึ่งหนึ่งในจำนวนทั้งหมดนี้เดินทางมาจากประเทศปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่แม้ว่าจะถือเอกสารรับรองสถานะผู้ลี้ภัยที่ออกโดย UNHCR แต่ไม่เพียงพอที่จะอยู่ในประเทศไทยได้ถูกกฎหมาย
“ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาการลี้ภัยที่ถูกจับกุม และอาศัยอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวมากกว่า 200 คน มีทั้งเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และคนป่วย ซึ่งสถานกักตัวคนต่างด้าวเป็นสถานที่ๆรวบรวมคนหลายกลุ่มที่ถูกจับกุม และรอผลักดันออกนอกประเทศ ปะปนกัน ทั้ง แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย นักโทษต่างชาติที่พ้นคดี ทำให้มีความเป็นอยู่ที่แออัด สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทำให้มีผู้ถูกกักขังจำนวนไม่น้อยกลายเป็นผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพกาย และใจ ”
ดังนั้นการจับกุมคุมขังจึงไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมที่สุด เท่ากับนโยบายทางเลือกอื่น ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายมากกว่า เช่น ในประเทศฮ่องกง มีนโยบายคัดกรองผู้เข้าเมืองตั้งแต่ต้นทาง ว่า เป็นผู้ลี้ภัยที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมาหรือไม่ ซึ่งก็จะให้การดูแลกลุ่มคนที่เข้าเมืองมาแตกต่าง
ด้านนายศิววงศ์ สุขทวี ตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ กล่าวถึงการจัดการการย้ายถิ่นไม่ปกติของผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮิงญา ว่า ความสำเร็จของไทยในการหยุดยั้งการหลบหนีเข้ามาของชาวโรฮิงญาหลังเหตุการณ์ในปี 2559 คือการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่มุ่งปกป้องและคุ้มครองกลุ่มผู้อพยพที่มีความเสี่ยงแม้ว่าจะไม่ได้มีสัญชาติไทยก็ตาม โดยความร่วมมือหลายหน่วยงาน รวมถึงองค์กรประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศ มากกว่าการใช้แนวนโยบายและหน่วยงานความมั่นคง
อีกทั้งยังมีการออกหมายจับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์มากที่สุดเท่าที่เกิดขึ้นมาถึง 150 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานมั่นคงด้วย รวมไปถึงทีมสหวิชาชีพที่ทำให้การคัดแยกกลุ่มที่มีความเสี่ยง มีความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ออกจากกลุ่มที่หลบหนีเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย และนำไปสู่การประสานงานกับองค์กรประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือในแต่ละกลุ่ม
นายศิววงศ์ กล่าวต่อว่า ก่อนเกิดการอพยพหนีออกมาจากรัฐยะไข่อีกครั้งในปี 2560 รัฐบาลไทยจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายกดดันต่อรัฐบาลพม่าให้หยุดใช้ความรุนแรงไม่ว่ากับใครก็ตามที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า เพื่อที่จะหยุดการผลักดันกลุ่มชาวโรฮิงญาให้ต้องหลบหนีออกจากรัฐยะไข่ พร้อมขอเสนอต่อรัฐบาลไทยดังนี้ 1. รัฐไทยต้องผลักดันให้กลไกในอาเซียนบีบบังคับให้รัฐบาลพม่าหยุดการใช้ความรุนแรงกับคนที่อาศัยในประเทศของตน ไม่ว่าเขาจะเป็นพลเมืองของตนหรือไม่ 2. รัฐไทยต้องสนับสนุนท่าทีและจุดยืนของอาเซียนในการแก้ไขมากกว่าการปกป้องท่าที จุดยืนที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในปัญหาในพม่า 3. รัฐไทยต้องผลักดันให้มีกลไกและแผนการตอบสนองต่อวิกฤติการณ์การอพยพที่ชัดเจน และความรับผิดชอบของแต่ละชาติสมาชิก เช่น การสนับสนุนงบประมาณ การกำหนดจุดขึ้นฝั่ง การกระจายผู้อพยพให้แต่ละชาติดูแล เป็นต้น
ส่วนข้อเสนอต่อรัฐบาลทางกฎหมายและนโยบายในการแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญานั้น ที่มาตรการเฉพาะหน้า รัฐต้องหยุดการกักขังอย่างไม่มีกำหนด โดยให้พิจารณากำหนดแนวทางการวางเงินประกัน (Release on bail/bond) สำหรับผู้อพยพชาวโรฮิงยาที่ยังอยู่ในการควบคุมในปัจจุบัน โดยอาจใช้ร่วมกับการจัดหาผู้รับรอง/ผู้ค้ำประกัน หรือกำหนดให้องค์กรที่ไม่หวังผลกำไรสามารถเป็นผู้ค้ำประกัน พร้อมกับเงื่อนไขระหว่างการรอส่งตัวต่อไปให้ประเทศที่สาม หรือส่งกลับประเทศบ้านเกิดเมื่อสามารถกลับได้
สำหรับมาตรการระยะยาว กรณีที่ชาวโรฮิงญาเดินทางเข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการให้วีซ่ามนุษยธรรมสำหรับผู้ที่แสวงหาที่ลี้ภัยที่สามารถยื่นขอก่อนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ และในส่วนของกรณีที่เร่งด่วนและไม่สามารถยื่นขอได้ก่อนการเดินทางเข้ามาในประเทศ รัฐบาลควรจะพิจารณาเปิดให้สามารถขอวีซ่ามนุษยธรรมชั่วคราวเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย
ทั้งนี้ในท้ายการเสวนาเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติได้ร่วมกันอ่านข้อเสนอเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากลวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ดังนี้ ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มีข้อเสนอเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล เพื่อยกระดับการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ และครอบครัว รวมถึงผู้อพยพย้ายถิ่นอื่น ๆ ในประเทศไทยดังนี้
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาลประเทศต้นทางจะต้องเร่งดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามอย่างรวดเร็ว รวมทั้งลดขั้นตอนในการดำเนินการต่าง ๆ ให้มีความสะดวกและเอื้อต่อการเข้าถึงของแรงงานข้ามชาติเพื่อลดการแสวงหาประโยชน์จากนายหน้าหรือผู้แสวงหาประโยชน์อื่น ๆ ทั้งนี้รัฐบาลไทยและประเทศต้นทางจะต้องตระหนักถึงการเปิดโอกาสให้เด็กข้ามชาติในฐานะผู้ติดตามได้เข้าถึงการมีสถานะทางกฎหมายและการได้รับการคุ้มครองตามหลักการประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็ก
2. รัฐบาลไทยจะต้องพัฒนากลไกการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่เน้นการเข้าถึงของแรงงานข้ามชาติ โดยเร่งแก้ไขพรบ.แรงงานสัมพันธ์ที่เปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานอันเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิแรงงานร่วมกัน การเร่งแก้ไขในเรื่องการยึดเอกสารแสดงตนและการแก้ไขปัญหาแรงงานขัดหนี้ เปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติได้เปลี่ยนย้ายงานและนายจ้างตามเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการทำงานและการได้รับการคุ้มครองสิทธิ และเร่งแก้ไขข้อจำกัดเชิงนโยบายที่กีดกันไม่ให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน
3.รัฐบาลไทยจะต้องเร่งแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การคุ้มครองแรงงานทำงานในบ้านให้ได้รับการปฎิบัติอย่างเท่าเทียมภายใต้ พรบ. คุ้มครองแรงงาน เช่น ระยะเวลาทำงาน ค่าจ้าง สิทธิในการลาคลอด และการเป็นผู้ประกันตนตาม พรบ. ประกันสังคม และพรบ.กองทุนเงินทดแทน
4.รัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานจะต้องดำเนินการ แก้ไขนิยามคำว่า “แรงงานบังคับ”ให้ครอบคลุมการถูกบังคับจากวิธีการอื่น นอกจากการถูกข่มขู่ การใช้ความรุนแรง โดยขยายความรวมถึง การยึดหนังสือเดินทางหรือเอกสารแสดงตน การไม่ได้รับเงินค่าจ้างด้วย เนื่องจากการใช้แรงงานบังคับในบางกรณีอาจยังไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ การแยกระหว่างแรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ออกจากกัน จะทำให้แรงงานได้รับความคุ้มครองสิทธิได้มากขึ้นและสามารถเข้าถึงสิทธิได้สะดวกยิ่งขึ้น
5. รัฐบาลไทยจะต้องเร่งดำเนินการตามที่ประกาศในเวทีสหประชาชาติ เรื่องการพัฒนากลไกการคัดกรองบุคคลเข้าเมืองในกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย โดยมีกลไกการคุ้มครองบุคคลที่ได้รับการลงทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยหรือบุคคลที่อยู่ในระหว่างการคัดกรองให้ได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสมโดยกำหนดให้รับรองสถานะและเอกสารรับรองสถานะภาพผู้ลี้ภัย และเอกสารรับรองผู้อยู่ในกระบวนการพิจารณาสถานะผู้ลี้ภัยของ UNHCR มีมาตรการกำหนดสถานะในการอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวในรูปแบบของการให้วีซ่าเพื่อมนุษยธรรม หรือการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยในรูปแบบอื่น ๆ ยุติการจับกุมคุมขังกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย รวมทั้งพิจารณาให้สามารถดำเนินการทำงานหรือหาเลี้ยงชีพให้แก่ตนเองและครอบครัวขณะที่ยังดำรงชีวิตอยู่ในประเทศไทย
6. รัฐบาลไทยจะต้องมีมาตรการดำเนินการต่อผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่นอกเหนือจากการกักขัง ทั้งนี้อาจจะดำเนินการในรูปแบบของการให้ประกันตัวโดยมีชุมชน หรือองค์กรไม่แสวงหากำไรเป็นผู้ค้ำประกันและให้การช่วยเหลือดูแล ควบคู่ไปกับการพัฒนากลไกการขอสถานะผู้ลี้ภัยและเดินทางไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามหรือกลับประเทศต้นทางหากไม่มีสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตโดยสมัครใจ ทั้งนี้ประเทศไทยจะต้องมีมาตรการที่จริงจังต่อการยุติสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศต้นทาง และมีมาตรการรองรับที่ชัดเจนและเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนในกรณีที่มีการอพยพของกลุ่มโรฮิงญาอันเนื่องมาจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น